ทวี สุรฤทธิกุล

ประชาธิปไตยไม่ฆ่ากันให้ตายคาเวทีฉันใด การเมืองไทยก็ละมุนละไมอยู่กันไปแบบ “นุ่ม ๆ” ฉันนั้น

ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช น่าจะได้รับการยกย่องว่าเป็น “หนู” ที่กล้าเตือน “ราชสีห์” ดังที่ได้เล่ามาในสัปดาห์ก่อนว่า ท่านได้เตือนจอมพล ป. พิบูลสงคราม ไม่ให้ใช้ความรุนแรงกับนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม โดยการอุปมาอุปไมยในทางอ้อม ว่าถ้าจะปกครองในระบอบประชาธิปไตย เขาจะไม่ต่อสู้เข่นฆ่ากันจนตาย เหมือนกับการต่อยมวยสากล เมื่อไล่ต้อนคู่ต่อสู้จนเข้ามุมสู้ไม่ได้แล้ว ก็ต้องถอยออกมาให้โอกาสได้สู้กันใหม่ นั่นคือการเลือกตั้งที่ให้โอกาสกับทุกๆ ฝ่ายได้แก้ตัวแก้ไข อันเป็นความงดงามของระบอบประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม ก็มีความเชื่อกันว่าคนไทยเป็นคนที่อ่อนน้อมถ่อมตนอยู่ในสายเลือด และไม่นิยมความรุนแรง อีกทั้งเป็นสังคมของศาสนาพุทธ จึงทำให้การเมืองไทยมีลักษณะดังกล่าวไปด้วย แต่ถ้าเราจะมองให้ลึกลงไปอีก อย่างที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ท่านเคยพูดถึง(จนคนบางคนก็หาว่าท่าน “บ้ากษัตริย์”) ก็เป็นด้วยสังคมไทยมี “ห้ามล้อ” หรือตัวหยุดความรุนแรง ในที่นี้ก็คือพระมหากษัตริย์ ดังที่ปรากฏให้เห็นมาตั้งแต่ครั้งอดีตกาล และเด่นชัดยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ที่มีรัฐประหารเมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้น

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่าถ้าตอนนั้นรัชกาลที่ 7 ไม่ทรง “ยอมแพ้” และมอบพระองค์ให้กับคณะราษฎร ประเทศไทยคงมีสงครามนองเลือดกันทั่วประเทศ และด้วยการแสดงความกล้าหาญเช่นนี้ ทำให้คณะราษฎรน่าจะ “ช็อค” ที่สุดก็ต้อง “ตกหลุมแห่งความละมุนละไม” นั่นคือไม่กล้าที่จะแสดงความรุนแรงหรือก้าวร้าวอะไรให้มากไปกว่านั้น รวมถึงที่รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชวินิจฉัยต่างตอบโต้และตักเตือนคณะราษฎร ก็ทรงกระทำด้วยขัตติยะมานะ คือความเป็นผู้นำที่เหนือกว่า ถ้าใช้ภาษาชาวบ้านก็คือ พระองค์ทรงแสดงความเด็ดเดี่ยวเข้มแข็งจนทำให้พวกล้มเจ้านั้น “หัวหด” ซึ่งอารมณ์อย่างนี้ได้เกิดขึ้นกับคนไทยไปทั่วประเทศ คือความรู้สึกที่ว่า “ไอ้พวกคณะราษฎรนี้มันก็ไม่เท่าไหร่ พอเจ้านายท่านเอาจริงขึ้นมา ก็สู้ท่านไม่ได้” ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้เทียบเคียงเหมือนเมื่อครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเจ้าทรงกระทำศึกสงครามหลาย ๆ ครั้งอย่างทรหด ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าเมื่อไหร่ที่คนไทยเอาจริง ข้าศึกที่รบชนะไปทั่วสิบทิศก็ต้านนักรบไทยไม่ได้ และเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “กฤษฎาภินิหารอันบดบังมิได้” อันหมายถึงอำนาจเหนือของพระมหากษัตริย์ที่ไม่มีใครเทียบเคียง (ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้นำมาเขียนด้วยชื่อนี้เป็นหนังสือไว้ด้วย)

การเมืองอันละมุนละไมของไทยเป็นด้วย “กฤษฎาภินิหาร” ของพระมหากษัตริย์นั้นแน่นอนยิ่ง นอกจากจะเป็น “ห้ามล้อ” ลดระดับความรุนแรงในเหตุการณ์ร้าย ๆ ทางการเมืองมาโดยตลอดแล้ว ยังทรงเป็น “ยาลม ยาดม ยาหม่อง” หรือยาสารพัดประโยชน์รักษาสารพัดโรค ป้องกันสารพัดภัย และช่วยบำรุงหัวใจให้คนไทยชุ่มชื่น กระปี้กระเป่า และมีกำลังวังชาในการที่จะต่อสู้กับชีวิตนั้นต่อไป แม้แต่ในคราวที่บ้านเมืองมีจลาจลวุ่นวาย หรือมองหาทางออกและทางไปไม่ได้ โดยเฉพาะในครั้งรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลมหาราช พระบรมราชชนก โดยเฉพาะที่เป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือการเอาชนะภัยคอมมิวนิสต์ ที่ประเทศเพื่อนบ้านล้วนถูกยึดครองโดยคอมมิวนิสต์ไว้ได้หมด แต่ประเทศไทยกลับอยู่รอด แล้วคอมมิวนิสต์นั่นเองที่ต้องออกมาจากป่ามาขอเป็น “ผู้ร่วมพัฒนาชาติ” นี่ก็ด้วย “ความละมุนละไม” ที่ทรงกระทำผ่านโครงการพระราชดำริต่าง ๆ เพื่อลบล้างข้อกล่าวที่คอมมิวนิสต์ชอบอ้างว่า “ข้าราชการกดขี่ขูดรีดประชาชน”

