ณรงค์ ใจหาญ
ปวงชนชาวไทยและชาวต่างชาติต่างได้ประจักษ์โดยทั่วกันแล้วว่าตลอดระยะเวลา ๗๐ พรรษาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองราชสมบัติ และทรงงานอย่างหนักเพื่อให้ประชาชนของพระองค์ได้อยู่อย่างมีความสุข มีการพัฒนาทางด้านสติปัญญา และเจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับนานาประเทศ ทั้งโครงสร้างพื้นฐานและแนวความคิดที่ทันสมัย พระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านมีมากมายจนสุดคณานับ แต่ที่จะขอนำเสนอเพียงด้านหนึ่งที่เกี่ยวพันกับกฎหมายซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่ผู้บริหารในทุกระดับและประชาชนจะต้องถือปฏิบัติและดำเนินชีวิตอยู่ในกรอบของกฎหมายที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาและพระองค์ท่านทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ผู้ที่เรียนนิติศาสตร์เมื่อสำเร็จการศึกษาหลังจากที่ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรนิติศาสตรบัณฑิต เนติบัณฑิตไทย นิติศาสตรมหาบัณฑิต นิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต รวมถึงผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย อาทิเช่น นายร้อยตำรวจ พนักงานอัยการ ผู้พิพากษา เมื่อจะออกไปปฏิบัติหน้าที่ จะได้รับพระบรมราโชวาทเพื่อน้อมเกล้าถือปฏิบัติในการประกอบวิชาชีพกฎหมาย อันจะก่อให้เกิดความเป็นธรรมให้กับตนเองและสังคม
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งทรงพระราชทานไว้แก่บรรดานักกฎหมายที่กล่าวแล้วข้างต้น มีความทันสมัยและสอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและสังคมโลกในแต่ละห้วงเวลา แต่พระองค์ท่านทรงเน้นย้ำในข้อสำคัญที่นักนิติศาสตร์พึงตระหนักว่า กฎหมายแม้จะก้าวหน้าทันสมัย แต่การใช้กฎหมายจะต้องเที่ยงตรง เที่ยงแท้ และผู้ใช้กฎหมายจะต้องปราศจากอคติในการใช้กฎหมายหรือไม่พยายามบิดเบือนเจตนารมณ์ของกฎหมายเพื่อประโยชน์แก่คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะหากเป็นเช่นนั้น จะทำให้กฎหมายก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม ผลที่ตามมา คือการไม่ยอมรับในกฎหมาย และนำไปสู่การละเมิดกฎหมายหรือทำให้หลายๆคนเห็นว่ากฎหมายชราภาพ ทั้งๆที่ หลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นหลักเกณฑ์ที่ดีแต่การใช้กฎหมายต่างหากที่ขัดต่อเจตนารมณ์ หรือใช้กฎหมายอย่างมีอคติ ดังที่พระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่ผู้สอบไล่ได้ตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา วันที่ 19 กรกฎาคม 2520 ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร ดังนี้
“ .....กฎหมายทั้งปวงจะธำรงความยุติธรรม และถูกต้องเที่ยงตรง หรือจะธำรงความศักดิ์สิทธิ์และประสิทธิภาพเต็มเปี่ยมอยู่ได้หรือไม่เพียงไรนั้นขึ้นอยู่กับการใช้ คือถ้าใช้ให้ได้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์ของกฎหมายจริงๆ แล้ว ก็จะทรงความศักดิ์สิทธิ์และประสิทธิภาพอันสมบูรณ์ไว้ได้ แต่ถ้านำไปใช้ให้ผิดวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์โดยการพลิกแพลงบิดพลิ้วให้ผันผวนไปด้วยความหลงผิด ด้วยอคติ หรือด้วยเจตนาอันไม่สุจริตต่างๆ กฎหมายก็เสื่อมความศักดิ์สิทธิ์และประสิทธิภาพลงทันที และกลับกลายเป็นพิษเป็นภัยแก่ประชาชนอย่างใหญ่หลวง....”
