เมื่อการตั้งครม.ชุดใหม่ มี “เงื่อนไข” ที่ทำให้หลายพรรคร่วมรัฐบาล ต่างอยู่ในอาการ “สะดุด” กันถ้วนหน้า เพราะ “บทเรียน” จากที่ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี มีใบสั่ง ส่งชื่อ “พิชิต ชื่นบาน” ทนายความส่วนตัว มาให้ “เศรษฐา ทวีสิน” แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี จนกลายเป็น “เผือกร้อน” พ่นพิษ เขี่ย เศรษฐา จนตกเก้าอี้นายกฯมาแล้ว
แต่เศรษฐา คือ “คนอื่น” ที่ ทักษิณ ไม่ต้องวิตกกังวล มากเท่ากับครั้งนี้ เมื่อ “แพทองธาร ชินวัตร” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ต้องก้าวขึ้นมาเป็นนายกฯคนที่ 31 แทน เพราะแพทองธาร คือลูกสาวที่ทำตาม คำสั่งของพ่อ ดังนั้นอะไรก็ตามที่เป็น “ความเสี่ยงสูง” จะต้อง “สกัด” ไม่ให้มากระทบถึงตัวนายกฯหญิง คนใหม่
ปัญหาจากการจัดทัพตั้งครม.ชุดใหม่ ที่จะเข้ามาทำงานร่วมกับ แพทองธาร จึงไม่ได้อยู่ที่ “จำนวนสส.” เพื่อการันตีเสถียรภาพของรัฐบาลเท่านั้น หากแต่ยังอยู่ที่ “คุณสมบัติ” ของผู้ที่จะเข้ามาเป็น “รัฐมนตรี” จะต้องไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อการจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีกลายเป็นตัวเร่ง ทำให้ปัญหาเดิมที่เคยคุกรุ่นในพรรคพลังประชารัฐ ระหว่าง “ขั้วผู้กอง” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค กับ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค เดินมาถึงจุดแตกหัก ต่างฝ่ายต่างงัดเกมสู้ เหมือนไม่เคยเป็น “นาย” กับ “ลูกน้อง” กันมาก่อน
ทว่า แรงปะทะที่พรรคพลังประชารัฐ ได้ส่งผลไปถึง “พรรคประชาธิปัตย์” พรรคฝ่ายค้านที่มีความหวังว่าจะได้รับ “เทียบเชิญ” ให้เข้าร่วมรัฐบาล มาตั้งแต่คราวเป็น “นายกฯเศรษฐา” และเมื่อเกิดปัญหา พรรคเดียวแต่มีสองระบบ ที่พรรคพลังประชารัฐ จึงทำให้พรรคประชาธิปัตย์ ถูกจับตาทันทีว่า รอบนี้มีโอกาส “ได้ลุ้น” หรือไม่ ?
ท่ามกลางกระแสข่าวที่สะพัดอย่างต่อเนื่อง ว่ากลุ่มร.อ.ธรรมนัส พูดคุยกับ “เสี่ยต่อ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่เมื่อคืนของวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา นัยว่าเป็นการ “จับมือ” เกาะกลุ่มกันเข้าร่วมรัฐบาล
แต่ล่าสุดมีรายงานข่าวจากพรรคประชาธิปัตย์ว่า แม้ในการประชุมกรรมการบริหารพรรค เมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยมีมติให้ “อำนาจเต็ม” ในการเจรจาแก่ เฉลิมชัย และ “เดชอิศม์ ขาวทอง” เลขาฯพรรค เพื่อตัดสินใจว่าจะนำพรรคเข้าร่วมรัฐบาลหรือไม่
จนแล้วจนรอด กลับไม่มีสัญญาณ “ทางบวก” ที่จะดึง พรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วมรัฐบาล “แพทองธาร 1” รอบนี้แต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี สถานการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีอยู่ 25 สส. ยังถูกแบ่งออกเป็น สองกลุ่ม คือกลุ่มที่สังกัดเฉลิมชัย มี 21 สส. ส่วนอีก 4 สส. ซึ่งเป็นกลุ่มผู้อาวุโส นำโดย ชวน หลีกภัย ,บัญญัติ บรรทัดฐาน , จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ และ สรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา คือปีกที่ประกาศตัวชัดเจน ไม่ขอร่วมรัฐบาล ดังนั้นความขัดแย้งที่มีอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ ก็ดูจะไม่แตกต่างไปจากพรรคพลังประชารัฐ ที่ต่างดำรงอยู่ในลักษณะที่เรียกว่า 1พรรค 2 ระบบ เพียงแต่วันนี้มีเรื่องของ “เก้าอี้รัฐมนตรี” มาเป็นตัวเร่ง เขย่าทั้งสองพรรค อย่างที่เห็น !!