สถาพร ศรีสัจจัง
สปีชีส์ “เซเปียนส์” ผ่านกระบวนการต่างๆมาอย่างยาวนาน จนสามารถพัฒนาสายพันธุ์กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า “มนุษย์”อย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน “การพัฒนา” นั้นเองได้ก่อเกิดสิ่งแตกต่างจากสปีชีส์อื่นอย่างสำคัญขึ้น นั่นก็คือ พวกเขาสามารถสร้าง “คุณค่า” บางประการที่เรียกเป็นชื่อรวมๆกันในปัจจุบันได้ว่า “วัฒนธรรม” (Culture)ขึ้นมาได้
เหตุทั้งหมดล้วนเกิดจากความเป็น “สัตว์สังคม” (Social animal) ที่มีความจำเป็นต้องมีความสัมพันธ์กับ “ปัจเจก” อื่นๆที่เป็นเซเปียนส์ด้วยกันเพื่อการอยู่รอด(เพราะมีสภาพร่างกายที่อ่อนแอกว่าสัตว์ที่เป็น “ตัวห้ำ” อื่นๆไม่สามารถป้องกันตัวเองได้ในทุกๆเรื่อง/เพราะไม่สามารถ “ผลิต” ทุกอย่างที่จำเป็นต่อการยังชีพด้วยตัวเองได้ทั้งหมด และอาจเพราะการเรียนรู้เรื่อง “เพื่อชีวิตที่ดีกว่า” ฯลฯ) ของพวกเขา
ความสัมพันธ์ระหว่าง “ปัจเจกชน” ดังกล่าวนั้นเอง ที่ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “รูปแบบของสังคม” (Social Forms)ในแต่ละช่วงยุคของการรวมตัวกันของ “คน” ขึ้นเป็น “สังคม” (มีรายละเอียดตามบริบทของ “เงื่อนไขภายใน” ของแต่ละกลุ่ม)
“รูปแบบของสังคม” ที่ว่าดำเนินและพัฒนาไปตาม “ขนาด” และ “ความจำเป็นทางประวัติศาสตร์” ของแต่ละกลุ่มพวก เริ่มจาก “กลุ่ม” (Group) เป็น “ชุมชน” Community) และในท้ายที่สุดก็กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า “เมือง” (City) และ “ประเทศ”(Country)ในที่สุด
พัฒนาการเกี่ยวกับ “ขนาด” และ “ความจำเป็นทางประวัติศาสตร์” ของ “สังคมมนุษย์” ที่ต้องมาอยู่รวมกันเพราะเหตุปัจจัยเบื้องต้นดังได้กล่าวมาแล้วแต่ต้นนั้นเอง ที่กำหนดการจัด “รูปแบบสังคม” ในการอยู่ร่วมกันของพวกเขาอย่างสำคัญยิ่ง
ตั้งแต่เมื่อยังอยู่กันเป็นกลุ่มเล็กๆโน่นแล้ว ที่มีเหตุปัจจัยหลายประการเป็นตัวกำหนดให้ก่อเกิดการแบ่งหน้าที่กันของคนในกลุ่ม ตาม “สภาพ” และ “ความเหมาะสม” ของสมาชิกใน “กลุ่ม” แต่ละคน
“สภาพ” และ “ความเหมาะสม” ที่ว่า เบื้องต้นมักเกิดจากเรื่องทาง “กายภาพ” อันได้แก่ เพศ วัย สุขภาพ ความแข็งแรง ความพิเศษทางสมอง และศักยภาพในการเรียนรู้ (ทั้งต่อสิ่งรอบตัวและเรื่องราวในกลุ่มซึ่งเป็นประสบการณ์เฉพาะราย) เป็นต้น
