เสรี พงศ์พิศ
Fb Seri Phogphit
โครงการดิจิทัลวอลเล็ตเป็นที่ถกเถียงกันหนัก ไม่ใช่เพราะแจกเงินไม่ดี แต่วิธีการที่ดูไม่โปร่งใส ลับลมคมใน สงสัยผลประโยชน์ทับซ้อน มีเงื่อนงำ และเงื่อนไขให้ผู้รับหลายอย่าง
ประชาชนเรียกร้องให้แจกเงินสด คิดว่าถ้าได้เงินมาคนละหมื่นจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้บ้าง อย่างครอบครัวหนึ่งมีสมาชิก 5 คน จะได้เงิน 50,000 ไปปลดหนี้ ไปซื้อเป็ดไก่มาเลี้ยง และลงทุนเล็กๆ น้อยๆ ก็ทำไม่ได้ ไปซื้ออาหารการกินตามตลาดนัดก็ไม่ได้ ให้ไปซื้อของตามร้านที่ลงทะเบียน ในพื้นที่และเวลาจำกัด
รัฐบาลให้เหตุผลมากมายเพื่อต้องการแจกเงิน “ดิจิทัล” ทั้งๆ ที่ดิจิทัลทางการอย่าง CBDC ของธนาคารกลางของแต่ละประเทศทั่วโลก (ของไทยคืออินทนนท์) ก็กำลงออกมาใช้ และยังมีทางเลือกที่รัฐบาลหลายประเทศกำลังวิจัยและเตรียมนำมาใช้ คือ รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (UBI Universal Basic Income)
UBI เป็นแนวคิดเก่าหลายร้อยปีที่กลับมาแรงทั่วโลกวันนี้ อาจเรียกชื่ออื่น แต่โดยรวมแล้วหมายถึงการให้เงินฟรีๆ แก่ประชาชนโดยไม่มีเงื่อนไข
เรื่อง UBI ไม่กี่ปีมานี้ เป็นนโยบายของผู้สมัครการเมืองในฝรั่งเศสและสหรัฐฯ เพราะโลกเปลี่ยน เอไอมาแทนแรงงานที่จะตกงาน UBI จะช่วยให้คนคิดงานใหม่ได้เอง ขณะเดียวกัน โปรแกรมสวัสดิการต่างๆ ของรัฐไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำได้จริง คนรวยก็รวยขึ้น คนจนก็จนลง
แนวคิดนี้มีผู้สนับสนุน นักการเมืองทั้งซ้ายและขวา ที่สำคัญ มีงานวิจัยทดลองนำร่องในหลายประเทศ ที่แคนาดา ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา สกอตแลนด์ ฝรั่งเศส อินเดีย นามิเบีย ยูกันดา เคนยา บราซิล
หลายโครงการได้สรุปผลการทดลองในเบื้องต้นแล้วอย่างที่อินเดีย ที่เคนยา และหลายแห่งกำลังวางแผนทำการทดลอง ซึ่งธนาคารโลกและสหประชาชาติก็ให้การสนับสนุนและได้ร่วมทำการวิจัยในหลายประเทศ
กาย สแตนดิง ศาสตราจารย์ที่สถาบันตะวันออกและแอฟริกันศึกษา (SOAS) ที่ลอนดอน ผู้สนใจเรื่อง UBI และร่วมก่อตั้งเครือข่ายทั่วโลกชื่อว่า BIEN (Basic Income Earth Network) ได้ทำการวิจัยทดลองที่อินเดียโดยการสนับสนุนการเงินจากยูนิเซฟเมื่อปี 2011
โครงการนี้ทำใน 8 หมู่บ้านที่รัฐมัธยมประเทศ โดยทุกคนทุกเพศทุกวัยในหมู่บ้านเหล่านี้ได้รับเงินทุกเดือน 200 รูปี (ผู้ใหญ่) 100 รูปปี (เด็ก) (1 รูปีเท่ากับ 42 สตางค์) ต่อมาเพิ่มเป็น 300 (ผู้ใหญ่) และ 150 (เด็ก) ตอนแรกจ่ายเป็นเงินสด ต่อมาโอนเข้าบัญชีธนาคาร เป็นเงินให้เปล่าโดยไม่มีเงื่อนไข
แม้จะเป็นเงินจำนวนน้อยต่อคน (แต่ครอบครัวหนึ่งก็ได้ไม่น้อย) หลังจาก 18 เดือนมีการประเมินผลเบื้องต้นพบเรื่องดีๆ มากมายที่แย้งการวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่าเป็นการเสียของและทำให้คนทำงานน้อยลง
หลายคนนำเงินไปซ่อมบ้าน ห้องน้ำ ผนัง หลังคา มีมุ้งป้องกันมาลาเรีย โภชนาการดีขึ้น วัดได้จากน้ำหนักเด็กเฉลี่ยตามวัยสูงขึ้น ชาวบ้านไปซื้อข้าวของจากตลาด ได้อาหาร ผักผลไม้สดมารับประทาน ไม่ใช่ไปรับแจกจากโกดังอาหารคนจนด้วยของที่ไม่ค่อยมีคุณภาพ ดีบ้างเน่าบ้าง สุขภาพดีขึ้นดูได้จากการไปโรงเรียนของเด็ก พ่อแม่มีเงินให้ลูกนั่งรถโดยสารไปโรงเรียน มีเสื้อผ้ารองเท้าใส่
