นายกฯอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ฤกษ์งามยามดีเตรียมเข้าทำงานที่ทำเนียบรัฐบาลเป็นวันแรกแล้วคือ 16 ก.ย.67 นี้ ขณะที่รัฐมนตรีใหม่ หลายคนเริ่มทยอยเข้าทำงานกันไปล่วงหน้า นับตั้งแต่หลังวันประชุมครม.นัดพิเศษ เมื่อวันเสาร์ที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา 


 ในห้วงเวลานี้ดูเหมือนว่า พรรคเพื่อไทยเอง กำลังอยู่ในโหมดของการเตรียม งานใหญ่ นั่นคือการทุ่มเททุกความพร้อม ไปยังวาระการแถลงนโยบายรัฐบาล ระหว่างวันที่ 12-13 ก.ย.นี้ โดยมี นายกฯแพทองธาร ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล เป็นผู้นำทีมแถลงต่อที่ประชุมรัฐสภา 


 ในระหว่างที่ พรรคเพื่อไทย และตัวนายกฯแพทองธาร ตลอดจน รัฐมนตรีในกระทรวงหลักๆโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ที่ต้องเตรียม ทำการบ้าน รับมือทั้ง ฝ่ายค้าน และ ฝ่ายแค้น ในวันแถลงนโยบายนั้น ปรากฏว่า  ปฏิบัติการรุกไล่ ด้วย ข้อกฎหมาย จาก ฝ่ายตรงข้าม เริ่มลงมือทำงานในลักษณะที่เรียกว่า คู่ขนาน ตีคู่ไล่กันไป 
 ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ก.ย.67  นพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 เข้า ยื่นหลักฐานต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต. ) ขอให้พิจารณายุบพรรคการเมือง 4 พรรค ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย , พรรคภูมิใจไทย , พรรครวมไทยสร้างชาติ , พรรคชาติไทยพัฒนา  กรณีเข้าพบ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯที่ บ้านจันทร์ส่องหล้า  หารือร่วมกันตั้งรัฐบาล  หลังจากที่ เศรษฐา ทวีสิน มีอันต้องพ้นจากเก้าอี้ นายกฯคนที่30 ด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 


 เนื่องจากนพรุจ ซึ่งบัดนี้ได้กลายเป็น ผู้ร้อง  เห็นว่า ทั้ง 4 พรรคการเมือง กระทำฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 21, 28, 29 โดยขอให้ กกต.สั่งยุบพรรคการเมืองตามมาตรา 92 


 ระยะเวลาดำเนินการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งรัฐบาลก็ดี จะต้องมาพบนายทักษิณ ที่บ้านจันทร์ส่องหล้าทุกครั้ง เมื่อครั้งที่นายเศรษฐา เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ยังมีการเข้าพบปะมาหาในเหตุการณ์ต่างๆต่อเนื่องมา บ่งบอกชัดว่าการกระทำของนายทักษิณ ส่อไปในทางครอบงำ สั่งการ ควบคุม ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ก็เข้าใจว่าเขาเป็นเจ้าของพรรค ซึ่งมีอิทธิพลเหนือพรรคการเมือง


 รวมทั้งการเป็นบิดาของนางสาวแพทองธาร ย่อมมีอิทธิพลเหนือนางสาวแพทองธาร ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย รวมถึงเป็นอดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทยมาก่อน โดยทุกครั้งที่มีการจัดตั้งรัฐบาล หรือมีการออกนโยบายต่างๆที่พรรคเพื่อไทยดำเนินการอยู่นายทักษิณ เป็นผู้แสดงความคิดเห็นก่อนพรรคเสมอ เสมือนเป็นมติก่อนที่พรรคจะลงมติ (9 ก.ย.67) 


 และไม่ได้มีเพียงแค่ 4 พรรคนี้เท่านั้น แต่นพรุจยังยื่นให้กกต.พิจารณา ยุบเพิ่มเติม อีก 2 พรรคคือพรรคประชาชาติ และพรรคพลังประชารัฐ พบว่า หัวหน้าพรรคทั้ง 2 พรรคไม่ได้เดินทางเข้าพบ แต่ตามมาตรา 21 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ระบุในวรรคท้ายว่า หากพบว่ามีการทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร มอบให้เลขาฯและกรรมการบริหารพรรคคนใดไปที่บ้านจันทร์ส่องหล้า ในวันดังกล่าว ก็อาจจะเข้าข่าย เหมือนกับอีก 4 พรรคด้วย 
 แน่นอนว่าคำร้องดังกล่าวนี้ ดูจะสร้าง แรงกดดัน ต่อพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันถึง 6 พรรค ที่จากนี้ไป แม้ยังไม่ทันได้สร้าง ผลงาน แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือความหวั่นไหว ว่าพวกเขาจะถึงขั้น ตายหมู่ จากคำร้องในลักษณะ จงใจ ล้มกระดาน ทั้งหมดหรือไม่ ?