ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ
อาจารย์ประจำสถาบันการทูตและการต่างประเทศ
มหาวิทยาลัยรังสิต
ปัจจุบัน AI ได้มีการพัฒนาไปอย่างมาก และเริ่มเข้าไปมีบทบาทสำคัญในหลายๆภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของการประมวลผลตามที่เราๆท่านๆต้องการ มีคำถามที่น่าสนใจมากคำถามหนึ่งครับว่า แล้ว AI กับการต่างประเทศล่ะ? ปัจจุบันมีการนำ AI ไปใช้มากน้อยขนาดไหน และใช้กันอย่างไร เดี๋ยววันนี้จะเล่าให้อ่านครับ
หลักสำคัญของการใช้ AI ในวงการการต่างประเทศในปัจจุบัน คือ การใช้เพื่อประมวลผล นั่นเองครับ
ด้วยความสามารถของ AI ที่สามารถรับมือกับข้อมูลจำนวนมากได้ การใช้ AI ในการคาดการณ์หรือประเมินสถานการณ์ระหว่างประเทศจึงเป็นเทคโนโลยีที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในวงการการเมืองและการทูต AI สามารถช่วยประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) วิเคราะห์แนวโน้ม และทำนายเหตุการณ์ต่างๆ ในอนาคตโดยอิงจากรูปแบบข้อมูลที่ซับซ้อน ซึ่งมนุษย์อาจไม่สามารถวิเคราะห์ได้รวดเร็วเท่ากัน
ซึ่งปัจจุบันก็มีผู้ผลิตซอฟต์แวร์ลักษณะนี้ออกมาหลายเจ้าเช่นกัน ซึ่งแต่ละเจ้าก็จะมีจุดเด่นแตกต่างกัน บ้างชูจุดเด่นด้านการใช้ทฤษฎีทางวิชาการ เช่น ทฤษฎีการเมือง ทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเศรษฐศาสตร์เข้าไป เพื่อให้เกิดการวิเคราะห์ที่อิงกับหลักวิชาการ บ้างชูจุดเด่นเรื่องการกวาดเก็บข้อมูล ว่ากวาดได้เยอะ เร็ว และลึก แค่ไหน เป็นต้น
แล้ว AI ถูกใช้ประมวลผลอะไรบ้าง ในทางการเมืองระหว่างประเทศ?
1. การคาดการณ์ความขัดแย้ง
AI สามารถช่วยคาดการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองหรือการทหารระหว่างประเทศได้ โดยใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับความตึงเครียดในระดับภูมิภาค ข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์ คำพูดของผู้นำประเทศ รวมถึงข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์และทฤษฎีต่างๆ ระบบ AI ส่วนใหญ่จะใช้ข้อมูลจากหลายประเทศเพื่อทำนายความเสี่ยงของความไม่สงบทางการเมืองและการปฏิวัติ โดยนำข้อมูลเกี่ยวกับเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองมาประมวลผลเพื่อหาความเสี่ยงในแต่ละประเทศ ซึ่งบางเจ้าก็มีออปชันให้เลือกในการประมวล เช่นจะประมวลภาพรวม หรือภาพแคบ ก็ย่อมทำได้
2. การประเมินนโยบายระหว่างประเทศ
AI ยังถูกใช้ในการประเมินผลกระทบของนโยบายระหว่างประเทศ โดยวิเคราะห์ข้อมูลจากนโยบายต่าง ๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การค้า และการทูต ระบบสามารถช่วยแนะนำแนวทางการดำเนินนโยบายที่อาจจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ต้องการ เช่น การทำนายผลกระทบของการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือการวิเคราะห์ผลของข้อตกลงทางการค้าที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก
3. การประเมินภัยคุกคามด้านความมั่นคง
AI มีความสามารถในการตรวจจับและทำนายการเกิดขึ้นของภัยคุกคามได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นภัยคุกคามทางการเมือง ภัยคุกคามทางทหาร หรือแม้แต่ภัยคุกคามด้านภัยพิบัติตามธรรมชาติ ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้ชุดข้อมูลอะไรให้เจ้า AI ได้ประมวล ยกตัวอย่างการโจมตีทางไซเบอร์ (cyberattacks) ซึ่งเป็นหนึ่งในภัยคุกคามสำคัญในระดับระหว่างประเทศ ระบบเช่นนี้สามารถระบุรูปแบบการโจมตีและหาทางป้องกันได้ล่วงหน้า รวมทั้งใช้ข้อมูลจากเครือข่ายต่างๆ เพื่อระบุภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน
4. การวิเคราะห์แนวโน้มทางเศรษฐกิจและการค้า
AI ถูกใช้ในการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจในระดับโลกและการค้าระหว่างประเทศ โดยนำข้อมูลทางเศรษฐกิจในระดับใหญ่ เช่น การเปลี่ยนแปลงของตลาดทุน การเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแนวโน้มการบริโภค AI สามารถช่วยแนะนำยุทธศาสตร์ในการปรับตัวเข้ากับสภาวะทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
5. การวิเคราะห์ข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์
AI บางค่ายสามารถวิเคราะห์ข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อประเมินความเห็นของประชาชนทั่วโลกต่อเหตุการณ์ทางการเมืองหรือสถานการณ์ระหว่างประเทศ เช่น การใช้ NLP (Natural Language Processing) ในการวิเคราะห์ความคิดเห็นและอารมณ์ของผู้ใช้ในโซเชียลมีเดีย (Sentiment) ซึ่งช่วยประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากความไม่สงบของประชาชน
อย่างไรก็ดีครับ แม้ AI จะเป็นเครื่องมือที่มีศักยภาพสูง แต่การใช้ AI ในการคาดการณ์สถานการณ์ระหว่างประเทศยังมีข้อจำกัด เช่น ข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์หรือเอนเอียง (bias) อาจทำให้ผลลัพธ์ไม่แม่นยำ นอกจากนี้ การตัดสินใจในเรื่องการเมืองและความมั่นคงยังต้องคำนึงถึงปัจจัยที่ไม่สามารถวัดได้ด้วยข้อมูล เช่น จิตวิทยาของผู้นำประเทศ
ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า ในปัจจุบัน AI เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ด้านการต่างประเทศอย่างมาก แต่บทบาทยังคงจำกัดอยู่ที่การเป็น “ผู้ให้คำแนะนำ” หรือ “ผู้วาดภาพ” ให้บรรดานักการทูตและผู้มีอำนาจตัดสินใจต่างๆ นำไปประกอบการตัดสินใจอีกต่อหนึ่ง อนาคตก็ต้องดูกันต่อไปครับ ว่า AI จะมีบทบาทมากขึ้นกว่านี้ได้อีกหรือไม่...เอวัง