กล่าวโดยสรุป เงื่อนไขดังกล่าวเหล่านั้น เป็นเหตุเบื้องต้น ที่ทำให้ “มนุษย์” ในยุคแรกๆเกิดมี “การแบ่งงานกันทำ”(Division of Labour) ขึ้น
สิ่งที่เรียกว่า “หัวหน้ากลุ่ม” หรือ “ผู้นำกลุ่ม” และ “ผู้สังกัดกลุ่ม” หรือ “ลูกกลุ่ม” ก็ล้วนเกิดขึ้นตามสภาพที่เป็นจริงของแต่ละ “กลุ่มสังคม” เช่นนี้เอง
ในแง่นี้ “เซเปียนส์” หรือ “มนุษย์” ในยุคแรกๆจึงมีความแตกต่างกับสัตว์(ประเภทที่ต้องอยู่เป็นกลุ่ม)น้อยมาก
พวกเขาไม่ต่างไปจากฝูงมนุษย์วานรสปีชีส์อื่น ฝูงควายป่า วัวป่า หมูป่า หรือบรรดา “สัตว์ฝูง” อื่นใด นั่นคือ ต้องเกิดมี “จ่าฝูง” หรือ “ผู้มีอำนาจนำ” (ในฝูง) ขึ้นโดยสภาพความจำเป็นเพื่อการอยู่รอดตามธรรมชาติ
แต่ที่ “มนุษย์” สามารถมีพัฒนาการด้านต่างๆขึ้นจนแตกต่างจากสัตว์สปีชีส์อื่นๆเป็นอย่างมากก็เพราะ พวกเขามีพัฒนาการทางกายภาพ โดยเฉพาะของ “สมอง” ในการ “เรียนรู้” ดังได้กล่าวมาแล้วแต่เบื้องต้น
การ “เรียนรู้” จนสามารถสร้าง “วัฒนธรรม” (Super structure/Culture) ของพวกเขาขึ้นมาได้นี่เอง ที่เป็น “ปัจจัย”กำหนดให้พวกเขายิ่งนานก็ยิ่งมีพัฒนาการทาง “สังคม” ที่แตกต่างไปจากสิ่งมีชีวิตสปีชีส์อื่นที่อยู่ร่วม “ดาวโลก” มากับพวกเขา-อย่างแทบจะสิ้นเชิง!
สิ่งที่เรียกว่า “ระบบการปกครอง” (Regiment)ในปัจจุบัน ก็คือ"ผลิตภัณฑ์"(Product)ชนิดหนึ่ง ในคำรวมที่เรียกว่า “โครงสร้างขั้นบน” หรือ “วัฒนธรรม” ของมนุษย์นั่นเอง!
การจะก่อเกิด “ระบบการปกครอง” ชุดหนึ่งๆขึ้นใน “สังคม” หนึ่งๆได้นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะใครคนใดคนหนึ่งสร้างขึ้น หรือมีสิ่งวิเศษใดวิเศษหนึ่งเนรมิตประทานมอบให้ก็หาไม่
แต่ล้วนเกิดขึ้นเพราะเงื่อนเหตุและปัจจัยทางอัตวิสัย(เงื่อนไขภายในของสิ่ง)ที่สัมพันธ์กับเงื่อนไขทางภววิสัย(สิ่งภายนอก)ของ “สังคม” นั้นๆเองทั้งสิ้น!
ชื่อเรียกของ “ระบบการปกครอง” แต่ละยุคสมัยนั้น แท้ที่จริงแล้วเพิ่งถูก “นักวิชาการ”(Academician/Technocrat/Scholar)กำหนดเรียกขึ้นมาเมื่อไม่กี่พันหรือกี่ร้อยปีมานี้เอง
“นักวิชาการ” ที่กำหนดชื่อเรียก “ระบบการครอง” ส่วนใหญ่ที่ระบบการศึกษาไทยรู้จักนั้น ส่วนใหญ่มักเป็นนักวิชาการชาวตะวันตก(จึงควรลองคิดไตร่ตรองกันเองดูเถิดว่าตัวเราและ “ระบบการศึกษา” ของเราในปัจจุบันนั้นลอกแบบหรือเลียนแบบมาจากใครที่ไหน?)
จะขอลองยกชื่อมาสัก 2 ชื่อ ที่น่าจะพอมี “เครดิต” ในวงวิชาการไทยปัจจุบัน(คนชอบอ้างถึงกันมาก)มาให้ดูก็แล้วกัน ว่า “นักคิด” 2 คนนี้ เขากำหนดชื่อเรียกและอธิบายถึงเนื้อหา “ระบบการปกครอง” นั้นๆว่าอย่างไรกันบ้าง
คนแรกชื่อ “อริสโตเติล” (Aristotle) คนนี้เป็นชาว “นครกรีก” ( 384-322 ปีก่อนคริสตกาล) เป็น “พระอาจารย์” ของจักรพรรดินักรบหนุ่มผู้ยิ่งใหญ่แห่งมาเซโดเนีย(ก็กรีกนั่นแหละ)คืออเล็กซานเดอร์มหาราช ผู้พิชิตอาณาจักรเปอร์เซียโบราณ(ฟังว่าเป็นผู้สั่งเผามหาราชวัง “เพอเซอโปลิส” อันยิ่งใหญ่และงดงามที่สุดในโลกของเปอร์เซียหรืออิหร่านยุคโบราณด้วยความแค้น ที่กษัตริย์เปอร์เซียพระองค์หนึ่งเคยกรีธาทัพไปพิชิตกรีกและเผา “มหาวิหารอโครโปลิส” จนย่อยยับ) แต่มาพ่าย “สงครามช้าง” ในดินแดนตะวันออกคืออินเดีย จนต้องถอยทัพกลับบ้าน(เหมือนจักรพรรดินิยมอเมริกาที่ต้องถอยข้ามทวีปกลับไปเลียแผลที่บ้านเพราะแพ้สงครามในเวียดนามเมื่อช่วงทศวรรษ 1970 นั่นแหละ!)
อริสโตเติล นำเสนอ “ระบบการเมืองการปกครอง” เป็น 6 ระบบ เรียกว่า “Six Tyes of Aristotle Politics” โดยแบ่งเป็น 3 ลักษณะ คือ ลักษณะแรก ระบบการปกครองโดยคนคนเดียว แบ่งเป็น 2 แบบ คือ ระบบราชาธิปไตย(Monarchy) และระบบทรราชย์(Tyranny) ลักษณะที่ 2 ระบบการปกครองโดยกลุ่มคณะบุคคล แบ่งเป็น 2 แบบ คือ ระบบอภิชนาธิปไตย(Aristocracy) และระบบคณาธิปไตย(Oligarchy) สุดท้ายคือระบบการปกครองโดยคนหมู่มากหรือประชาชน มี 2 แบบเช่นกัน
คือ ระบบโพลิตี้(Polity) และระบบประชาธิปไตย(Democracy)
ในบรรดาระบบทั้งหมดนี้เขาบอกว่าระบบ “Aristocracy” นั้นดีที่สุด ระบบ “monachyไ และ “Polity” ก็ดี ส่วนที่ไม่ดีคือระบบ “Tyranny” “Oligarchy” และ “Democracy”!!
จะ “ดี” หรือ “ไม่ดี” อย่างไรบ้างนั้น( โดยเฉพาะ “Democracy” ?)ก็ไปหาอ่านหาศึกษารายละเอียดกันเอาเองบ้างซิ!(เดี้ยวนี้แค่คลิ๊กหา “อากู๋” ทีเดียวก็ได้รู้แล้ว!)
อีกคนที่อยากยกมาให้ฟังกันด้วยก็คือนาย “Karl Marx” ที่ความคิดเรื่องนี้ของเขาปรากฏอย่างละเอียดยิบอยู่ในแนวคิดเรื่อง “วัตถุนิยมประวัติศาสตร์” (Historical Materialism) ซึ่งเคยพูดถึงมาก่อนแล้วครั้งหนึ่งนั่นแหละ
แต่ถ้าจำไม่ได้ หรือลืม หรืออยากรู้แบบทางลัด(แต่เข้าใจได้อย่างค่อนข้างกว้างและลึก)ก็ขอแนะนำให้ไปหาอ่านบทความวิจัยเรื่อง "วัตถุนิยมประวัติศาสตร์ รากฐานทางปรัชญา และคุณูปการในการเปลี่ยนแปลงสังคม” (Development of Karl Marx's Political Economy Thoughts : An Essay on Historical Materialism)ของ อาจารย์ ร้อยเอกหญิงภัทรมน สุวพันธุ์ แห่งมหาวิทยาลัยรังสิต ใน “วารสารเศรษฐศาสตร์การเมืองบูรพา” ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 ดูเอาเองเถอะแนะนำ “ของดี” ให้จนถึงปากแล้วนะ!!