“พิจารณาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญตามคำปรารภที่ว่า รัฐธรรมนูญนี้วางกลไกป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบที่เข้มงวด เด็ดขาด เพื่อมิให้ผู้บริหารที่ปราศจากคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลเข้ามามีอำนาจในการปกครองบ้านเมือง หรือใช้อำนาจตามอำเภอใจ
จึงบัญญัติคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีไว้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 เป็นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเพิ่มเติมจากลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98
ถูกร้องที่ 1 กล่าวอ้างว่าตนมีภูมิหลังจากการประกอบธุรกิจ มีประสบการณ์ทางการเมืองที่จำกัด ไม่มีความรู้ทางด้านนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ จึงไม่อาจวินิจฉัยว่าผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นข้ออ้างที่รับฟังไม่ได้ เพราะนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในฝ่ายบริหาร
ทุกการตัดสินใจมีผลกระทบต่อบ้านเมือง จึงต้องมีความรับผิดชอบในทุกการกระทำประกอบกับหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตและความน่าเชื่อถือหรือไว้วางใจต่อสาธารณชนชั้นนั้น เป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ประจักษ์ชัดในลักษณะภาวะวิสัย”
ผลจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญคดีถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผูกพันไปทุกองค์กร และบรรทัดฐานสำคัญให้กับรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ในการจัดสรรผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีที่ต้องใช้เวลาในการกลั่นกรองคุณสมบัติอย่างละเอียดและถี่ถ้วน โดยที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบทางด้านการเมืองและตัวแทนกลุ่มก๊วนทางการเมืองได้
และกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การจัดคณะรัฐมนตรีนั้นมีอาการฝุ่นตลบ โดยเฉพาะนายภูมิธรรม เวชยชัย แกนนำพรรคเพื่อไทยก็ออกมายอมรับว่า มีแกนนำพรรคการเมืองหนึ่งโทรศัพท์มาตรวจสอบข่าวกันถึง 3 คน
ท่ามกลางสมรภูมิที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งยังไม่ทันจะได้แถลงนโยบายและเข้าไปบริหารประเทศ ก็จ่อถูกตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องในอดีตต่างๆ ทั้งเรื่องที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ และคำประกาศบนเวทีหาเสียงช่วงเลือกตั้ง เดินหน้าลดค่าน้ำค่าไฟค่าแก๊สทันทีที่ได้เป็นรัฐบาล รวมทั้งกรณีข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยรั่วก็วนกลับมาเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง
ทำให้มีการจับตารัฐบาลแพทองธารจะดำรงอยู่ได้นานเท่าไหร่