ข้อมูลจากกรมการจัดหางาน ปีงบประมาณ 2567 (วันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 18 มีนาคม 2567) พบว่า มีการเข้าตรวจสอบสถานประกอบการที่จ้างแรงงานต่างชาติทั่วประเทศแล้ว จำนวน 25,628 แห่ง ดำเนินคดี 820 แห่ง และตรวจสอบคนต่างชาติ จำนวน 306,577 คน แยกเป็นสัญชาติเมียนมา 232,106 คน กัมพูชา 42,698 คน ลาว 18,001 คน เวียดนาม 236 คน และสัญชาติอื่น ๆ 13,536 คนมีการดำเนินคดีทั้งสิ้น 1,689 คน แยกเป็นสัญชาติเมียนมา 875 คน กัมพูชา 318 คน ลาว 231 คน เวียดนาม 87 คน และสัญชาติอื่น ๆ 178 คน ซึ่งพบเป็นการแย่งอาชีพคนไทย ทั้งสิ้น 721 คน แยกเป็นสัญชาติเมียนมา 316 คน กัมพูชา 175 คน ลาว 106 คน อินเดีย 65 คน เวียดนาม 42 คน จีน 5 คน และสัญชาติอื่น ๆ 12 คน โดยอาชีพที่พบคนต่างชาติแย่งอาชีพมากที่สุด ได้แก่ งานเร่ขายสินค้า งานตัดผม งานขับขี่ยานพาหนะ และงานนวด ตามลำดับ และงานที่คนต่างชาติถูกดำเนินคดีเพราะไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ได้แก่ งานขายของหน้าร้าน งานช่างก่อสร้าง งานกรรมกร ตามลำดับ
ล่าสุดนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ลงนามในประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขาย หรือจำหน่ายสินค้าบนถนนหรือสถานที่สาธารณะ โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณากำหนดพื้นที่ทำการค้า ดังนี้
กำหนดคุณสมบัติของผู้ทำการค้าและผู้ช่วยจำหน่ายสินค้า ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย โดยมีคุณสมบัติเพิ่มเติม ดังนี้
1. เป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
2. เป็นคู่สัญญาในการซื้อบ้านที่อยู่อาศัยกับการเคหะแห่งชาติในโครงการบ้านมั่นคงของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนและยังมีภาระผูกพันในการชำระหนี้
3. เป็นบุคคลที่ได้รับเงินสวัสดิการจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
4. เป็นผู้มีรายได้ไม่เกิน 300,000 บาทต่อปี โดยอ้างอิงจากเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายประกอบธุรกิจตามหลักฐานการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
นอกจากนี้ ผู้ทำการค้าต้องลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ต่อสำนักงานเขตที่กำหนดให้มีพื้นที่ทำการค้า ไม่มีแผงค้าอื่นหรือผู้ช่วยจำหน่ายสินค้าในแผงค้าอื่นในพื้นที่ที่กรุงเทพมหานครกำหนดให้เป็นพื้นที่ทำการค้า
นับเป็นมาตรการป้องกันการปัญหาการแย่งอาชีพและจัดการเรื่องรายได้ และป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน