ทวี สุรฤทธิกุล
“เมื่อจริยธรรมล้มครืน กฎหมายที่สร้างมาค้ำก็เอาไม่อยู่ (กฎหมู่จึงต้องมาลากสังคมนี้ไป)”
ผู้เขียนคงจะเป็นนักรัฐศาสตร์หัวเก่า เพราะยังชอบที่จะเอาข้อคิดหรือหลักการปกครองของนักปราชญ์รุ่นเก่า ๆ มาใช้ศึกษาวิเคราะห์การเมืองการปกครองในปัจจุบันอยู่บ่อยครั้ง อย่างข้อความที่นำมาแสดงไว้ในบรรทัดแรกของบทความนี้ก็เป็นข้อคิดของ “เล่าจื๊อ” นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของจีนที่มีชีวิตอยู่ร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้า (ประมาณ 600 ปีก่อนคริสตกาล) ที่ให้เหตุผลว่าทำไมสังคมจึงต้องมีกฎหมาย
เล่าจื๊อเน้นการปกครองโดยการอยู่ร่วมกันที่ไม่เบียดเบียนกัน ซึ่งการปกครองที่ดีที่สุดคือการปกครองที่ไม่ต้องใช้กฎหมาย(รวมถึงไม่ต้องมีใครมาปกครองใคร) แต่ปกครองกันด้วยจริยธรรมและศีลธรรม ที่เรียกรวม ๆ ว่า “คุณธรรม” ที่หมายถึงความดีที่มีอยู่ในสรรพสิ่ง แต่เมื่อศีลธรรมเสื่อม มนุษย์จึงต้องสร้างกฎหมายมาควบคุมกันและกัน โดยเล่าจื๊อได้ทิ้งท้ายให้คิด(โดยไม่ได้แจ้งทางแก้)ว่า “ถ้ากฎหมายคุมมนุษย์ไม่อยู่ แล้วเราต้องทำยังไงต่อไป” นักรัฐศาสตร์ในสมัยหลัง ๆ บางคน(อย่างผู้เขียนคนหนึ่งนี้)จึงให้คำตอบว่า “ก็คงต้องให้กฎหมู่เข้าจัดการ”
การที่ผู้เขียนตอบอย่างกับว่าไม่มีปัญญาจะหาทางออกอะไรได้อีกแล้วแบบนี้นั้น ก็เพราะได้ติดตามปัญหาการเมืองไทยมากว่า 40 ปี และพบแต่ว่าการเมืองไทยไม่ค่อยมีศีลธรรม กระนั้นแม้จะมีกฎหมายมาควบคุมไว้อย่างแข็งแรงก็ทำอะไรให้ดีขึ้นไม่ได้ ทั้งยังเต็มไปด้วยเรื่องของ “ความชั่วช้าเลวทราม” โดยเฉพาะในหมู่ผู้มีอำนาจ ที่ทำให้การเมืองไทยไม่มีเสถียรภาพ ล้มลุกคลุกคลาน มีรัฐประการบ่อยครั้ง และการเลือกตั้งก็สกปรกทุจริต นักการเมืองต่างกอบโกยโกงกิน อย่างที่ตำรารัฐศาสตร์เรียกว่า “วงจรอุบาทว์” หลายครั้งประชาชนจึงต้องออกมาแสดงพลังอยู่บ่อย ๆ จึงอาจจะเรียกได้ว่าคนไทยได้ใช้ “กฎหมู่” เพื่อยับยั้งการใช้อำนาจเหนือกฎหมายของนักการเมืองและผู้มีอำนาจนั้นมาโดยตลอด คำตอบที่ผู้เขียนคิดขึ้นมาเร็ว ๆ ว่า “ต้องใช้กฎหมู่เอาชนะกฎหมาย” จึงไม่ใช่ความคิดที่ไม่มีหลักคิดอะไรเลยเสียทีเดียว ซึ่งผู้เขียนก็คิดว่าเล่าจื๊อก็คงมีคำตอบอยู่ในใจในแนวนี้เช่นกัน
