เสียงวิจารณ์เรื่องครม.สืบสันดาน หรือครม.พ่อลูกนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกสำหรับการเมืองทั้งไทยและเทศนั้นเป็นข้อเท็จจริง อ้างอิงจากงานวิจัยเรื่อง “ตระกูลการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในโลก” โดยนายสติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า พบว่า ไทยมีสัดส่วนตระกูลการเมืองสูงกว่าประเทศที่ได้ชื่อว่าตระกูลการเมืองมีบทบาทสำคัญอย่างเม็กซิโก ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น ร้อยละ 2 ร้อยละ 5 และร้อยละ 9 ตามลำดับ เป็นสัดส่วนที่สูงกว่าอาร์เจนตินาและสหรัฐอเมริกาถึงสี่และเจ็ดเท่าตามลำดับ
ทั้งนี้งานวิจัย ยังระบุอีกว่าตระกูลการเมืองที่ประสบความสำเร็จรักษาสืบทอด แผ่ขยายอาณาจักรทางการเมืองช่วงหลังปี 2540 เป็นต้นมา ได้แก่ ตระกูลชินวัตรมีการวางรากฐานทางการเมืองมาตั้งแต่สมัยนายเลิศ ชินวัตร อดีต ส.ส.เชียงใหม่ พ.ศ.2512 และส่งต่อความสำเร็จมายังนายสุรพันธ์ ชินวัตร น้องชายนายเลิศ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ 4 สมัย (พ.ศ.2522, 2526, 2529, 2531) ก่อนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะเข้ามารื้อฟื้น สานต่อและแผ่ขยายอิทธิพลของตระกูล จนมีสมาชิกของตระกูลก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึง 3 คน คือ พ.ต.ท.ทักษิณ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (น้องเขย พ.ต.ท.ทักษิณ) และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นอกจากนี้สมาชิกตระกูลชินวัตรยังประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง ส.ส.มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2544 อีกหลายคน อาทิ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น.ส.ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ (ที่มา: https://www.posttoday.com/politics/252913)
ทางด้าน นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คำว่าสืบสันดานทางกฎหมายนั้นมีจริง เรียกว่าเป็นบุพการีผู้สืบสันดาน นั่นเป็นคำในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกฎหมายต่างๆ ซึ่งเข้าใจว่าการที่นำมาเปรียบเทียบกัน คงจะเปรียบในทางการเมือง แต่ในทางกฎหมาย หมายความว่าหากบุพการีไม่อยู่ และไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ก็ให้ผู้สืบสันดานทำหน้าที่แทน ถือว่าเป็นเรื่องในทางกฎหมาย เบื้องต้นมองว่าเป็นเรื่องปกติทางการเมือง เพราะเรามีพรรคการเมือง ซึ่งแต่ละพรรคก็ได้โควต้าที่แตกต่างกันไป ระบบก็เป็นเช่นนี้
อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่ประชาชนและภาคส่วนต่างๆต้องติดตามตรวจสอบและถ่วงดุลอย่างเข้มข้น ไม่ได้มาจากปัญหาเรื่องของการสืบสันดาน ที่ทำให้เกิดข้อกังขาในเรื่องของความเชื่อมั่นและศักยภาพ
หากแต่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง คือการตรวจสอบพฤติกรรมของผู้สืบสันดานนั้นๆ ในการใช้อำนาจทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและประชาชนหรือไม่ โดยไม่ได้บิดเบือนเพื่อประโยชน์ของวงศ์ตระกูล หรือพวกพ้องหรือไม่ต่างหาก