แน่นอนว่าประเทศไทยก็มีการพัฒนาในด้านต่าง ๆ มามาก จนปัญหาหลาย ๆ อย่างของคนไทยก็ไม่น่าจะคงเป็น “พระราชภาระ” อีกต่อไป ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็เคยมองอนาคตในเรื่องนี้ก่อนที่ท่านจะถึงแก้อสัญกรรมใน พ.ศ. 2538 ไว้ว่า “ที่พึ่ง” อันดับต่อไปที่จะมาช่วยแบ่งเบาพระราชภาระก็คือ “นักการเมือง” ที่แม้จะดี ๆ ชั่ว ๆ อย่างไร ก็ยังมีความใกล้ชิดหรือมาจากประชาชน ซึ่งตอนนั้นผู้เขียนได้ถามท่านขึ้นว่า แล้วข้าราชการที่เป็นแกนหลักในการบริหารนโยบายต่าง ๆ นั้นเล่า เป็นที่พึ่งของประชาชนไม่ได้หรือ ท่านก็ตอบว่าข้าราชการนี่แหละตัวดี เพราะต้องประจบประแจงนักการเมือง และยังอยู่ในระบบไพร่หรือศักดินาอย่างมัวเมามากเสียกว่าชาวบ้าน คือคิดแต่จะพึ่งพิงเจ้านาย ซ้ำร้ายยังคิดแต่จะเป็นเจ้านายเหนือประชาชนนั้นอีก

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ยังพูดถึงนักการเมืองไทยว่าก็ยังมีปัญหาอยู่มาก โดยเฉพาะ “ความบ้าอำนาจ” เช่นในเวลาที่มาจากการเลือกตั้งด้วยกัน ก็ฆ่าฟันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย หลายครั้งก็แทบจะไม่เผาผีกัน แต่พอมีการรัฐประหารก็วิ่งเข้าหาคณะรัฐประหาร ประจบประแจงผู้มีอำนาจ รวมถึงยอมอยู่ใต้อำนาจของข้าราชการเหล่านั้นโดยดี ไม่สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ และภายใต้ระบบที่นักการเมืองวิ่งเข้าหาข้าราชการนี่เอง ทำให้สังคมไทยมีความเชื่อไปโดยปริยายว่า ทั้งสองฝ่ายน่าจะมีผลประโยชน์เชื่อมโยงกัน โดยเฉพาะฝ่ายนักการเมืองที่มองว่าข้าราชการ(โดยเฉพาะทหาร)สามารถเข้าถึง “อำนาจสูงสุด” ในทางการเมืองไทยนั้นได้ดีกว่า แน่นอนว่าย่อมกระทบกระเทือนถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ตอนที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์แสดงความคิดเห็นออกมาแบบนี้ เป็นช่วงท้าย ๆ ในสมัยรัฐบาลของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ใน พ.ศ. 2531 ที่มีคณะนักวิชาการ 99 คน ยื่นฎีกาให้พลเอกเปรมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยข้อหาหนึ่งที่แม้ว่าในฎีกาจะไม่ได้บอกไว้ตรง ๆ แต่ก็สามารถตีความไปได้ก็คือ “ทำให้พระมหากษัตริย์อยู่ในอันตราย” ซึ่งท่านอาจารย์ก็เห็นด้วยและแสดงความเห็นดังที่กล่าวมานั้นออกมา

ผู้เขียนมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่พอสมควรในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับหลังสุด (2540, 2550 และ 2560) มองเห็นว่าคณะทหารที่กำกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 กับ 2560 นั้นมีความวิตกกังวลอย่างมากต่อ “วิกฤติระบอบทักษิณ” โดยเฉพาะในเรื่องของการ “จาบจ้วงพระมหากษัตริย์” เพราะในฉบับ 2540 ไม่ได้มีความรัดกุมในเรื่องนี้ แต่นั่นแหละแม้ว่ารัฐธรรมนูญที่มีอยู่ในปัจจุบันจะมีบทบัญญัติที่ปกป้องพระมหากษัตริย์ไว้อย่างแข็งแรง  แต่เอาเข้าจริง ๆ  ก็คงปกป้องไว้ไม่ได้ดีนัก โดยเฉพาะถ้านักการเมืองและข้าราชการยังไม่เลิกที่จะเข้าไป “แอบอิงเกี่ยวพัน” ดังข่าวเล่าลือที่ “ปลิวว่อน” ไปทุกหลังคาเรือน

สิ่งที่จะต้องเผชิญกันต่อไปก็คือ เมื่อสถาบันนักการเมืองกับข้าราชการยังไม่ยอมปรับตัวและยังหวังพึ่งพิงอำนาจแบบเก่า ๆ อยู่ดังเดิม ในขณะที่ประชาชนก็หวังพึ่งสถาบันที่อยู่สูง ๆ เหล่านั้นไปเป็นส่วนใหญ่ การเมืองไทยก็น่าจะอยู่ในภาวะ “สะดุ้งเป็นเฮือก ๆ” คือเดี๋ยวตกใจและดีใจสลับกันไปเช่นนี้ไปอีกนาน ที่ผู้เขียนมองแบบโลกสวยว่า “การเมืองอันละมุนละไม” เพราะเชื่อว่ายังไง ๆ คนไทยก็ไม่ฆ่ากันตายจนหมดประเทศ

ขนาดที่มีคนบางตระกูลคิด “กินประเทศ” ไปชั่วลูกชั่วหลาน เราก็ยังหัวเราะได้ทั่วประเทศ