เสรี พงศ์พิศ

Fb Seri Phogphit

การปฏิวัติที่สังคมไทยต้องการ คือ การปฏิวัติการเกษตร การเปลี่ยนแปลงจากฐานราก ซึ่งเป็นต้นทุนยิ่งใหญ่ที่ยังไม่พัฒนาเต็มที่ นานๆ ที่จะได้ผู้นำระดับชาติที่มาพูด “เข้าข้างชาวบ้าน”

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ และคนอื่นๆ ในงานที่จัดโดยสำนักข่าวรีพับลิกา 13 กันยายน “สร้างโอกาสคนตัวเล็ก”  ที่ผู้ว่าฯ ปาฐกถาในหัวข้อ “ท้องถิ่นสากล อนาคตประเทศไทย” 

นับเป็นการเสนอแนวคิดที่ “คนละขั้ว” กับรัฐบาลไทยที่ออกมาปรามาสผู้ว่าฯ ว่าจบจากไหน ที่ไม่ให้ความสำคัญกับจีดีพี ผู้ว่าฯ คนนี้เรียนจบทางด้านเศรษฐศาสตร์จากสหรัฐอเมริกา โท เอก ที่เยล เคยทำงานธนาคารโลก และภาคธุรกิจอย่างเมคเคนซี ล้วนเป็นองค์กรระดับโลก เคยกลับมาช่วยงานฟื้นฟูเศรษฐกิจบ้านเมืองหลังวิกฤติต้มย้ำกุ้ง ก่อนจะกลับไปธนาคารโลกอีกรอบ เคยทำงานในตลาดหลักทรัพย์และภาคธุรกิจ

ผู้ว่าฯ คนนี้มีความกล้าหาญยืนหยัดไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลอย่างดิจิทัลวอลเล็ต ที่ท้ายที่สุดรัฐบาลก็ปรับตามที่ผู้ว่าฯ นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจได้เสนอมาตั้งแต่ต้น

ในปาฐกถาเขาพูดถึงการเติบโตของประเทศโดยไม่ต้องยึดแต่จีดีพีแบบเดิมๆ แต่เน้นการเติบโตจาก “ข้างล่าง”  ที่ท้องถิ่น แบบแข่งขันกับโลกได้  ท้องถิ่นชาวบ้านมาตรฐานสากล โตที่คุณภาพชีวิต

ความเป็นนักเศรษฐศาสตร์เขาจึงพูดพร้อมกับข้อมูลตัวเลขที่ชี้ให้เห็นว่า ใครได้ประโยชน์มากที่สุดกว่าร้อยละ 80-90 รวยกระจุก จนกระจาย รวยที่ทุนใหญ่ ธุรกิจยักษ์ ที่กรุงเทพฯ ขณะที่ “ชาวบ้าน” ยังลำบากยากจน ท้องถิ่นทั่วไทยยังไม่ได้เติบโตเหมือนกรุงเทพฯ

ประชาชนคนธรรมดาในกรุงเทพฯ เองก็ไม่ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี จีดีพีจึงเป็นภาพลวงตา สร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลทุ่มการพัฒนาด้วยกระบวนทัศน์เก่า วิสัยทัศน์เดิม ด้วยประชานิยมมากกว่าพัฒนายั่งยืน

ผู้ว่าฯ เน้นการสร้างความเข้มแข็งและพึ่งตนเอง “จากข้างใน” เพราะไปหวังการลงทุนจากต่างประเทศแบบเดิมคงไม่ได้แล้ว อย่างที่ผู้นำจีนเองก็ประกาศ “การพัฒนาจากข้างใน” ให้พึ่งตนเองมากที่สุด โลกเปลี่ยนไป หลังโควิด โลกาภิวัตน์ไม่เหมือนเดิม

พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมอบปรัชญาเศรษฐกิพอเพียงที่ทั่วโลกชื่นชม สหประชาชาติให้การเกียรติยกย่อง นำไปเป็น “ฐานคิด” ของ “เป้าหมายการพัฒนายั่งยืน” (SDG) ซึ่งมี 3 ฐาน คือ “ล่างขึ้นบน” (bottom up) “ศักดิ์ศรีเท่ากัน” (human dignity) (เด็ก สตรี คนพิการ ผู้สูงวัย คนชายขอบ) “ความพอเพียง” (sufficiency)

