ในโอกาสที่ประเทศไทยมีคณะรัฐบาลใหม่ภายใต้พรรคร่วมรัฐบาลเดิม ที่มีการขีดเส้นมาตรฐานจริยธรรมในการคัดสรรบุคคลเข้ามาทำหน้าที่รัฐมนตรีแล้ว ยังต้องบริหารประเทศด้วยความโปร่งใส “สยามรัฐ”ขอหยิบยกเอาบทความเรื่อง “ความซื่อสัตย์สุจริต จริงใจต่อกัน” จากหนังสือ “หลักการทรงงาน”  ประมวลคำสอนพ่อแห่งแผ่นดิน(สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา) มาเผยแพร่เพื่อเป็นหลักคิดของผู้บริหารประเทศ ผู้บริหารองค์กรและผู้ปฏิบัติงานในทั้งภาครัฐและเอกชนทุกภาคส่วน  ดังนี้

"ความซื่อสัตย์ สุจริต จริงใจต่อกัน” คือหลักธรรมอันเป็นรากฐานการประพฤติปฏิบัติในการทำงานร่วมกัน และเป็นคุณธรรมสำคัญมากสำกสำหรับผู้ที่ต้องการความสำเร็จและความเจริญ

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงถือคุณธรรมข้อนี้มาก และรับสั่งแก่ข้าราชบริพารว่า ห้ามแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน แต่ให้ยึดหลักผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นเป้าหมาย

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวว่า "การทำงานกับพระองค์มีข้อห้ามที่เป็นพันธะทางใจคือ ห้ามแสวงหาผลประโยชน์จากการทำงาน ไม่งั้นทำงานอย่างนี้ไม่ได้”

"แต่มีคนทำนะ พอพระองค์ทรงทราบ ก็ไม่ได้ลงโทษอะไร การลงโทษที่แรงที่สุด คือ ทรงไม่เรียกใช้ พระองค์ท่านรับสั่งว่า ถ้าอยากรวยให้ลาออกไป ไม่ว่าเลย”

พระองค์มีพระราชดำรัสเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตในหลายวาระ ดังพระบรมราโชวาทพระราชทาน

แก่คณะผู้ว่าราชการจังหวัด ปี 2547

“ถ้าทุจริตแม้แต่นิดเดียว ก็ขอแช่งให้มีอันเป็นไป พูดอย่างนี้หยาบคาย แต่ว่าขอให้มีอันเป็นไป ถ้าไม่ทุจริต ถ้าสุจริตและมีความตั้งใจในธรรม ขอให้ต่ออายุได้ถึง 100 ปี ถ้าอายุมากแล้วก็แข็งแรงแล้วสุจริตจะทำให้ประเทศไทยรอดพ้นอันตราย...”

รวมทั้งพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ทรงเน้นย้ำคุณธรรมข้อนี้เสมอ เช่น

“การที่จะทำงานให้สัมฤทธิผลที่พึงปรารถนา คือที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรมด้วยนั้น จะอาศัยความรู้แต่เพียงอย่างเดียวมิได้ จำเป็นต้องอาศัยความสุจริต ความบริสุทธิ์ใจ และความถูกต้อง เป็นธรรมประกอบด้วย..." (พิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ปี 2520)

“คนไม่มีความสุจริต คนไม่มีความมั่นคง ชอบแต่มักง่าย ไม่มีวันจะสร้างสรรค์ประโยชน์ส่วนรวมที่สำคัญอันใดได้ ผู้ที่มีความสุจริตและความมุ่งมั่นเท่านั้น จึงจะทำงานสำคัญยิ่งใหญ่ที่เป็นคุณประโยชน์แท้จริงได้สำเร็จ” (พิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2522)

"ความจริงใจต่อผู้อื่นเป็นคุณธรรมสำคัญมากสำหรับผู้ที่ต้องการความสำเร็จและความเจริญ เพราะช่วยให้สามารถขจัดปัดเป้าปัญหาได้มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาอันเกิดจากความกินแหนงแคลงใจและเอารัดเอาเปรียบกัน นอกจากนั้น ยังทำให้ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจและความร่วมมือสนับสนุนจากทุกคนทุกฝ้ายที่ถือมั่นในเหตุผลและความดี ผู้มีความจริงใจจะการสิ่งใดก็มักสำเร็จได้โดยราบรื่น..." (พิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2535)

“ความชื่อสัตย์ สุจริต จริงใจต่อกัน จึงเป็นคุณธรรมประการแรกของหลักการทรงงาน

ในหลวงรัชกาลที่ 9”