การแจกเงินคนจนทำให้พวกเขามีอำนาจต่อรองมากขึ้น ริเริ่มกิจการเล็กๆ ร้านเล็กๆ งานซ่อมแซมข้าวของเครื่องใช้ คนทำงานมากขึ้น มีงานที่คิดเองลงมือเองมากขึ้น ลดการออกไปรับจ้างนอกหมู่บ้าน ลดหนี้สิน หนี้นอกระบบที่จ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อเดือน
โครงการนี้ไม่เป็นที่พอใจให้ข้าราชการที่ทำงานโครงการสวัสดิการของรัฐ บัตรคนจน อาหารคนจน และอื่นๆ เป็นร้อยเป็นพันโครงการเพื่อ “สงเคราะห์” คนจน 350 ล้านคน หรือร้อยะ 30 ของประชากร ซึ่งไม่ได้แก้ปัญหาอะไร แม้ว่าสองทศวรรษที่ผ่านมาเศรษฐกิจอินเดียจะเติบโตสูงมาก แล้วยังเป็นโอกาสให้เกิดคอร์รัปชัน
โครงการทดลองวิจัยนี้ได้รับความสนใจจากรัฐบาลอินเดีย และกำลังเตรียมขยายการทดลองในอีกหลายรัฐ รวมทั้งเตรียมแนวทางการประยุกต์ใช้ในระดับชาติ
ศาสตราจารย์กาย สแตนดิงสรุปว่า จากการวิจัยทดลองที่อินเดียและหลายประเทศในเบื้องต้นสรุปได้ว่า รายได้พื้นฐานถ้วนหน้าลดความยากจนได้จริงและน่าจะมีผลที่ยั่งยืนกว่าโครงการสวัสดิการต่างๆ ที่ทำมาหลายสิบปีทั่วโลก แต่คนจนกลับจนลง ความเหลื่อมล้ำกลับมากขึ้น กลายเป็นความยากจนซ้ำซาก
โครงการนี้จะแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืนได้เพราะเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคม ไม่ใช่เครื่องมือเพื่อการสงเคราะห์คนจน แต่มองว่าเป็นสิทธิที่คนจนจะได้รับเพราะเป็นสมาชิกของสังคม และควรได้รับส่วนแบ่งจากทรัพยากรในขั้นพื้นฐานเพื่อดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี
โครงการนี้ทำให้เกิดความเท่าเทียม เกิดเสรีภาพมากขึ้น ไม่ถูกครอบงำ หรือต้องทำตามคำสั่งของผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ไม่ถูกบังคับให้ทำตามเงื่อนไขต่างๆ เพื่อจะได้รับการสงเคราะห์ ตกอยู่ในสังคมอุปถัมภ์และกับดักความยากจนอย่างถาวร
ที่ว่า UBI ไม่ใช่สวัสดิการแบบสังคมสงเคราะห์ เพราะเป็นการให้ตามสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ควรจะได้รับส่วนแบ่งอย่างยุติธรรมในมรดกที่บรรพบุรุษได้ทำไว้และส่งต่อมาให้เรา ระบบปัจจุบันทำให้คนรวยได้รางวัล คนจนถูกลงโทษ ซึ่งเป็นความอยุติธรรมทางสังคม
ที่มาของงบประมาณ UBI ถ้าจัดการให้ดี ยุบหน่วยงานหรือตัดงบประมาณบางหน่วยงานรัฐ จัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพ ปรับระบบโครงสร้างสังคม มีงบประมาณเพียงพอให้คนไทยได้ “เงินเดือน” แบบไม่มีเงื่อนไข
วันนี้คนจำนวนมากเชื่อว่า รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า เป็นหนึ่งในแนวคิดที่สำคัญที่สุดของศตวรรษที่ 21 ซึ่งอาจเป็นแนวทางที่มีพลังในการแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำได้จริง
อย่างที่วิคตอร์ ฮูโกบอก “พันกองทัพยังไม่เท่าความคิดหนึ่งที่ถึงเวลาของมัน” (Stronger than a thousand armies, is an idea whose time has come)