จากข้อมูลที่ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 ระบุตอนหนึ่งว่า “น้ำมาเร็วมากจึงเกิดจาก

-ทะเลเดือด ฝนหนักขึ้น

-โลกร้อน สภาพภูมิอากาศแปรปรวน

-ธรรมชาติหายไป น้ำยิ่งลงมาเร็ว

-ระบบรองรับมาจากอดีต รับมือความผิดปกติในยุคนี้ได้ยาก

ทางออกคือ ดูความเสี่ยงจากฝนหนักน้ำท่วมดินถล่มรอบบ้านรอบชุมชน เตรียมรับมือ อย่าคิดว่าไม่เป็นอะไร เตรียมอาหารน้ำดื่มพอรับมือได้ช่วงหนึ่ง คิดถึงเหตุการณ์เฉพาะหน้า ไฟตัด น้ำท่วมออกไปไหนไม่ได้ ทำอย่างไร คิดถึงผู้ช่วยเหลือตัวเองได้ยาก คนแก่ เด็ก สัตว์เลี้ยง บ้านเราเพื่อนบ้าน ความช่วยเหลือมาแน่แต่อาจมาช้า เพราะทุกอย่างกะทันหัน ลองจำลองภาพเหตุการณ์และหาทางแก้ไปทีละเปลาะ จะได้เตรียมรับมือล่วงหน้า

โลกร้อนยังทำให้สภาพภูมิอากาศแปรปรวน ความผิดปกติเกิดบ่อยขึ้น หมายถึงเราจะเจอกับภัยพิบัติอย่างคาดเดาได้ยาก”

ส่วนคำถามน้ำจะท่วมกรุงเทพมหานครหรือไม่ เว็บไซต์ policywatch.thaipbs.or.th รายงานคำเตือนจากนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานสภาลมหายใจกรุงเทพฯ และอดีตรองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม อดีตรัฐมนตรีท่องเที่ยวและกีฬา ได้กล่าวในการบรรยายในหัวข้อ “น้ำจะท่วมกรุงเทพ…กี่โมง?”เมื่อวันที่ 16สิงหาคม 2567 ตอนหนึ่งระบุว่า

“ความเสี่ยงในระยะยาว โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางบางส่วนที่อาจจมหายไปใต้น้ำภายในเพียงไม่กี่ชั่วอายุคน พร้อมกับเตือนว่า ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประเทศไทยจะเผชิญกับปริมาณน้ำฝนที่มากกว่าปกติ อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง ซึ่งทำให้ปรากฏการณ์ลานีญาส่งผลกระทบต่อประเทศไทยรุนแรงขึ้น

ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่น้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่กลับเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนรุนแรงที่สุดเป็นอันดับ 9 ของโลก ปัญหานี้จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แต่เป็นความจริงที่ลูกหลานของเราอาจต้องเผชิญในอนาคตอันใกล้”

กระนั้น ถึงเวลาที่รัฐบาลและทุกภาคส่วนต้องร่วมกันเรียกร้องให้บรรดาประเทศที่เป็นต้นทางสร้างภาวะโลกเดือดต้องรับผิดชอบ เลิกเอาเครดิตคาร์บอนมาหลอกประเทศอื่นในขณะที่ประเทศตนเองนั้นไล่ถลุงธรรมชาติจนล่มสลาย ในขณะที่รัฐบาลต้องปรับมาตรการรับมือให้เท่าทันสถานการณ์ปัญหาในปัจจุบัน เน้นเชิงรุกมากว่ารับ การลงทุนสีเขียว และการปลูกต้นไม้คือทางรอด การลงทุนไม้ล้อมทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อประเทศไทยคือทางรอด