สถาพร ศรีสัจจัง

เมื่อ “กลุ่มคน” ผู้สืบเชื้อสายจากมนุษย์วานรสปีชีส์ “เซเปียนส์” ได้พัฒนาตัวเองแตกต่างจากสปีชีส์อื่น โดยเหตุที่สมองของพวกเขาพัฒนามากขึ้น จนก่อเกิดการ “เรียนรู้” เพื่อ “การอยู่รอดของชีวิต” ที่มี “รายละเอียด” ยิ่งขึ้นเรื่อยๆ 

สำคัญที่สุดก็คือ พวกเขาเริ่มรู้จักทำการ “ผลิต” แทน “การเก็บเกี่ยวจากสิ่งธรรมชาติ” อย่างในยุคก่อนๆ (primitive commune)

และสิ่งที่เรียกว่า “การผลิต” (Production) นี้เอง ส่งผลอย่างมหาศาลก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “วัฒนธรรม” (Culture) อันเป็น “คุณค่า” (Value) จำเพาะ ซึ่งมีแต่ “มนุษย์” เท่านั้นที่สามารถจะสร้างขึ้นได้!

สิ่งซึ่ง “มนุษย์” ในภายหลังเรียกว่า “วัฒนธรรม” ที่ว่าคืออะไรกัน?

ถ้าใช้แนวคิดแบบ “วัตถุนิยมวิภาษวิธี” (Dialectical Materialism) ของชาว “ลัทธิมาร์กซ์” (Marxism) มา “Approach”…

“Approach” นี้เป็นภาษาอังกฤษที่หมายถึง วิธีการเข้าถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพื่อที่จะเข้าใจและอธิบายถึงสิ่งนั้นหรือเรื่องนั้นอย่างเป็นเหตุเป็นผลตามหลัก “วิทยาศาสตร์” ที่ฝรั่งเรียกว่า “scientific” ที่น่าจะแปลเป็นคำไทยได้ว่า “สภาวธรรม” นั่นเอง

…คำ “สภาวธรรม” ที่ว่านี้ สมเด็จพระพุทธโกษาจารย์(ป.อ.ปยุตโต)ได้ให้ความหมายไว้ว่า “คำสภาวธรรมนี้ แปลว่า สิ่งที่มีภาวะของมันเอง ถ้าแปลอย่างง่ายๆก็คือ สิ่งที่มีอยู่นั่นเอง” (ดู “สัจธรรม กับ จริยธรรม” โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ป.อ.ปยุตโต)

ก็น่าจะอรรถาธิบายโดยสรุปได้ประมาณว่า…

แท้ที่จริงแล้ว “วัฒนธรรม” ก็คือ “วิถีปฏิบัติ” เกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งของมนุษย์ เพื่อตอบสนอง “การอยู่รอด” ที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น ที่สะดวกสบายยิ่งขึ้น ที่ดีกว่ายิ่งขึ้น ที่ให้ความรู้สึกมั่นคงยิ่งขึ้น ฯลฯ เพื่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ผู้นั้น (ปัจเจก)หรือ “กลุ่ม” นั้นๆ(สังคม) ซึ่งจะมีรายละเอียดซับซ้อนน้อยหรือมากไปตามเงื่อนไข และ เหตุปัจจัยแห่งการ “เรียนรู้” ของ “เขา”และ “พวกเขา” ที่โยง เกี่ยวกับ “วิถีการผลิต” (Mode of Production) โดยตรง

กล่าวให้ชัดยิ่งขึ้น “วัฒนธรรม” ก็คือ ภาพสะท้อนของ “แรงงาน” ในการสร้าง “ผลิตภัณฑ์” (Product) ชนิดใดชนิดหนึ่ง หรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ของมนุษย์นั่นเอง

ไม่ว่าสิ่งที่พวกเขา “ผลิต” หรือ “สร้าง” ขึ้นมานั้น จะเป็น “วัตถุ” (Material) หรือ “อวัตถุ” (immaterial) ก็ตาม

(ใครที่สนใจเรื่อง “อวัตถุ” ในทรรศนะของชาวลัทธิมาร์กซ์สามารถศึกษารายละเอียดในเรื่องนี้ได้จากงานเขียนทั้งหลายของบรรดา “Neo Marxist” สำนัก “Autonomist Marxism” ที่แพร่หลายมากในช่วงทศวรรษ 1960-1970)

ดังนั้น วัฒนธรรม ทุกชนิดทุกประเภทของมนุษย์จึงข้องเกี่ยวโดยตรงกับ “แรงงาน” (Labour) ของมนุษย์ในด้านหนึ่ง ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง อยู่เสมอ

ทั้งแรงงานด้านกายภาพ (physical Labour) และ แรงงานด้าน “ความคิดจิตใจ” (Mental Labour)

“การผลิต” จึงเป็นเสมือน “ฐานราก” (Foundation) หรือ “โครงสร้างชั้นล่าง” (Base Structure) ของคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ ทั้งในแง่ “ปัจเจก” (Individual) และ “สังคม” (Social)

ส่วน “วัฒนธรรม” (Culture) หรือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ทั้งที่เป็น “รูปธรรม/วัตถุ” (Concrete/Material) และ “นามธรรม/อวัตถุ” (Abstract/Immaterial) จึงเปรียบเสมือน “โครงสร้างชั้นบน” (Super Structure) ของความเป็น “สังคมมนุษย์”

