เสรี พงศ์พิศ
Fb Seri Phogphit
เอไอมาแล้ว มาเร็ว พัฒนาเร็ว ทำให้ช่องว่างระหว่างผู้คนมากขึ้นกว่าเดิม มีกลุ่มที่รู้เอไอที่ได้ประโยชน์ และกลุ่มคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเกษตรกร คนจน คนรากหญ้าที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
รู้กันดีว่า จุดแข็งของไทย คือ การเกษตรและการท่องเที่ยว ไทยส่งออกข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา น้ำตาลอันดับต้นๆ ของโลก แต่ก็เป็นจุดอ่อน เพราะมูลค่าไม่มากเนื่องจากส่งออกวัตถุดิบเป็นส่วนใหญ่
ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกษตรและส่งออกต่างก็รู้ดีว่า ถ้าไม่ช่วยเกษตรกรให้พัฒนาการผลิตให้ได้คุณภาพและปริมาณ ตนเองก็จะได้รับผลกระทบ
จึงเห็นความพยายามหลายฝ่ายที่จะใช้เทคโนโลยี แม้จะผลิตข้าวต่อไร่ได้ไม่เท่าก้บประเทศพัฒนาแล้วหรือจีน เวียดนาม อย่างน้อยก็ได้ข้าวสัก 1 ตัน มันสำปะหลังสัก 10 ตัน อ้อยสัก 20 ตันต่อไร่ก็ยังดี ไม่ใช่ข้าวก็ 300-400 กิโล มันก็ 2-3 ตัน อ้อยก็แค่ 10 ตัน มาชั่วนาตาปี
กระบวนการส่งเสริมแบบเดิมๆ ที่เชิญเกษตรกรมาอบรมสัมมนา 2-3 วัน แล้วให้กลับไปทำ อันนั้นไม่ได้ผล เพราะนอกจากชาวบ้านไม่มีทุน มีแต่หนี้ ความรู้ที่ได้มาก็ไม่เพียงพอ ชาวบ้านเรียนจากการได้เห็นตัวอย่าง ได้แรงบันดาลใจ ได้ผู้รู้ ได้เพื่อนร่วมอาชีพที่เก่งกว่ามาช่วยการเรียนรู้ พัฒนาต่อเนื่องไปจนเห็นผล
มีสตาร์ตอัปจำนวนหนึ่งเริ่มทำแล้วและได้ผลดี ไปช่วยชาวบ้านตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งเทคโนโลยี ข้อมูล ความรู้ การวางแผน การจัดการ ให้รู้ว่าควรปลูกอะไร ที่ดินแบบไหน ฤดูกาลไหน แค่ต้นเดือนหรือปลายเดือนก็อาจสร้างความแตกต่าทางผลผลิตแล้ว เหล่านี้ได้ข้อมูลจากเทคโนโลยียุคใหม่ที่ชาวบ้านเข้าไม่ถึง
ลุงประยงค์ รณรงค์ ผู้นำชุมชนไม้เรียง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งได้รับรางวัลแมกไซไซเมื่อปี 2547 พูดกับเกษตรกรในการสัมมนาทุกครั้งว่า “พวกเราทำอะไรมักล้มเหลวเพราะเราไม่มีความรู้ ไม่รู้จริง มีแต่คิดว่า รู้สึกว่า เข้าใจว่า วันนี้เราต้องรู้ว่าอย่างเดียวครับ” เพราะ “มั้งศาสตร์” ใช้ไม่ได้แล้ว
กระนั้น แม้ผู้ประกอบการยุคใหม่ที่เห็นปัญหาเรื่องเทคนิคการเกษตร ใช้เทคโนโลยีดีแค่ไหนก็ไปไม่รอด เพราะปัญหาใหญ่กว่าเทคนิค วิธีการมอง “ชาวบ้าน” และ เกี่ยวกับนโยบายและบทบาทรัฐบาลเป็นสำคัญ
ปัญหาใหญ่ที่รออยู่ข้าหน้า 5 ปี คือ เรื่อง “ยุทธศาสตร์สีเขียว” ที่โลกกำลังตั้งเป้าหมายว่า ภายใน 2030 มาตรการ “สีเขียว” จะเข้มมาก ถ้าบ้านเราไม่เข้าใจ ไม่เตรียมตัวตั้งแต่วันนี้ อีกห้าปี ข้าวไทยจะขายไม่ได้ ผลผลิตการเกษตรอื่นๆ ก็ส่งออกไม่ได้ เพราะไม่ผ่าน “มาตรการสีเขียว” ในกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน
นี่คือเรื่อง Green Growth หรือการเติบโตสีเขียว ที่อยู่ใน SDG หรือเป้าหมายการพัฒนายั่งยืนที่ไทยได้ไปลงนามด้วย ที่ต้องการให้เกิดการ “เติบโตสีเขียว” โดยมีดัชนีชี้วัดตั้งแต่ 2022 หลายส่วนไทยยัง “ไม่ตื่น”
