สถาพร ศรีสัจจัง

กล่าวโดยสรุป ต้นตอเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่ผ่านพัฒนาการจาก “โฮโมนิดส์” จนมาเป็น “โฮโม” สปีชีส์หนึ่ง ที่เรียกกันต่อมาว่า “โฮโม เซเปียนส์” นั้น อาจกินเวลาเป็นล้านๆปี จาก “เซเปียนส์” พัฒนามาเป็น “อันดับวานร” (Primate) ชนิดหนึ่ง จนเข้าสู่ความเป็น “มนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์” ตามที่นักประวัติศาสตร์ และ นักมานุษยวิทยาทั้งหลายอธิบาย ก็กินเวลาอีกนับเป็นแสนปี จนสามารถสร้าง “วัฒนธรรม” (ตัวอักษร) เข้าสู่ความเป็นมนุษย์ “ยุคประวัติศาสตร์” ได้ในที่สุด

แล้วจึงผ่านเข้าสู่ยุค “เกษตรกรรม” คือรู้จักการเพาะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์เพื่อ “สร้างอาหาร”

แต่ก่อนจะข้ามไปถึงเรื่องยุค “เกษตรกรรม” ที่ได้สถาปนาระบบการปกครองชุดสำคัญของมนุษย์ที่เรียกกันในภายหลังว่า “ระบบศักดินา” ขึ้นนั้น จะขอย้ำทำความเข้าใจเกี่ยวกับทฤษฎี “การแพร่กระจาย” ของเซเปียนส์ไว้สักเล็กน้อยอีกครั้งเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน

เกี่ยวกับเรื่องนี้ “นักบรรพชีวินวิทยา” (Paleontology) ปัจจุบันมีข้อสรุปว่า มีทฤษฎีสำคัญหลายทฤษฎี แต่ที่สำคัญมี 2กลุ่ม  กลุ่มแรก เห็นว่า เซเปียนส์เกิดขึ้นในทวีปแอฟริกาแล้วแพร่กระจายเข้าสู่ “ยูเรเซีย” จากนั้นจึงแพร่กระจายไปทั่วโลก ส่วนกลุ่มที่ 2 เสนอว่า เซเปียนส์เกิดและพัฒนาในพื้นที่ทุกทวีปทั้งในแอฟริกา ยุโรป และเอเชีย รวมถึงในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเราด้วย!

ถ้าใครเคยอ่านหนังสือเล่มดังระดับ “เบสเซลเลอร์” ของโลก ชื่อ “เซเปียนส์ : ประวัติย่อมนุษยชาติ” ที่ ดร.นำชัย  ชีววิวรรธน์ แปลเป็นพากย์ไทย จากฉบับภาษาอังกฤษชื่อ “Sapiens : A brief of Humankind” (แปลจากภาษฮีบรูอีกที)ที่เขียนโดยนักวิชาการ “ยิว” อิสราเอลชื่อ “ยูวัล โนอาห์ แฮราริ” (Yuval Noah Harari) อย่างละเอียด

รวมถึงได้อ่านการ “รีวิว” ประกอบของหนังสือเล่มนี้โดย “คณะนักวิชาการชาวพุทธ” (แห่งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย) ที่ร่วมกันเขียนโดยหลายท่าน ได้แก่ พระสุวีรบัณฑิต/พระอุดมสิทธินายก/พระมหากฤษฎา กิตฺติโสภโณ/พระมหาสุนันท์ สุนนฺโท/ดร.ประเสริฐ ธิลาว/และ สุดท้าย คือ ดร.พงษ์พัฒน์  จิตตานุรักษ์ ก็จะทำให้การอ่านบทความเรื่องนี้ง่ายขึ้นมาก

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ หนังสือชื่อ “เซเปียนส์ฯ” เล่มดังกล่าว ได้พูดถึงพัฒนาการด้านต่างๆของเซเปียนส์ หรือ “มนุษย์” ประเภทหนึ่ง (ในบรรดาสปีชีส์ “โฮโม” ด้วยกัน) ไว้อย่างรอบด้าน อย่างน่าสนใจและสนุกสนานยิ่งนัก

ทั้งผู้เขียนคือ “นายแฮราริ” ยังได้แสดงทรรศนะ/ตีความ ต่อความเป็น “เซเปียนส์” ในประวัติศาสตร์ไว้อย่างน่าสนใจยิ่งหลายเรื่องหลายประเด็น (จนฟังว่าทำให้หนังสือเล่มนี้ขายได้มากกว่า 90 ล้านเล่มทั่วโลก ซึ่งน่าจะนับเป็นสิ่งมหัศจรรย์ประการหนึ่งได้ในยุค “ออนไลน์” เช่นยุคนี้)

ที่แนะนำว่าหนังสือเล่มนี้มี “ชาวพุทธ” ร่วมรีวิว (อย่างเอาจริงเอาจังด้านเนื้อหาที่เกี่ยวกับ “พุทธทัศนะ”) ก็เพราะ ผู้เขียนคือนาย “ยูวัล โนอาห์ แฮราริ” คนนี้ เคยแสดงตนเข้าเป็นสาวกของวิปัสนาจารย์ลือนาม คือท่าน “โค เอนก้า” (Go enka)นักบวชชาวอินเดียผู้ถือกำเนิดในพม่าด้วย

ทั้งยังฟังมาอีกว่า นักวิชาการ นักเขียน “เบสเซลเลอร์” หลายเล่มคนนี้ มีความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและฝึกนั่งสมาธิตามแนวทางพุทธมาอย่างยาวนาน(ฟังว่านั่งสมาธิวันละ 2 ชั่วโมงต่อเนื่องมาไม่น้อยกว่า 15 ปี)