ประเด็นหนึ่งที่ต้องเน้นว่าสำคัญยิ่ง เกี่ยวกับ “หลักการ” ในเรื่องนี้ ตามแนวคิดของ “คาร์ล มาร์กซ์” ต้นคิดผู้ผลิตสร้าง “วิธีวิทยา” (Methodology) แบบที่เรียกว่า “วัตถุนิยมวิภาษวิธี” ก็คือ…

ทั้ง “การผลิต” ที่ถือเป็น “โครงสร้างชั้นล่าง” หรือ “โครงสร้างพื้นฐาน” กับ “วัฒนธรรม” ที่เป็น “โครงสร้างชั้นบน” ซึ่งมนุษย์ผลิตสร้างขึ้นนั้น มีความสัมพันธ์ และ “ส่งผล” ต่อกันในแง่ “กลับไปกลับมา” แบบ “ขดลวด” เสมอ!

กล่าวคือ เมื่อมนุษย์ผลิต “วัฒนธรรม” ใดขึ้นมา “วัฒนธรรม” นั้นก็จะกลายเป็น “สิ่งภววิสัย” (objective) ที่จะมา “กำหนด” คุณลักษณะ หรือ “คุณสมบัติ” บางประการของ “มนุษย์” หรือ “สังคมมนุษย์” ให้เคลื่อนเปลี่ยน “ไปสู่” คุณภาพใหม่ ในลักษณะการค่อยๆสั่งสมเชิงปริมาณไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพ

โดยมีเงื่อนไข “ความขัดแย้งภายใน” ที่ดำรงอยู่จริงของสิ่งนั้นเป็นตัว “ชี้ขาด” ว่าจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ หรือจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นคุณภาพใหม่ในลักษณะใด!

นี่คือกฎพื้นฐานของหลักการ “วัตถุนิยมวิภาษวิธี” ที่สำคัญยิ่งของสำนักคิด “ว่าด้วยความขัดแย้ง” (The Theory of Conflict) ที่มี “คาร์ล มาร์กซ์” เป็นผู้นำเสนอกระบวนทัศน์คนสำคัญ  ซึ่งบรรดา “นักคิด” หรือ “นักเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม” สายนี้ ยึดกุมเป็นเครื่องมือในการ “คิด”

เพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับ “ปรากฏการณ์ของสิ่ง” ต่างๆ (เช่น สังคมมนุษย์) ตามหลักการ “แสวงหาความจริงจากข้อเท็จจริง”อันลือลั่นของประธานเหมา เจ๋อ ตุง ผู้นำคนสำคัญในการ “ปฏิวัติ” เปลี่ยนแปลงประเทศจีนเก่าให้ก้าวสู่ประเทศจีนยุคใหม่ อย่างที่เห็นๆกันอยู่ในทุกวันนี้!

ตามแนวคิดของ “นักวิชาการ” หรือ “นักคิด” ในสายสกุลนี้ จึงเห็นว่า “ระบบสังคม” (Social System) ระบบหนึ่งๆของสังคมมนุษย์ ที่เคลื่อนเปลี่ยนจากระบบหนึ่งไปสู่ระบบหนึ่งจึงล้วนมีความขัดแย้งภายในเกี่ยวกับ “พลังในการผลิต” (Production Power) ที่ขยายตัวของสังคมมนุษย์นั้นๆเป็นตัวกำหนดชี้ขาดอยู่เบื้องหลัง

ให้ก่อเกิดรูปแบบใหม่ๆของ “ความสัมพันธ์ทางการผลิต” ชุดหนึ่งขึ้น เพื่อ “ตอบสนอง” ความจำเป็น และ ความต้องการเพื่อการอยู่รอดที่สมบูรณ์กว่าของมนุษย์ในสังคมนั้นๆ

หาใช่เกิดจากเจตนารมณ์ของใครคนใดคนหนึ่ง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง พลังวิเศษใดวิเศษหนึ่ง หรือ จากมหาอำนาจภายนอกหนึ่งใดก็หาไม่

ดังนั้นคำว่า “ระบบศักดินานิยม” (Feudalism) ที่เป็นชื่อเรียกระบบสังคมมนุษย์ในยุค “สังคมเกษตรกรรม” ตามหลักวิชา “รัฐศาสตร์” (Political Science) ที่เกิดจาก “ระบบการศึกษาแบบแยกส่วน” ของสังคม “ระบบตะวันตก” ยุคใหม่ จึงเป็นเพียง “วาทกรรม” (Discourse) ทาง “วัฒนธรรม” อีกชุดหนึ่ง เท่านั้นเอง

ดังนั้นสำหรับสังคมไทย เมื่อกล่าวถึงคำ “ระบบศักดินานิยม” (Thai Feaudalism) ก็คงต้องว่ากล่าวกันอย่างจำเพาะตามหลักการ “แสวงหาความจริงจากข้อเท็จจริง” ดังที่ได้กล่าวมาก่อนหน้านี้แล้ว

และแน่ละในเรื่องนี้คงจะละเลยข้ามนาม “จิตร ภูมิศักดิ์” กวี นักเขียน นักวิชาการ และนักปฏิวัติสังคม ผู้รังสรรค์บทความขนาดยาวเรื่อง “โฉมหน้าศักดินาไทย” อันยิ่งใหญ่ไปไม่ได้อย่างแน่นอน!!!