รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

ที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

เทคโนโลยี AI กำลังเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทำให้การทำงานที่มนุษย์ทำกันมาโดยตลอดกลายเป็นระบบอัตโนมัติมากขึ้น เช่น การสร้างเนื้อหา การบริการลูกค้า และการวิเคราะห์ข้อมูล เทคโนโลยี AI สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพ การทำงาน เพิ่มคุณภาพของผลลัพธ์ และเพิ่มความเร็วในการทำงาน อย่างไรก็ตาม AI ก็มาพร้อมกับความวิตกกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงในการทำงานและการใช้ที่ถูกต้องตามจริยธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลและบรรทัดฐานทางสังคม

แน่นอน...เมื่อทุกคนต้องการความอยู่รอดในยุค AI ระบาดเกลื่อนบนโลกดิจิทัล พร้อมกับการแผ่อิทธิพลไปในทุกทิศทางและทุกมิติของสังคม แล้วองค์กรกับคนจะต้องปรับตัวหรือจูนเข้ากับ AI อย่างไร? เพื่อให้อยู่ร่วมกัน ทำงานร่วมกัน และเป็นเพื่อนคู่คิดกันไปนาน ๆ...คำตอบก็คงมาจบลงตรงที่ให้มอง AI เป็น “AI Assistant”

เมื่อเทคโนโลยี AI ที่พัฒนากันมายาวนานเกือบ 70 ปีแล้ว พัฒนาขึ้นกลายเป็นผู้สร้างสรรค์ (Creator) เสียเองผ่านการป้อนคำสั่ง (Prompt) ด้วยมันสมองของมนุษย์ องค์กรก็ต้องหันมาให้ความสำคัญกับการยกระดับทักษะ อำนวยความสะดวกในการจัดโปรแกรมการฝึกอบรมที่ช่วยให้บุคลากรสามารถปรับตัวเข้ากับเครื่องมือและเทคโนโลยี AI ใหม่ ๆ เพื่อให้เกิดการใช้งานอย่างคล่องแคล่ว ซึ่งองค์กรควรกำหนดเป็นนโยบายที่ชัดเจน พัฒนาแนวทางปฏิบัติที่โปร่งใสสำหรับการใช้ AI/GenAI ซึ่งรวมถึงการพิจารณาประเด็นทางจริยธรรม มาตรการคุ้มครองข้อมูล และการสื่อสารที่ชัดเจนเกี่ยวกับวิธีการผสานรวม AI เข้ากับกระบวนการการทำงานตั้งแต่ต้นจนจบ (Workflow) ซึ่งนโยบายที่เป็นแนวทางและแนวปฏิบัติสามารถสร้างความไว้วางใจและ ลดความกลัวในหมู่บุคลากร

ดังนั้น ผู้นำองค์กรหรือผู้มีอำนาจตัดสินใจควรสื่อสารแบบเปิดกว้างกับบุคลากร เพื่อสร้างความมีส่วนร่วมในการใช้เทคโนโลยีร่วมกันระหว่างมนุษย์กับปัญญาประดิษฐ์ ต้องมีการอธิบายถึงประโยชน์ของ AI/GenAI และสร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการนำไปใช้ แนวทางการทำงานร่วมกันระหว่าง AI กับมนุษย์ จะช่วยให้เป้าหมายขององค์กรสอดคล้องกับความต้องการ นอกจากนี้ AI/GenAI อาจถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดจึงเป็นความจำเป็นที่จะต้องให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งรวมถึงการทำความเข้าใจถึงผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามมา เช่น การลอกเลียนแบบ ความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ การหลอนลวงของ AI  (AI Hallucination)

โลกก้าวเข้าสู่ยุคสมัยแห่งการใช้ระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยทำงาน มนุษย์ก็จะต้องปรับตัวให้ทำงานร่วมกันกับเทคโนโลยี AI เนื่องจากยืนยันและยอมรับได้ว่า AI มีประโยชน์ในการช่วยประหยัดเวลาการทำงานที่มีขั้นตอนซ้ำซ้อน ทำให้มนุษย์หันเห
ความสนใจไปที่การพัฒนาทักษะและการทำงานระดับสูงอื่น ๆ ได้อย่างเต็มที่ทดแทน อย่างไรก็ตาม มนุษย์ก็ต้องไม่หยุดที่จะพัฒนาผลงานของตนเองให้มีเอกลักษณ์ โดดเด่น ทันสมัย แปลกใหม่ และสร้างความประทับใจบนความแตกต่างจากผลงานของคนอื่น ๆ ที่มีอย่างดาษดื่น

AI/GenAI ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในวงการแรงงานมากมาย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ต้องการการสร้างสรรค์และนวัตกรรม เช่น การออกแบบกราฟิก การผลิตเนื้อหา และการเขียนโปรแกรม เป็นที่ประจักษ์ว่า GenAI สามารถทำงานลักษณะดังกล่าวได้รวดเร็วกว่ามนุษย์ แต่ความวิตกกลัวของมนุษย์จะบรรเทาลงไปเมื่อมนุษย์เรียนรู้ที่จะใช้และควบคุม AI/GenAI ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ความกลัวจะคงอยู่ต่อไปกับผู้ที่ติดกับดัก Mindset ตนเองในเรื่องการทำงานและการใช้ชีวิตที่แข็งขืนหรือต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ส่วนมนุษย์ที่กล้าโอบรับและเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ความกลัว AI ก็จะค่อย ๆ ลดหายไป แปรเปลี่ยนเป็นความมั่นใจ และเกิดสมรรถนะหรือศักยภาพใหม่แทนที่ จนสามารถยืดได้ว่า “ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงจะถาโถมเข้ามากี่ระลอก เราก็จะยังคงยืนอยู่และอยู่รอดเสมอ”

ขณะที่ GenAI สามารถทำงานบางอย่างได้ดีกว่ามนุษย์ ส่งผลกระทบต่อชีวิต งาน และอาชีพในหลาย ๆ ด้าน จนงานบางประเภทสูญพันธุ์หรือหายไป แต่จริง ๆ แล้ว GenAI  ก็ยังไม่สามารถทดแทนความคิดสร้างสรรค์และความฉลาดของมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์แบบทีเดียว เนื่องจาก GenAI เป็นเพียงแค่เครื่องมือช่วยเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของงาน แต่ก็มีงานอื่น ๆ ที่ GenAI ไม่สามารถทดแทนฝีมือมนุษย์ได้ เช่น การตัดสินใจ การบริการลูกค้า การจัดการ  

การมาถึงของ AI/GenAI คนกับเครื่องจักรจึงต้องทำงานเกื้อกูลกันในรูป “AI Assistant” องค์กรต้องปลูกฝังความรู้ด้านดิจิทัล  และ AI Literacy และต้องให้บุคลากรทุกคนตระหนักว่า AI/GenAI เป็นเครื่องมือช่วยเพิ่มศักยภาพบุคลากร โดยเฉลี่ยร้อยละ 66 องค์กรต้องสนับสนุนให้บุคลากรทำงานแบบมีส่วนร่วมกับ AI ผ่านการปลูกฝังการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการปรับตัวให้เข้ากับ GenAI ที่มีดีขึ้นในทุกวัน ทั้งนี้เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีที่สุด และใช้ประโยชน์จาก AI เพื่อลดความเสี่ยง สร้างคุณภาพการทำงานและการใช้ชีวิตที่ดีขึ้นแม้ว่าโลกจะรายล้อมไปด้วย AI มากเท่าใดก็ตามครับ...