สถาพร ศรีสัจจัง
“… วัฒนธรรมทวารวดีมีพื้นฐานมาจากวัฒนธรรมช่วงก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ผสมเข้ากับวัฒนธรรมอินเดียที่แพร่หลายเข้ามายังภูมิภาคนี้ ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมของผู้คนในแถบนี้ในแง่มุมต่างๆ ทั้งการนับถือศาสนา การสร้างบ้านเมือง และระเบียบแบบแผนทางสังคม…”
ข้อความที่เป็นเหมือน “ข้อสรุป” เชิงวิชาการของนักวิชาการฝรั่งและไทยที่แสดงตนเป็น “เอตทัคคะ” เกี่ยวกับ “ทวารวดี” ซึ่งก็คือพื้นที่ที่เป็น “รัฐไทย” ปัจจุบันดังที่ยกมา ทำให้เราได้ข้อสรุปว่า
“ระเบียบแบบแผนทางสังคม” ที่เรารับมาจากอินเดียที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งก็คือ “แบบแผนระบบการปกครอง” ชุดหนึ่ง
ที่ภายหลังนักวิชาการตะวันตกสรุปเรียกว่า “ระบบศักดินานิยม” (Feudalism) และ เราก็เรียกตามอย่างเซื่องๆสืบมา
ระบบ “ศักดินา” ของอินเดียยุคพุทธกาล ที่เมืองเล็กเมืองใหญ่ยุคโบราณในดินแเดนที่เป็น “รัฐไทย” ปัจจุบัน รับมาจากอินเดีย-อย่างน้อย ก็ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 6 เป็นต้นมา(ที่มีหลักฐานมาตั้งแต่ดินแดนแถบนี้ยังถูกเรียกว่า “ฟูนัน”- “เจนละ”- “ทวารวดี”- “ศรีวิชัย”- “ลังกาสุกะ”- “สุโขทัย” จนถึง “อยุธยา” และ “รัตนโกสินทร์” ในปัจจุบัน) นั้นเป็นอย่างไรกันเล่า?
แล้วผู้นำชุมชนยุคโบราณแถบถิ่นนี้รับเอาระบบดังกล่าวมาแบบ “สำเร็จรูป” หรือนำมา “ปรับปรน” ให้เข้ากับ “ข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์” ตามช่วง “พัฒนาการทางสังคม” ของตนเองจนเกิดเป็นอัตลักษณ์ของระบบการปกครองที่ปัจจุบันมีบางคนเรียกว่า “ระบบศักดินานิยมแบบไทย”?
นครินทร์ แก้วโชติรุ่ง ผู้ทำการศึกษาวิจัยในหัวข้อ “รูปแบบการปกครองของรัฐในสมัยพุทธกาล” เพื่อเป็นวิทยานิพนธ์ระดับดุษฎีบัณฑิต ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สรุปไว้ใน “บทคัดย่อ” ของเขาตอนหนึ่งว่า
“…รูปแบบการปกครองของรัฐในอินเดียสมัยพุทธกาลมี 2 รูปแบบ ได้แก่รูปแบบราชาธิปไตยและรูปแบบสามัคคีธรรม หรือ อภิชนาธิปไตย…จากการศึกษาพบว่า ผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องเป็นบุคคลจากวรรณะกษัตริย์เสมอไป บางสมัย บุคคลจากวรรณะอื่นก็สามารถดำรงตำแหน่งกษัติริย์ได้เช่นเดียวกัน…”