เรื่องการใช้กฎหมู่ปราบผู้ทำผิดกฎหมายยังมีอยู่ในแนวคิดของฝรั่งในแนวเสรีนิยมอันเป็นที่มาของระบอบประชาธิปไตยนี้ด้วย ได้แก่ จอห์น ล็อค และฌัง ฌาร์ค รุซโซ ที่ให้อำนาจประชาชนในการต่อต้านทรราชย์หรือเผด็จการ รวมถึงพวกประชาธิปไตยที่ไม่ฟังเสียงประชาชน โดยแนวคิดนี้ของล็อคได้ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา และของรุซโซก็มีอยู่ในรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส สำหรับประเทศไทยเราเคยนำแนวคิดนี้มาบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 ที่เรียกว่า “ฉบับปฏิรูปการเมือง” หรือ “ฉบับประชาชน” และในการก่อม็อบเพื่อขับไล่รัฐบาลตั้งแต่ พ.ศ. 2548 ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มาจนถึง พ.ศ. 2557 ของคณะ กปปส.ก็อาศัยแนวคิดนี้ในการนำประชาชนออกมาประท้วงดังกล่าว
บทความนี้ไม่ได้ปลุกระดมหรือยั่วยุให้ประชาชนออกมาเดินขบวนไล่รัฐบาลปัจจุบัน เพราะรัฐบาลยังตั้งไม่เสร็จ เพียงแต่ “หวั่น ๆ ใจ” ว่าอาจจะมีเรื่องวุ่นวายขึ้นในระหว่างที่ชุลมุนกันตั้งรัฐบาลอยู่นี้ เพราะมองไปว่าอาจจะมี “คนที่อยู่เหนือกฎหมาย” เข้ามาเกี่ยวข้องและจัดการตั้งรัฐบาล ที่สุดก็ตั้งรัฐบาลไปได้ จากนั้นคณะ “รัฐบาลเหนือกฎหมาย” นี้ก็จะเข้าครอบงำองค์กรต่าง ๆ ตั้งแต่รัฐสภาทั้ง ส.ส.และ ส.ว. ทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ระหว่างนี้อาจจะมีการนิรโทษกรรม ออกนโยบายเอื้อผลประโยชน์ให้กัน สร้างอิทธิพลทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น กำจัดศัตรูทางการเมือง และสร้างกฎระเบียบต่าง ๆ ไว้คุ้มครองตนเองหลังเลือกตั้งในครั้งต่อไป ซึ่งคาดกันว่าสภาชุดนี้น่าจะอยู่ครบเทอม และมีการเลือกตั้งอีกครั้งใน พ.ศ. 2570 ซึ่งในครั้งนี้นักการเมืองกลุ่มนี้จะสร้างปรากฏการณ์ให้ยิ่งใหญ่กว่าสภาในปี 2548 ที่พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งมาเป็นพรรคใหญ่พรรคเดียวถึง 377 เสียง จากจำนวน ส.ส. 500 คน โดยที่คนกลุ่มนี้เชื่อว่าทหารจะไม่กล้าปฏิวัติเหมือนในปี 2549 เพราะทหารไม่ได้เป็นปึกแผ่นและ “กล้าหาญ” เหมือนทหารในยุคก่อน ๆ นั้น
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อโดยหลัก “บุญญาธิการประเทศ” ว่า การจัดตั้งรัฐบาลนี้น่าจะประสบความล้มเหลว หรือถ้าสำเร็จก็อยู่ได้ไม่นาน หรือจะอยู่นานไปก็จะต้องมีอันเป็นไป “ไม่ครบเทอม” โดยอาจจะยังไม่ต้องถึงขั้นใช้ “กฎหมู่ปราบพวกเหนือกฎหมาย” หรือให้ประชาชนออกมาตามท้องถนน
