สถาพร ศรีสัจจัง

แล้วสังคมแบบ “เกษตรกรรม” ก็สถาปนาระบบเศรษฐกิจที่สำคัญ และ กินเวลายาวนานมากของ “มนุษยชาติ” ที่พัฒนามาจากสายพันธุ์ “เซเปียนส์” ขึ้นมาอีกระบบหนึ่ง นักวิชาการทางสังคมศาสตร์ไทยในภายหลังมักเรียกกันว่า “ระบบศักดินานิยม”(ดูเหมือนพวกเขาจะแปลล้อมาจากคำว่า “Feudalism” ในภาษาฝรั่งอังกฤษ)

คำ “ศักดินานิยม” นี้แต่เดิมนิยมใช้กันมากในหมู่นักสังคมศาสตร์สาย “ว่าด้วยความขัดแย้ง” (The Theory of conflict) 

ถ้าจะกล่าวให้ชัดๆก็คือ สายสกุลที่ยึดเอาการวิเคราะห์สังคมมนุษย์ตามแนวคิดของนาย “คาร์ล มาร์กซ์” นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญของโลกชาวเยอรมัน ผู้ได้รับฉายาว่าเป็น “บิดาแห่งลัทธิคอมมิวนิสต์” คนนั้นนั่นแหละ!

แต่ภายหลังดูเหมือนจะพบว่า นักวิชาการด้านสังคมศาสตร์สกุลไหนๆก็นิยมใช้คำนี้กันโดยทั่วไป เพื่ออธิบายถึงระบบสังคมมนุษย์ในยุค “สังคมเกษตรกรรม” ซึ่ง “ที่ดิน” เป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการผลิต “ศักดิ์” เรื่อง “ที่ดิน” จึงส่งผลอย่างสำคัญยิ่งในการแบ่งสถานะทางชนชั้นของสังคมในยุคดังกล่าว

ระบบ “ศักดินานิยม” คือ อะไร? และอย่างไร?

เรื่องนี้น่าจะกล่าวได้ว่า ไม่มี “สูตรสำเร็จ” ที่จะตีขลุมเอาได้ว่ามีความหมายที่ตรงกันหรือ “เหมือนกันอย่างสมบูรณ์” ในรายละเอียดของแต่ละ “สังคม”

เพราะสิ่งที่นักวิชาการเรียกว่า “ระบบศักดินานิยม” นั้น มักจะมีความแตกต่างที่เกิดจากปัจจัยที่เกี่ยวกับ “พื้นที่และเวลา”ของแต่ละสังคม หรือของแต่ละ “รัฐ” เข้ามาร่วมอธิบายอยู่มาก

แต่อย่างไรก็ตาม  ถ้าจะให้กล่าวโดยสรุป ทั้งสังคมในซีกโลกตะวันตกและตะวันออกเรา ล้วนแล้วแต่เคยผ่านระบบสังคมที่มี “รูปแบบความสัมพันธ์ทางการผลิต” (Relations of  Production) ชนิดนี้มา “คล้ายๆ” กันแทบจะทั้งสิ้น

แม้อาจจะมีความแตกต่างในรายละเอียดของ “เนื้อหา” และ “รูปแบบ” อยู่บ้าง ตามเหตุปัจจัย หรือ “ข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์” ของแต่ละสังคม หรือ “กลุ่มชน” นั้นๆ

นายคาร์ล  มาร์กซ์ นักวิชาการชาวตะวันตกคนสำคัญที่เป็น “ต้นคิด” ในการวิเคราะห์ว่าสังคมทุกสังคมจะต้องผ่านขั้นตอนของ “สังคมศักดินา” จากการวิเคราะห์สังคมมนุษยชาติตามหลักการว่าด้วย “วัตถุนิยมประวัติศาสตร์” (Historical Materialism) ของเขา ก็ยังได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความแตกต่างของระบบสังคมที่มีชื่อเรียกดังกล่าว ระหว่าง “ตะวันตก”(ของเขา) กับระบบสังคมแบบ “ตะวันออก”(ของเรา)

เมื่อจะต้องพูดถึง “วิถีการผลิต” (Mode of Production) แบบต่างๆ และต้องพูดถึงรูปแบบการผลิตทางสังคมที่เคลื่อนเปลี่ยนพัฒนาไปตามการขยายตัวของ “พลังทางการผลิต” (Production power) จนเข้าสู่ระบบ “ทุนนิยม” นั้น  …

เมื่อถึงกรณีของ “เอเชีย” เขากลับเสนองานทางความคิดในการวิเคราะห์สังคมเอเชียเราออกมาเป็นเอกเทศต่างหาก

คือ เมื่อเขาต้องศึกษวิเคราะห์ถึง “วิถีการผลิต” ของเอเชียในยุคที่เขาเรียกว่า “ทุนนิยม” หรือ “Capitalism” (สิ่งที่เขาสรุปได้จากโลกตะวันตกเช่นเยอรมนีและอังกฤษ) เขาจึงต้องศึกษาและรวบรวมข้อมูล(คงเท่าที่จะหาได้ในยุคของเขา) เขียนบทความขึ้นใหม่เรื่องหนึ่งขึ้น เพื่ออธิบายถึง “ปรากฏการณ์ทางสังคมที่แตกต่าง” ในพื้นที่เอเชีย (เช่น จีน อินเดีย และญี่ปุ่น ที่เขารู้จัก)

เป็นการ “ตั้งบทปัญหาใหม่” หรือ “Thesis” ใหม่ เพื่ออธิบายถึงเรื่องนี้ขึ้นมาอย่าง “จำเพาะ” อีกทีหนึ่ง ในเอกสารซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางโดยทั่วไป (โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้มีแนวคิดการวิเคราะห์สังคมในแนวมาร์กซิสต์) ในชื่อ “Asiatic Mode of Production” หรือ ที่มีบางใครแปลเป็นคำไทยไว้ว่า “วิถีการผลิตแบบเอชีย” นั่นแหละ!