และเขายังได้ยกเอาข้อความของนาธาเนียล ฮาริส จากหนังสือชื่อ “ System of Government : Monachy” (ค.ศ.2012) ที่ โคทม อารียา แปลมาเป็นชื่อพากย์ไทยว่า “ระบอบการปกครอง : ราชาธิปไตย” (พ.ศ.2555) เพื่ออธิบายถึงการเกิดขึ้นของระบบกษัตริย์เป็นใหญ่เหนือแดนดินหรือระบบ "ราชาธิปไตย” (Monachy) ไว้ตอนหนึ่งด้วยว่า
“ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าราชาธิปไตยก่อตั้งครั้งแรกเมื่อใด แต่เป็นที่เชื่อว่าระบบนี้เกิดขึ้น เมื่อสังคมในยุคแรกๆเริ่มมีความซับซ้อน เริ่มมีกลุ่มชนผู้ชำนาญการ เช่น ขุนนาง นักรบ นักบวช ชาวนา ชาวไร่เกิดขึ้น สังคมเช่นนี้มีความจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการมากขึ้น จึงปรากฏบุคคลคนหนึ่งขึ้นมา เพื่อควบคุมและชี้นำกลุ่มชนเหล่านี้ คนคนนี้คือกษัตริย์…”
ยังพบอีกว่า การศึกษาเกี่ยว “ระบบราชาธิปไตย” (Monachy) หรือ ระบบ “ศักดินานิยม” (Feaudalism) ยุคพุทธกาล ซึ่งเป็น “ต้นแบบ” ระบบการปกครองของกลุ่มคนใน “เมือง” หรือ “ประชาคม” ต่างๆในพื้นที่ “สุวรรณภูมิ” ยุคเก่าก่อน อัน “รัฐไทย” ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่นี้ดังกล่าว ของ “นครินทร์ แก้วโชติรุ่ง ให้คำตอบที่สำคัญอย่างน้อยอีกประการหนึ่ง
นั่นคือ ระบบ “ราชาธิปไตย” หรือ ระบบ “เทวราช” แบบอินเดียนั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่สำคัญของ “คติ” ทางศาสนา คือศาสนาพราหมณ์หรือ “ฮินดู” และศาสนาพุทธ ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดีที่พบเป็นจำนวนมากในพื้นที่ “รัฐโบราณ” ใน “สุวรรณภูมิ” ไม่ว่าจะเป็น ฟูนัน/เจนละ/ทวารวดี/ศรีวิชัย/ลังกาสุกะ หรือ ตามพรลิงค์ ซึ่งมีทั้งโบราณสถานวัตถุทางศาสนาที่เนื่องเกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ
ที่สำคัญมากก็คือ การศึกษาของนครินทร์ดังกล่าวยังแสดงหลักฐานให้เห็นอย่างชัดเจนด้วยว่า ระบบ “ราชาธิปไตย” หรือระบบ “ศักดินา” แบบอินเดียนั้น ชนชั้นนำหรือ “ชนชั้นศักดินา” ที่อาจถูกเรียกว่า “มหาสมมติ” “พระราชา” หรือ “กษัตริย์” (ขัตติยะ) ก็ตาม จะถูกคนส่วนใหญ่ในประชาคมหรือ “มหาชน” ยอมรับให้เป็นผู้นำได้อย่างแท้จริง ก็ต่อเมื่อเขาจะต้องปฏิบัติตน “เป็นคนดี” ตามหลักเกณฑ์ของศาสนธรรมอย่างเคร่งครัดเท่านั้น!
