องค์การอนามัยโลกกำหนดให้วันที่ 10 กันยายนของทุกปี เป็นวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก (World Suicide Prevention Day) เนื่องจากในปีหนึ่งๆ มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จเป็นจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน เมื่อคิดเฉลี่ยต่อเวลาจะพบว่ามีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน ทุก 40 วินาที
สำหรับประเทศไทย มีรายงานสถิติการฆ่าตัวตาย ปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม 2565 - กันยายน 2566) พบว่า คนไทยเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย 5,172 คน หรือเท่ากับ 7.94 ต่อแสนประชากร เฉลี่ยวัน ละ 14 คน หรือเสียชีวิต 1 คน ในทุก 2 ชั่วโมง (มบ.1 กองยุทธศาสตร์และแผนงาน, 2566) และคนไทย พยายามฆ่าตัวตาย 31,110 คน หรือเท่ากับ 47.74 ต่อแสนประชากร เฉลี่ยวันละ 85 คน หรือมีผู้พยายาม ฆ่าตัวตาย 7 คน ในทุก 2 ชั่วโมง
จากการทบทวนข้อมูลสอบสวนโรคและผลศึกษาวิจัยเรื่องการฆ่าตัวตาย จะพบว่า
1. ผู้ที่ฆ่าตัวตายมักจะมีความเปราะบางมีความอ่อนแอหรือมีปัจจัยเสี่ยงเสี่ยงอยู่ก่อน เช่น ป่วยโรคจิตเวชที่รุนแรง(โรคซึมเศร้า โรคจิต โรคอารมณ์สองขั้ว โรคติดการพนัน ทั้งที่ได้รับการรักษาและไม่ได้รับการรักษา) ป่วยโรคทางกายรุนแรงเรื้อรัง (โรคมะเร็ง โรคอัมพฤกษ์ โรคไตวายเรื้อรัง โรคเอดส์ เป็นต้น) มีโรคติดสุรา,ติดสารเสพติด บุคลิกภาพหุนหันพันแล่น หรือมีประสบการณ์ถูกทารุณในวัยเด็ก
2. ผู้ที่ฆ่าตัวตายมักจะอยู่ในสภาพแวดล้อม(สังคม หรือครอบครัว) ที่มีความคาดหวังสูง
3.เมื่อผู้ที่มีความเปราะบางหรือมีความเสี่ยงเหล่านี้เผชิญกับวิกฤติชีวิตที่ทำให้อับอาย หรือพ่ายแพ้ ร่วมกับรู้สึกอับจนหนทางหรือตกอยู่ในสถานการณ์ไม่มีทางออก ก็จะเกิดความคิดฆ่าตัวตายเกิดขึ้น
4.เมื่อมีความคิดฆ่าตัวตายเกิดขึ้น หากบุคคลนี้ไม่กลัวตาย ทนต่อความเจ็บปวดได้สูง เคยรับรู้ถึงวิธีหรือมีตัวอย่างการฆ่าตัวตาย และเข้าถึงวัสดุอุปกรณ์หรือสถานที่ที่ใช้ฆ่าตัวตายได้ง่าย …จากมีเพียงแค่ความคิดก็นำไปสู่การกระทำ… เหตุการณ์ฆ่าตัวตายก็เกิดขึ้น
จากรายงานดังกล่าว จึงพอสรุปได้ว่า เหตุการณ์ฆ่าตัวตายไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ ผู้ที่ฆ่าตัวตายนั้นมักจะมีความเปราะบางมีความโน้ม เอียงมีความเสี่ยงอยู่ก่อน แล้วประสบวิกฤติชีวิตที่ทำให้อับอายขายหน้า หรือ พ่ายแพ้ล้มเหลว ร่วมกับอับจน หนทางไม่มีทางออกในวิกฤตินั้น ความคิดฆ่าตัวตายจึงเกิดขึ้น (ที่มา :ศูนย์เฝ้าระวังการฆ่าตัวตาย โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์)
อย่างไรก็ตาม ปัญหาการฆ่าตัวตายเริ่มต้นป้องกันได้จากครอบครัว โดยมีการมีสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน สื่อสารดีต่อกันเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน รวมทั้งสังเกตสัญญาณเตือนที่จะทำร้ายตัวเองไม่ว่าจะเป็นคำพูดหรือพฤติกรรม อย่ามองว่า เป็นการเรียกร้องความสนใจ หรือเรื่องล้อเล่น ให้มองเป็นความต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนที่ต้องทำทันที ด้วยการให้คำแนะนำอย่างจริงใจ ไม่ตำหนิหรือซ้ำเติม ให้กำลังใจสร้างความหวังว่าปัญหานั้นแก้ไขได้ คอยระวังอย่างใกล้ชิดให้อยู่ในสายตา ก็จะช่วยป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายได้ (ที่มา : กลุ่มงานพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพจิต กองสุขภาพจิต)