ส่วนพระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะผู้พิพากษาประจำกระทรวงในโอกาสที่เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิณาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ท่านทรงย้ำให้เห็นถึงความสำคัญในเรื่องความยุติธรรม และผู้พิพากษาจะต้องพิจารณาพิพากษาตัดสินคดีความโดยปราศจากอคติ ด้วย ดังเช่นพระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่คณะผู้พิพากษาประจำกระทรวงในวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๒๗ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ดังนี้
“.... กระบวนการยุติธรรม ซึ่งผู้ที่ปฏิบัติหลายฝ่าย แต่ฝ่ายที่สำคัญมากที่สุด คือ ผู้พิพากษา เป็นผู้ที่จะประสาทความยุติธรรมให้บังเกิดขึ้นในคดีปัญหาต่างๆ ระหว่างบุคคลและบุคคล เพื่อที่จะไม่ให้เกิดความเดือดร้อนวุ่นวายในสังคม ฉะนั้น ท่านที่เป็นผู้พิพากษาจึงต้องเป็นบุคคลที่จะต้องทำงานด้วยความรู้ในวิชา ทั้งในความรู้ในความยุติธรรมที่อยู่ในใจ คือเป็นความยุติธรรมตามธรรมชาติ หมายความว่า ผู้ที่เป็นผู้พิพากษาจะต้องใช้หลักวิชาและสามัญสำนึกอย่างมาก ทั้งหมดนี้ ก็จะต้องประกอบด้วยความสุจริตใจ เพราะว่าบางทีมีสิ่งที่ล่อในทางอามิส หรือในทางความคิดเห็นที่ไม่ตรงอันเรียกว่า อคติ ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ลำบาก แต่ว่าถ้าทำได้ตามที่ได้เปล่งวาจา ก็สามารถจะปฏิบัติงานได้โดยเต็มที่ และโดยมีประสิทธิภาพ เป็นผลดีแก่การปกครองประเทศ และในเวลาเดียวกันก็จะเป็นสิ่งที่จะสร้างให้ตนมีเกียรติและก็มีประสบการณ์ ฉะนั้น การที่จะได้รักษาคำปฏิญญาณนี้ไว้โดยดีตลอดชีวิตราชการ ก็จะเป็นการสร้างความดีให้ประเทศ และสร้างความดีให้ตนเอง ซึ่งนำไปสู่ความเจริญของประเทศและความเจริญโดยส่วนตัว ....”
ผู้ที่บังคับใช้กฎหมายซึ่งเป็นต้นสายธารแห่งกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เช่น ตำรวจ พระองค์ท่านทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และเข้าเฝ้ารับพระราชทานกระบี่ โดยทรงเน้นให้เห็นถึงความรับผิดชอบในหน้าที่ ต้องมีจิตใจที่ดี สุจริต เที่ยงตรงด้วย ดังที่พระราชทานไว้ในวันที่ 26 มิถุนายน 2546 ณ หอประชุมอเนกประสงค์ วังไกลกังวล ดังนี้
“..... ตำรวจมีหน้าที่รักษาความสงบสุข ความมั่นคงปลอดภัย และความถูกต้องเป็นธรรมในบ้านเมือง นับว่ามีภาระหนัก มีความรับผิดชอบสูง ผู้ที่จะทำหน้าที่ของตำรวจให้สำเร็จได้อย่างสมบูรณ์นั้น นอกจากจะมีความรู้ ความสามารถสูงแล้ว ยังจะต้องมีคุณสมบัติอื่นๆ ด้วย เบื้องต้น ต้องมีจิตใจที่ดี ที่สุจริต ที่หนักแน่น เที่ยงตรง รู้ผิดชอบชั่วดี เป็นพื้นฐานการกระทำ ความประพฤติทุกๆ อย่าง ประการที่สอง จะต้องมีความตั้งใจจริง ที่จะทำหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพ และก้าวหน้า โดยยึดถือความสำเร็จและประโยชน์ส่วนรวมเป็นใหญ่ ประการสำคัญ จะต้องมีความเข้าใจโดยตระหนักว่า งานของตำรวจเป็นงานที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับประชาชนอย่างใกล้ชิด และความสำเร็จในภารกิจทั้งปวง โดยเฉพาะการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมและผู้กระทำความผิดนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือสนับสนุนจากสุจริตชนอย่างมาก ตำรวจจึงต้องเป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี และทำตัวให้เป็นที่เชื่อถือไว้วางใจได้ว่า จะเป็นผู้อำนวยความผาสุกยุติธรรมได้อย่างแท้จริง.....”
พระบรมราโชวาทที่พระองค์ท่านพระราชทานให้ไว้แก่นักกฎหมายและผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายเพื่อจำน้อมนำไปเป็นหลักในการประกอบอาชีพนั้น เป็นปรัชญาและหลักการที่สำคัญอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล การใช้กฎหมายเป็นดาบสองคม หากนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของตน ย่อมจะนำมาซึ่งความอยุติธรรมและก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนและส่วนรวม แต่หากนำมาใช้เพื่อประโยชน์สุขต่อสังคม และต่อประชาชนตามเจตนารมณ์ของกฎหมายโดยปราศจากอคติ มีความสุจริต แน่วแน่ที่จะแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการขัดแย้งในประโยชน์ของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายแล้ว ย่อมจะก่อให้เกิดประโยชน์สุขต่อส่วนรวมและเจริญก้าวหน้าแก่ตนเองและครอบครัว ซึ่งจะส่งผลดีต่อความเจริญผาสุกของประเทศด้วย นับได้ว่า พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้วางรากฐานการใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมให้แก่นักนิติศาสตร์และนักนิติศาสตร์ในทุกสาขาแม้ว่าจะไม่ได้เป็นผู้พิพากษา หรือตำรวจ หากได้น้อมนำพระบรมราโชวาทที่ทรงพระราชทานไว้ไปปฏิบัติย่อมจะก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคมอันเป็นประโยชน์สุขแก่ประชาชนและสังคมไทย ซึ่งมีพื้นฐานของหลักนิติรัฐ นิติธรรม สืบไป.