ประการแรก คนที่จะมาประกอบกันเป็นคณะรัฐบาลชุดนี้ “มีปัญหาตั้งแต่หัวจรดหาง” คือตั้งแต่คนที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีก็มี “ตำหนิเน่า” เกี่ยวข้องด้วยวงศ์ตระกูลที่ทุจริตคดโกง ส่วนคนที่กำลังวิ่งเต้นกันเข้ามาให้แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีก็มี “ตำหนิเน่า” มากมายเช่นกัน อันอาจจะต้องใช้เวลาตรวจสอบคุณสมบัติเป็นเวลานาน หรือมีการเปลี่ยนตัว เปลี่ยนขั้ว เปลี่ยนกลุ่มกันวุ่นวาย จนแม้เมื่อตั้งไปแล้วความเน่าทั้งหลายก็จะค่อย ๆ ตามไปเสียบสอยให้ร่วงลงมาเป็นราย ๆ จนรัฐบาลนั้นตั้งอยู่ไม่ได้
ประการต่อมา พลังมวลชนที่เคยหนุนกลุ่มการเมืองเหล่านี้ เช่นคนเสื้อแดงของพรรคเพื่อไทย หรือคนรักลุง หรือคนรักชวน ฯลฯ ก็จะไม่ได้เป็นกลุ่มพลังที่เหนียวแน่น แล้วยิ่งคนเหล่านี้จะได้เจอต่อไปว่า รัฐบาล “ผสมมั่วพันทาง” ที่ไม่ได้คัดเกรดหรือดูเพ็ดดีกรี ทำนโยบายอะไรก็ไม่สำเร็จ ทั้งเงินดิจิตอล 10,000 บาท ลดค่าพลังงาน หรือการจ้างงาน ก็จะยิ่งหมดความศรัทธาเชื่อถือ นายกรัฐมนตรีก็ไม่กล้าที่จะยุบสภา เพราะเสื่อมถอยความนิยมจนอาจจะต้องแพ้การเลือกตั้งอย่างแน่นอน ดังนั้นรัฐบาลนี้จึงมีลักษณะที่ “ถูลู่ถูกัง” คือลากกันไปอย่างอุจาดน่าสมเพช จนถึงขั้นอาจจะทรยศและหักหลังกัน อันทำให้รัฐบาลนี้อยู่ได้ไม่ครบเทอม
ประการสุดท้าย ผู้เขียนเชื่อว่าเมื่อรัฐบาลชุดนี้ตั้งอยู่ไม่ได้ และอาจจะต้องมีการเปลี่ยนรัฐบาลในเวลาต่อไป (ถ้านายกรัฐมนตรี “เด็กน้อย” นี้ไม่ชิงยุบสภาเสียก่อน ซึ่งคงจะไม่กล้ายุบเพราะไม่พร้อมและพรรคจะพังดังเหตุผลในประการก่อนนี้) ซึ่งรัฐบาลชุดใหม่นี้น่าจะเป็นรัฐบาลผสมแบบเสียงข้างน้อย และตั้งขึ้นมาเพียงชั่วคราว แล้วก็จะยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ต่อไป แต่ถ้ารัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเด็กน้อยที่มีความวุ่นวายมาก ๆ และไม่ยอมถอยออกไป หรือจะจัดตั้งรัฐบาลใหม่มาแทนก็ไม่ได้ ทหารที่ว่าอ่อน ๆ หรือหลบมุมอยู่นี้ก็อาจจะต้องเข้ามาดำเนินการ “อะไรสักอย่าง” ต่อไป
ขอทุกท่านอย่าเพิ่งเบื่อการเมืองไทย ตอนนี้มีข้อความหนึ่งแชร์กันในโซเชี่ยลให้ว่อน เขาบอกว่า “คนที่คิดว่าตัวฉลาดจนไม่อยากยุ่งเรื่องการเมือง ที่สุดก็จะถูกปกครองด้วยคนที่โง่(และเลว)กว่า”