ดังความตอนหนึ่งที่ว่า
“…แม้พระมหากษัตริย์หรือพระราชาในการปกครองแบบราชาธิปไตยจะทรงมีพระราชอำนาจมากมายเพียงใดก็ตาม แต่ก็ต้องถูกควบคุมด้วยความเชื่อทางศาสนา หรือตามความประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า นั่นคือ ต้องเป็นพระมหากษัตริย์หรือพระราชาผู้ปกครองบ้านเมืองโดยธรรม หรือเป็น “พระราชาโดยธรรม” ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์”
ส่วนในคติทางศาสนาพุทธก็เช่นกัน ผู้เป็นกษัตริย์จะต้องดำรงอยู่ในหลัก “ทศพิธราชธรรม” อย่างจริงจังและเข้มข้น จนกลายเป็น “คติความเชื่อ” มาจนถึงยุคปัจจุบัน
(“ราชธรรม 10” หรือ “ทศพิธราชธรรม” นี้มีปรากฏอยู่ในมหาหังสชาดก พระสูตร ขุททกนิกาย ชาดก ในพระไตรปิฎก คัมภีร์สำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท)
ที่กล่าวมาทั้งหมดอาจถึอเป็น “รากเหง้า” เบื้องต้นของสิ่งที่เรียกว่า “ระบบศักดินาไทย” ในยุคโบราณ ระบบดังกล่าวนี้ค่อยๆพัฒนามาตามเงื่อนเหตุทางสังคมของดินแดนสุวรรณภูมิเรื่อยมา
เป็นระบบที่เกิดขึ้นภายใต้ “ข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์” ของสังคมเผ่ามนุษย์ที่พัฒนามาจาก “สปีชีส์เซเปียนส์” ที่หยุดเร่ร่อนตั้งหลักตั้งรกรากทำ “การเกษตร” อย่างมั่นคงพอควรแล้วในพื้นที่ที่ส่วนหนึ่งกลายเป็นดินแดนที่เรียกกันว่า “ประเทศไทย” ในปัจจุบัน
เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในดินแดนส่วนอื่นๆของโลกที่บรรดาเซเปียนส์ได้ปักหลักตั้งรกรากอยู่อาศัย
ในหนังสือ “โฉมหน้าศักดินาไทย” ที่ “จิตร ภูมิศักดิ์” กวี นักคิดนักเขียน และ “นักปฏิวัติสังคม” คนสำคัญของสังคมไทย เขียนขึ้นโดยใช้หลักการ “Marxist approach” อย่างไม่ปิดบัง กล่าวว่า ระบบศักดินาไทยเริ่มมีหน่ออ่อนก่อตัวชัดขึ้นตั้งแต่ยุคสุโขทัย ดังที่ “วิกิพีเดีย” ได้ประมวลสรุปไว้ตอนหนึ่งว่า :
“ …จิตร ภูมิศักดิ์สันนิษฐานว่าศักดินาน่าจะปรากฏขึ้นครั้งแรกในสมัยอาณาจักรสุโขทัย เพราะมีการปรับไหมตามศักดิ์ พระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาทรงประกาศว่า ที่ดินทั้งปวงเป็นของพระมหากษัตริย์ นับเป็นการประกาศเริ่มต้นของสังคมศักดินาอย่างชัดเจน ต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ หลังจากเอาชนะอาณาจักรสุโขทัยได้ ก็มีการจัดระเบียบที่ดินใหม่ (อาจเรียกว่าเป็นการแบ่งที่ดินใหม่)พร้อมทั้งตราพระอัยการตำแหน่งนาทหารและพลเรือน มีการกำหนดศักดินาของคนในบังคับทั้งปวง เรื่อยมาจนรัชกาลที่ 5 มีการเลิกชนชั้นทาสและไพร่ส่วนศักดินาถูกล้มเลิกไปส่วนใหญ่ในการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 …”
ใครที่สนใจเรื่อง “ศักดินาไทย” อย่างกว้างขวางลึกซึ้งย่อมจะทราบกันดีว่า บทความเรื่อง “โฉมหน้าศักดินาไทย” (ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ “ธรรมศาสตร์ 2500”) ที่สำคัญยิ่งชิ้นนี้นี่เอง ที่ทำให้ “กุฎมพีเชื้อเจ้า” อย่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช (อดีตนายกรัฐมนตรีประเทศไทย) ปัญญาชน นักคิดนักเขียน และเจ้าของหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” ยุคนั้น ถึงกับต้องลุกขึ้นมาเขียนหนังสือโต้แนวคิดของจิตร ภูมิศักดิ์อย่างคึกคักเอาจริงเอาจัง ในทำนองว่า “ศักดินาไทยนั้นไม่เหมือนกับศักดินาฝรั่ง”(รู้ไว้ด้วย)ในหนังสืออันโด่งดังเล่มหนึ่งของเขาที่ชื่อ “ฝรั่งศักดินา”
สนใจก็ไปหาอ่านกันเอาเองบ้างซิ!!!!