คาร์ล มาร์กซ์ ไม่ได้ตีขลุมเอาแบบมั่วๆว่าพัฒนาการทางสังคมของทุกแห่งจะต้องเหมือนกันในรายละเอียด!

อย่างนี้เองกระมังที่คือ “ทฤษฎี” หรือ “หลัก” ที่ว่า “ต้องแสวงหาความจริงจากข้อเท็จจริง”!

อันเป็นหลัการสำคัญยิ่ง ที่ฟังมาว่า ท่านประธานเหมา เจ๋อ ตุง ผู้นำการ “ปฏิวัติจีน” จากระบบ “ศักดินานิยม” เข้าสู่ระบบใหม่ได้สำเร็จ เป็นผู้นำเสนอ “วาทกรรม” ดังกล่าวนี้ขึ้น

หวังว่าหลักการ “แสวงหาความจริง จากข้อเท็จจริง” นี้ ประธานเหมาฯ สรุปจากบทเรียนและประสบการณ์รูปธรรมจากการทำงานปฏิวัติสังคมจีนของตน โดยปรับประสานเข้ากับทฤษฎี “วัตถุนิยมวิภาษวิธี” ที่ได้ “สมาทาน” มาจากแนวคิดทางปรัชญา “เศรษฐศาสตร์การเมือง” (Political Economy) ของ คาร์ล มาร์กซ์ และ วี.ไอ.เลนิน อีกทีหนึ่ง

หันมาอีกนั่นแหละว่า นี่คือหลักการที่ “เติ้ง เสี่ยว ผิง” คนโตตัวเล็ก ที่พลิกแผ่นดินจีนจากประเทศยากจนเร่อร่าล้าหลังให้ค่อยๆผงาดขึ้นเป็น “มหาอำนาจโลก” แข่งกับ “ประเทศจักพรรดินิยมใหม่” อย่างสหรัฐอเมริกาอย่างไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรม มักจะยกขึ้นมากล่าวอ้างถึงอยู่เสมอๆกับบรรดา “สหาย” แห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนในยุค “ปฏิรูปประเทศจีน” ของท่าน

และก็ได้ฟังมาอย่างค่อนข้างชัดเจนอีกต่อหนึ่งด้วยว่า ท่าน “สี จิ้น ผิง” ประธานาธิบดีที่โดดเด่นยิ่ง (และน่าจะได้อยู่ในตำแหน่งนี้ตลอดชีวิต?) ในปัจจุบันของสาธารณรัฐประชาชนจีน ก็ได้สมาทานรับเอา “วาทกรรม” นี้มายึดกุมเป็นหลักในการบริหารเทศอย่างเอาการเอางานยิ่ง!

ส่วนใครที่สนใจในรายละเอียดของเรื่อง “วิถีการผลิตแบบเอเชีย” (Asiatic Mode of Production)นั้น ก็คงต้องไปหาเอกสารเพื่ออ่านเพื่อศึกษาในรายละเอียดกันเอาเองละนะ

บอกเกริ่นแนะนำไว้สักหน่อยก็ได้ว่า  เพื่อให้ง่ายเข้า ว่างๆก็ลองคลิกเข้าไปดูกูเกิล ในหัวข้อ “วิถีการผลิตแบบเอเชีย(Asiatic Mode of Production) กับการพัฒนาของทุนนิยม ในคอลัมน์ “Political Economy” ก็จะพบบทสรุปความแบบง่ายๆเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ ทีเดียว

สำหรับเรื่อง “ระบบศักดินานิยม” ที่เป็นระบบเศรษฐกิจสำคัญซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่มนุษยชาติเข้าสู่สังคมเกษตรกรรมแบบเต็มรูปจนทั้งโลกค่อยๆเกิด “รัฐแบบศักดินา” ไปทั่วนั้น สังคมไทยเราก็หนีไม่พ้นที่จะต้องผ่านสังคมที่มีระบบหรือวิถีการผลิตเช่นนั้นด้วยช่วงเวลาที่ยาวนานพอควร หลายใครบอกด้วยซ้ำว่า แม้ในสังคมไทยยุคปัจจุบันก็ยังคงเป็นอีก “รัฐ” สมัยใหม่รัฐหนึ่ง ที่สามารถมองเห็นถึง “ร่องรอย” ของระบบดังกล่าวหลงเหลืออยู่อย่างชัดเจนไม่น้อย

พูดถึงเรื่องนี้ พระเอกในท้องเรื่องก็น่าจะหนีไม่พ้นนามของกวี-นักคิด-นักวิชาการ และ “นักปฏิวัติ” นามอุโฆษ ที่ชื่อ “จิตร  ภูมิศักดิ์” ท่านนั้นไปไม่พ้นอย่างแน่นอน!!