จึงน่าจะไม่ใช่ “ยิวโหด” แบบยิวที่ชื่อ “ไชล็อก” ในวรรณกรรมเรื่อง “The Merchant of Venice” ของ วิลเลียม เชคสเปียร์ ที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ทรงแปลมาเป็นวรรณกรรมร้อยกรองไทยในชื่อเรื่องว่า “เวนิส วานิช”

หรือยิวแบบนาย “เบนจามิน  เนทันยาฮู” นายกรัฐมนตรีของประเทศอิสราเอลปัจจุบัน ที่กำลังสั่งฆ่าคนมุสลิม (ภายใต้การสนับสนุนอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูของจักรพรรดินิยมอเมริกา) ในหลายพื้นที่ของตะวันออกกลางอย่างบ้าเลือดอยู่ในขณะนี้กระมัง!

“ปรากฏการณ์ยิว” ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ ถ้าใครอ่านหนังสือ “เซเปียนส์” เล่มที่ว่าอย่างพิจารณาลึกๆก็อาจจะเห็นถึงเค้าลางหรืออะไรบางอย่างที่ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้แสดงทรรศนะเกี่ยวกับการ “เข้าสู่ยุคเกษตรกรรม” อันอาจจะส่งผลต่อความเป็น “เซเปียนส์” ในด้านลบๆอยู่ไม่น้อย

โดยเฉพาะใน 2 บทสำคัญ ที่ชื่อ “Agriculture : made us hungry for more” ( “เกษตรกรรมทำให้เราหิวโหยยิ่งขึ้น”) และ บท “Mythology maintained law and order” ( “ตำนานเรื่องเล่า ช่วงผดุงกฎหมาย และ ระเบียบแบบแผน”)

รายละเอียดตื้นลึกจะเป็นอย่างไร คนที่เคยอ่านแล้วก็ขอให้ลองกลับไปทบทวนอีกที ส่วนที่ยังไม่ได้อ่านก็ควรหาอ่าน และ “พิเคราะห์” ให้ลึกๆเข้าไว้สักหน่อย ก็อาจจะเห็นหรือพบอนาคตของ “มนุษย์” ว่าท้ายที่สุดแล้วจะต้องลงเอยแบบไหน และโดยใคร?

หรือจะเป็นแบบที่รัสเซีย กลุ่มนาโต และ อิสราเอล กำลังทำกันอยู่?

ระบบสังคมเกษตรกรรมของมนุษย์ที่กินช่วงเวลาอันยาวนานที่ทำให้เกิดการจัดระเบียบสังคม (การรวมกลุ่ม) และการแบ่งงานกันทำนั้น  ทำให้สังคมยิ่งมีความซับซ้อนในความ “สัมพันธ์” ระหว่างกันของผู้คนเพิ่มขึ้น 

การเรียนรู้เกี่ยวกับ “ข้อมูล” รอบตัว และ รอบ “พื้นที่” ทำให้การประมวลข้อมูลเพื่อ สร้าง “อำนาจ” ของชนชั้นนำมีมาก และ ซับซ้อนขึ้น จนทำให้พวกเขากลายเป็น “ชนชั้นปกครอง” ไปในที่สุด

และ “อำนาจ” ใน “การจัดการ” สังคมแบบเกษตรกรรมที่ต้อง “ป้องกัน” และ “บุกเบิกพื้นที่” เพื่อเพิ่ม “ผลผลิตส่วนเกิน” (เพื่อการสั่งสม) ก็ยิ่งทำให้พฤติกรรมในการจัดการสังคมของ “มนุษย์” โดยเฉพาะในกลุ่มชั้นนำยิ่งมายิ่งหลากหลายซับซ้อน

เกิดความต้องการในการพัฒนา “เทคนิคและเครื่องมือในการผลิต” อย่างกว้างขวาง เพื่อสนองความต้องการ “การเพิ่มผลผลิต” ที่เพิ่มขึ้นทั้งด้าน ปริมาณ คุณภาพ และ ความหลากหลาย

พร้อมกันนั้น ความต้องการ “แรงงานใหม่” และ “พื้นที่” (ปัจจัยสำคัญการผลิต) ก็ทำให้เกิด “การบุกเบิกหาพื้นที่ใหม่ๆ” โดยการใช้ “กำลังคน” ทั้งเพื่อการบุกเบิกแผ้วถางป่า และ การ “บุกรุกโจมตีเพื่อยึดครอง” พื้นที่ของ “มนุษย์กลุ่มอื่น” (ที่เรียกในปัจจุบันว่า “สงคราม” นั่นแหละ) ก็เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง และ อย่างเป็น “ธรรมเนียมนิยม” ในยุคเกษตรกรรมอันยาวนาน

“ชนชั้นนำ” ในยุคนี้ ที่ถูกเรียกโดยนักวิชาการในภายหลังว่า “ชนชั้นศักดินา” อันได้แก่ ผู้นำกลุ่มชนที่ดำรงอยู่ในนาม “พ่อหลวง” “เจ้า” “พระราชา” “กษัตริย์” หรือ  “จักรพรรดิ” รวมถึงกลุ่มคนใกล้ชิดที่อาจเรียกว่า “ขุนทหาร” “อำมาตย์” “เสนาบดี” หรือ “ข้าราชบริพาร” ก็เกิดเป็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นในนาม “ชนชั้นศักดินา” (ชนชั้นเจ้าของที่ดิน) ควบคู่มากับสังคมเกษตรกรรมอันยาวนาน!!!