สิ่งที่ผู้ว่าฯ แบงกฺชาติพูดนั้น คือ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่พระเจ้าอยู่หัวได้ตรัสไว้เมื่อ 50 ปีก่อน

“การพัฒนาประเทศนั้นจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมี พอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัดแต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพอสมควรและปฏิบัติได้แล้วจึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจชั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป หากมุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญ ยกเศรษฐกิจขึ้นให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการที่สัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและของประชาชนสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่างๆ ขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวไปในที่สุด”

โรเบิร์ต มันเดล ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปาฐกถาที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2550 เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ส่วนแรกพูดถึง “จีดีพี” โดยไม่ใช้คำนี้ แต่สรุปไว้ที่วรรคสุดท้าย

“เศรษฐกิจพอเพียงจำเป็นสำหรับการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็ก และยังไม่เข้มแข็งพอ เมื่อพิจารณาการใช้จ่ายรวมของประเทศ ประกอบด้วยการบริโภค ภาคเอกชน การลงทุนของธุรกิจ การใช้จ่ายภาครัฐบาล การนำเข้าและการส่งออกแล้วสามารถนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมได้ โดยเริ่มจาก การสร้างความเข้มแข็งของภาคครัวเรือนที่เป็นหน่วยย่อยที่สุดของระบบเศรษฐกิจ”

“หากการบริโภคภาคครัวเรือน คือ บริโภคอย่างพออยู่พอกิน อย่างมีเหตุมีผลตามอัตภาพของแต่ละครัวเรือน จะทำให้ครัวเรือนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันด้านเศรษฐกิจครอบครัว คือสร้างการออมภาคครัวเรือนให้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นฐานรากที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจ เพราะเมื่อเงินออมภายในประเทศมีพอเพียงต่อการลงทุนก็จะทำให้ภาคธุรกิจลดการพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศ ทำให้การไหลของเงินทุนจากต่างประเทศที่มีความเร็วพอที่จะทำร้ายเศรษฐกิจในประเทศมีการชะลอลง”

“การดำเนินภาคธุรกิจตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะปรับเป้าหมายของการทำธุรกิจที่ไม่มุ่งแต่การเร่งสร้างกำไรสูงสุดเป็นสำคัญโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะก่อให้เกิดวิกฤติตามมา เป็นการมุ่งเน้นการสร้างผลกำไรที่จะทำให้ธุรกิจดำเนินไปอย่างยั่งยืนในระยะยาวโดยคำนึงถึง ความมั่นคงของบุคคล ชุมชน และสังคม ดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”

“การพัฒนาประเทศด้วยนโยบายมหภาคบนพื้นฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จะไม่เน้นเรื่องตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ นโยบายการคลังในฐานะที่เป็นต้นเหตุของการเคลื่อนย้ายเงินทุนต่างประเทศเป็นจำนวนมากจึงถูกควบคุมให้อยู่ในความพอดี”

ดร.เศรษฐพุฒิ พูดเหมือน ดร.โรเบิร์ต มันเดล ซึ่งทั้งสองไม่ได้ปฏิเสธ “จีดีพี” เพียงแต่ไม่ได้เน้น ถือเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อการประเมินและอ้างอิง อย่างที่รัฐมนตรีของภูฐานที่บอกว่า “ทั่วไปเขาใช้จีดีพีเป็นเป้าหมาย ความสุขเป็นผลพลอยได้ แต่ที่ภูฐานบ้านผมเราเอาความสุขเป็นเป้าหมาย เอาจีดีพีเป็นเครื่องมือ”

คนอย่าง ดร.เศรษฐพุฒิ อยู่ในทำเนียบเดียวกับ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ คุณอานันท์ ปันยารชุน บุคคลที่ชาติต้องการเพื่อการพัฒนาที่สมดุล ด้วยปัญญาบารมี ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

ผู้นำแบบนี้ที่ “ประชาชน” “คนรากหญ้า” ที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศภูมิใจ