ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ
อาจารย์ประจำสถาบันการทูตและการต่างประเทศ
มหาวิทยาลัยรังสิต
ก่อนอื่นต้องขอแสดงความห่วงใยไปยังพี่น้องประชาชนทุกท่านที่กำลังประสบกับอุทกภัยกันอยู่ในตอนนี้ครับ ขอให้ทุกท่านปลอดภัย และต้องขอแสดงความเสียใจกับความสูญเสียทุกรูปแบบจากใจจริงๆครับ
ท่านผู้อ่านที่เคารพครับ นับเป็นอีกครั้งที่เราได้ประสบกับปัญหาอุทกภัยที่ทำลายชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย เรื่องนี้จริงๆแล้วก็มีการศึกษาและได้รับความสำคัญในวงการวิชาการเช่นเดียวกันครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้ชื่อเรียกว่า “ความมั่นคงทางน้ำ” หรือ Water Security หากแต่อาจจะไม่ได้รับความสนใจมากนักในเมืองไทย เนื่องด้วยเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำจนเกิดความเคยชิน วันนี้เราจะถือโอกาสนี้ มาเล่าให้ทุกท่านอ่าน อย่างน้อยก็เพื่อให้ทุกท่านได้ตระหนักรู้ร่วมกันครับ
ภัยคุกคามทางน้ำ นั้นเป็นหนึ่งในภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่ได้รับความสนใจมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องด้วยเป็นภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนโดยตรง และเป็นหนึ่งใน “ภัยคุกคามของมนุษย์” (Human Security) ที่ United Nations ให้ความสำคัญ
จากการศึกษารายงาน Global Water Security 2023 Assessment โดย Institute of Water, Environment and Health, United Nations University (UNU) ได้กำหนดองค์ประกอบของการมีความมั่นคงทางน้ำไว้ 10 ประการ ได้แก่ 1) น้ำดื่ม 2) สุขอนามัย 3) สุขภาพของประชาชน 4) คุณภาพของน้ำ 5) การมีอยู่ของน้ำ 6) คุณค่าของน้ำ 7) การบริหารจัดการน้ำ 8) ความปลอดภัยของมนุษย์ 9) ความปลอดภัยทางเศรษฐกิจ 10) ความมั่นคงของแหล่งน้ำ ซึ่งทั้ง 10 องค์ประกอบนี้จะมีคะแนนให้แต่ละประเทศ ด้านละ 10 คะแนน รวมกันเท่ากับ 100 คะแนน ซึ่งประเทศที่มีคะแนนมากกว่า 75 ขึ้นไป ถือว่าอยู่ในระดับที่ “มั่นคง” คะแนน 65-74 อยู่ในระดับ “ค่อนข้างมั่นคง” คะแนน 41-64 อยู่ในระดับ “ไม่มั่นคง” และ คะแนนต่ำว่า 40 อยู่ในระดับ “ไม่มั่นคงอย่างรุนแรง”
เมื่อโฟกัสไปที่ประเทศไทยของเราพบว่า ประเทศไทยมีคะแนนรวมอยู่ที่ 53 คะแนน ถือว่าอยู่ในกล่ม “ไม่มั่นคง” ครับ เอ้า ทำไมเป็นงั้นไปได้? หลายๆท่านอาจจะสงสัยเหมือนผมใช่ไหมครับ เพราะเราดูเป็นประเทศที่ไม่มีปัญหาอะไรเรื่องน้ำท่าเอาเสียเลย
เมื่อศึกษาต่อไปจึงพบว่า มันมีปัจจัยอยู่บางตัวครับ ที่ฉุดคะแนนรวมของเราลงไปอย่างมหาศาล นั่นคือปัจจัยตัวที่ 9 “ความปลอดภัยทางเศรษฐกิจ” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ความเสียหายจากน้ำท่วม” ที่วัดจากการสร้างความเสียหายต่อ GDP ของประเทศในห้วง 100 ปี ซึ่งประเทศไทยของเรา ได้คะแนน 1 เต็ม 10 ครับ เรียกว่าต่ำที่สุด โดยประเทศไทยของเราเกิดน้ำท่วมจน GDP เสียหายไป เท่ากับ 27.7% อยู่ในอันดับ 8 จากข้างท้ายของโลก ตามหลังเพียง บังกลาเทศ เวียดนาม ลาว กัมพูชา อาฟกานิสถาน และ บอสเนีย เฮอเซโกวินา
เอาล่ะครับ สิ่งเหล่านี้บอกอะไรเรา?
ประการที่หนึ่ง ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศแล้งน้ำครับ อันนี้ชัดเจน เพราะเอกสารวิจัยชิ้นนี้ก็ได้บอกไว้เช่นกันว่า ประเทศไทยไม่มีปัญหาเรื่องแล้งโดยธรรมชาติ เพราะฉะนั้น ความแล้งของไทย จึงไม่ใช่ “แล้งจริง” แต่เป็นแล้งที่เกิดจากการบริหารจัดการเท่านั้น
ซึ่งในความเป็นจริงประเทศไทยมีปริมาณน้ำสูงมาก หากแต่ไม่สามารถบริหารจัดการได้ดี จึงเกิดน้ำท่วมบ่อยครั้ง จนกลายเป็นปัญหาส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และกลายเป็นปัญหาความมั่นคงทางน้ำของไทย นอกจากนี้ยังเกิดเป็นความแล้งเทียมในช่วงที่ฝนไม่ตก ทั้งที่จริงๆแล้วมันคือการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลตามธรรมชาติเท่านั้น
ประการที่สอง การบริหารจัดการน้ำ เป็นสิ่งที่ต้องรีบทำโดยด่วน เพราะอย่างน้อยงานวิจัยชิ้นนี้ก็ได้บอกเราว่า เราสูญเสียศักยภาพทางเศรษฐกิจของเราไปกับน้ำท่วมมากขนาดไหน ซึ่งก็ต้องบอกว่า มากกกกกกกกกก มากจริงๆครับ
สาเหตุที่ผมอยากจะเขียนเรื่องนี้ให้ท่านผู้อ่านได้อ่านกันก็เพราะว่า ผมอยากให้น้ำท่วมครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายถ้ามันจะเป็นไปได้ อยากให้รัฐบาลและทุกคนในสังคม ร่วมกันหาแนวทางในการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง หัวใจสำคัญอยู่แค่ว่า “เราจะบริหารจัดการน้ำอย่างไร?” ต้องเริ่มจากตีโจทย์นี้ให้แตกโดยต้องอาศัยข้อเท็จจริงทางภูมิศาสตร์เข้ามาช่วย
เราต้องไม่มองว่ามันเป็นแค่ “ภัยธรรมชาติ” ที่เกิดขึ้นเป็นประจำในประเทศไทยเท่านั้น แต่เราต้องมองให้ลึกและกว้างกว่าเดิม ว่าแท้จริงแล้วผลกระทบของมันคืออะไรกันแน่? แล้วเราจะเห็นความสำคัญที่แท้จริงของการแก้ปัญหานั้นๆ
ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านผ่านช่วงเวลานี้ไปด้วยกันครับ
เอวัง