ขอสรุป 5 หลักการของ “การเติบโตสีเขียว” ของสหประชาชาติดังนี้
1. การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ (Resource efficiency) ด้วยเทคโนโลยีสะอาด ลดของเสีย มีการปฏิบัติที่ยั่งยืน
2. เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Economy) ปรับเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจที่คาร์บอนต่ำ และใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อสู้กับปัญหาโลกร้อน
3. การอนุรักษ์และความหลากหลายทางชีวภาพ (Conservation and biodiversity) ปกป้องระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อของสิ่งแวดล้อมในการตัดสินใจนโยบายต่างๆ
4. ให้โอกาสทุกคน (Social inclusivity) ให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงและได้ประโยชน์จากการเติบโตสีเขียวอย่างเท่าเทียม
5. บูรณาการนโยบาย (Policy integration) ระหว่างภาคส่วนต่างๆ เพื่อเสริมพลังในความพยายามให้เกิดการพัฒนายั่งยืน
เรามีบทเรียนเรื่องประมงมาแล้วไม่ใช่หรือ น่าจะจำได้ว่ามีผลกระทบเพียงใด เรื่อง “การเติบโตสีเขียว” และ “เกษตรสีเขียว” ก็กำลังจะมาหลอกหลอนเราอีก ถ้าเราไม่ลงมือ “ปรับตัว” ทำตั้งแต่วันนี้
ยังไม่เห็นว่ารัฐบาลหรือฝ่ายค้านมีแนวทางชัดเจนอะไรในการ “พัฒนาภาคเษตรสีเขียว” เพราะจุดอ่อนที่ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐมีในเรื่องนี้ คือ ไม่รู้ว่าจะพัฒนาเกษตรกรอย่างไร ไม่ทำข้อมูล ไม่สืบค้นหาผู้รู้ ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำธรรมชาติ และประสานให้เกิดเครือข่ายการเรียนรู้ และให้เพื่อนช่วยเพื่อนอย่างต่อเนื่อง
เรามีวิสาหกิจชุมชน 80,000 กลุ่มแบบ “เสียของ” ทั้งๆ ที่เป็นพลังอันยิ่งใหญ่ในการสร้างเศรษฐกิจฐานราก ถ้าหากได้รับการส่งเสริมสนับสนุนอย่าง 5 ข้อเพื่อ “การเติบโตสีเขียว” ของสหประชาชาติ
คงเป็นปัญหาไมน์แซ็ต ปัญหากระบวนทัศน์ที่ไม่ปรับเปลี่ยน เพราะถ้าเปลี่ยนกระบวนทัศน์ได้ จะมีการปฏิวัติการเกษตรไทยอย่างแน่นอน
ประการสำคัญ ต้องให้เกษตรกรเป็น “subject” (ผู้กระทำ) ไม่ใช่ “object” (ผู้ถูกกระทำ) มีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต เป็นหุ้นส่วน ไม่ใช่เป็นแค่แรงงานที่ผลิตวัตถุดิบ แปรรูป เป็นลูกจ้างอย่างเดียว
การให้เกษตรกรมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการเกษตร เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต มีวิธีการที่สร้างคนแบบปัญญาชนคนใน (organic intellectuals) พัฒนาความรู้ พัฒนาระบบที่เหมาะสมกับสังคมวันนี้ ที่จะลดการผูกขาด มีธรรมาภิบาล โปร่งใส กระจายอำนาจ
ทุกภาคส่วน ภาครัฐ เอกชน ชุมชน มาร่วมแรงร่วมใจ ร่วมกันสร้าง “ยุทธศาสตร์ร่วม” (common strategy) กันอย่างที่ยูเอ็นแนะนำเถิด เราจะได้การเติบโตสีเขียวที่ยั่งยืน และไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังทั้งชาติ