รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
ที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
กรมป้องกันและบรรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ให้ข้อมูลว่าอุทกภัยหรือน้ำท่วมถือเป็นภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหายต่อประเทศไทยมากที่สุด ก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนในเดือนกันยายนถึงตุลาคม บริเวณที่ราบลุ่ม ที่ลาดเชิงเขา ที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัยในหลายรูปแบบ ทั้งน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง สาเหตุหลักของการเกิดอุทกภัยประกอบด้วย ปัจจัยทางธรรมชาติ เช่น ฝนตกหนักต่อเนื่อง ฝนตกหนักบริเวณภูเขา น้ำทะเลหนุนสูง ฯลฯ และการกระทำของมนุษย์ เช่น การตัดไม้ทำลายป่า การสร้างถนนและสิ่งปลูกสร้างขวางทางไหลของน้ำ
ปรากฏการณ์ “อุทกภัย” ไม่ได้เกิดขึ้นที่ประเทศไทยเฉพาะภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเท่านั้น แต่การเกิดอุทกภัยได้กินพื้นที่ครอบคลุมหลายประเทศทั่วโลก เช่น ยุโรปตะวันออกโดยเฉพาะโปแลนด์ โรมาเนีย เมียนมา ลาว กัมพูชา และจีน แน่นอนว่าขณะนี้โลกกำลังเผชิญกับ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสุดโต่ง” (Extreme Weather) โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุณหภูมิที่สูงขึ้นทุบทำลายสถิติใหม่อย่างต่อเนื่อง ทำให้พื้นน้ำทะเลที่มีอยู่ร้อยละ 70 ของโลก “ร้อนขึ้น ๆ” ทำให้ระดับความรุนแรงของพายุก็จะ “อัปเวล” ขึ้นด้วย ผลที่ตามมาคือพายุฝนจะเกิดถี่และรุนแรงมากขึ้น อุทกภัยก็จะหนักและถี่ขึ้นตามมา ซึ่งคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าอุณหภูมิโลกจะเพิ่มสูงขึ้นแตะ 1.5 องศาเซลเซียส ทำให้ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยต้องเผชิญกับน้ำท่วมใหญ่ช่วงปี 2572-2573
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมที่ “อ่วมหนักสุดสุด” ของประเทศไทยยังมีเหตุมาจากความไม่ลงรอยกันทาง ‘การเมือง’ ด้วย ช่วงปี 2554 เมื่อรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร เชื่อมั่นว่าสามารถจะจัดการกับสถานการณ์น้ำท่วมได้แน่นอน “น้ำท่วมเอาอยู่” แต่ความจริงที่ปรากฏคือ รัฐบาลยิ่งลักษณ์เกิดความแย้งกับกรุงเทพมหานคร ทำให้ไม่อาจ "สั่งการ" ปิดประตูระบายน้ำเพื่อเปลี่ยนเส้นทางน้ำทำให้ไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมจนเป็นภาพฝังจำมาถึงทุกวันนี้ สอดคล้องกับข้อมูลของสถาบันสารสนเทศทรัพยกรน้ำ (องค์การมหาชน) ที่บันทึกว่า น้ำท่วมปี 2544 ถือเป็นอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดของประเทศ ส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างหนักทั้งทางภาคการเกษตร อุตสาหกรรม เศรษฐกิจ สังคม และส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังภาคส่วนอื่นอีกเป็นจำนวน
ฉายภาพตัดซ้ำกลับมายัง ปี 2567 รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ก็ต้องเผชิญกับสถานการณ์น้ำท่วมหนักสุดสุดเช่นกัน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำคนสำคัญคนหนึ่งของไทย ‘รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์’ ประเมินว่าปีนี้ภาคเหนือได้รับความเสียหายจากอุทกภัยเทียบเท่ากับเหตุน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 และบางพื้นที่เกิดความเสียหายมากกว่าด้วยซ้ำ เช่น เชียงราย น่าน และ สุโขทัย ปัจจัยที่ทำให้น้ำท่วมภาคเหนือหนักในครั้งนี้มองว่าเกิดจาก “ขาดการประเมินล่วงหน้า” ส่งผลให้เกิดความเสียหายมาก ส่วนอุทกภัยที่ จ.ตราด และ จ.ภูเก็ต มีปัจจัยหลักจาก “ระเบิดฝน (Rain Bomb)” เป็นลักษณะการตกของฝนที่ตกแบบสั้น ๆ แต่ตกหนักในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งและตกถี่มากขึ้น อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)
การประเมินความเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วมปี 2567 นี้ โดยวิจัยกรุงศรีเมื่อเร็ว ๆ นี้ คาดว่าพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยในปีนี้จะอยู่ที่ 8.6 ล้านไร่ สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินราว 3.1 พันล้านบาท ขณะที่มูลค่าสินค้าเกษตรเสียหาย 43.4 พันล้านบาท (กรณีฐาน) ทำให้ความเสียหายจากน้ำท่วมรวมกันอยู่ที่ 46.5 พันล้านบาท หรือคิดเป็น -0.27% ของผลิตภัณฑ์รวมในประเทศหรือจีดีพี (GDP - Gross Domestic Product)
แล้วจะวางแผนรับมือกันอย่างไร? หากปล่อยให้เป็นหน้าที่และกลไกของภาครัฐบาลอย่างเดียวคงไม่พอ ซึ่งจากข้อมูลที่สำรวจโดยสำนักข่าวออนไลน์ลานเน้อ (Lanner) พบว่าประเทศไทยมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดการบริหารงานน้ำมากกว่า 38 แห่ง กระจายอยู่ตามกระทรวงต่าง ๆ นี่จึงอาจเป็นหนึ่งในเหตุของการเอาชนะน้ำท่วมไม่อยู่ เพราะความซ้ำซ้อนและ ขาดการบูรณาการข้อมูลด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ
ดังนั้น ประชาชนคนไทยต้องหาทางช่วยเหลือตนเองร่วมด้วย เช่น การหาความรู้เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศสุดโต่ง การศึกษาการก่อเกิดพายุและฝนที่ต้องเป็นข้อมูลปัจจุบัน การติดตามข้อมูลข่าวสารจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ รวมถึงการปรับปรุงบ้านเรือนสิ่งปลูกสร้างและเตรียมข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็น เพราะเชื่อแน่ ๆ ว่าอุทกภัยใหญ่จะมาเยือนเรา
ซ้ำ ๆ ซาก ๆ ในอีกหลายปีติดต่อกันจากนี้ไป!!