มีความพยายามในการกดดัน “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ทั้งทางตรงและทางอ้อม ภายหลังจากที่ “คดียุบพรรคก้าวไกล” เพิ่งผ่านพ้นไปหมาดๆ ส่งผลให้ “พิธา ลิ้เมจริญรัตน์” อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล และกรรมการบริหารพรรคอีกส่วนหนึ่งต้องถูกตัดสิทธิรับสมัครเลือกตั้งไปยาวๆถึง 10 ปี

ล่าสุด “นครินทร์ เมฆไตรรัตน์”  ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ปฏิเสธที่จะตอบคำถามสื่อมวลชน ทั้งกรณีที่ศาลนัดฟังคำวินิจฉัยคดีถอดถอน “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง กรณีเสนอชื่อตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” เป็นรัฐมนตรี ในวันที่ 14 ส.ค.67 นี้ รวมถึงประเด็น การที่มีนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวกดดัน​คณะองค์คณะตุลาการ​ ที่มีการสอนนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ

 เพราะไม่ว่าประธานศาลรัฐธรรมนูญ จะตอบคำถามอย่างไรก็ตาม โอกาสที่จะถูกนำไปตีความ ให้ออกมาทางใดทางหนึ่ง ย่อมเป็นไปได้สูง

ปฏิบัติการกดดันตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ภายหลังจากที่ พรรคก้าวไกลถูกสั่งให้ยุบพรรค เมื่อวันที่ 7 ส.ค.67 ที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าเป็น “ความเคลื่อนไหว” ที่กำลังชี้ให้เห็นถึง การตอบโต้ “ฝ่ายตุลาการ” จากนักศึกษาในสถาบันบางแห่ง ซึ่งแน่นอนว่าการกระทำในลักษณะเช่นนี้อาจไม่เป็นผลดี ต่อพรรคการเมืองใด การเมืองหนึ่งที่มีความเชื่อมโยงด้วยบริบททางการเมือง ผ่าน “นักวิชาการ” บางส่วนที่อยู่เบื้องหลัง

แน่นอนว่าปฏิกิริยาในลักษณะต่อต้าน และตอบโต้ จากพรรคก้าวไกลที่บัดนี้ได้ย้ายเข้าพรรคใหม่ใช้ชื่อ พรรคประชาชนแล้วนั้น อาจแตกต่างไปจากกลุ่มนักศึกษาจากบางสถาบัน เพราะด้านหนึ่งพวกเขาเองต้องประเมินแล้วว่า แม้จะทิ้ง “มาตรา 112” ออกไปจากตัวไม่ได้

แต่การระบุว่าจะเดินหน้ากันต่อนั้น ย่อมต้องหาทางไม่ให้ “ซ้ำรอยเดิม” กระทำการอันเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง การเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบัน เหมือนที่ผ่านมา ไม่เช่นนั้นการเดินหน้าไปสู่เป้าหมาย การตั้ง “รัฐบาลพรรคเดียว” ในการเลือกตั้งปี 2570 คงยากที่จะไปถึง  เนื่องจากในความเป็นจริงแล้วการถูกยุบพรรค ซ้ำแล้วซ้ำเล่า มีแต่จะยิ่งทำให้ พรรคอ่อนแรง และ ไร้ “ตัวผู้เล่น” เหลือมาลงสนาม

การต่อสู้ของพรรคประชาชนต้องถือว่าไม่ใช่จุดที่เรียกได้ว่าเป็นการเริ่มต้น แต่เป็น “ภาคต่อ” จากพรรคก้าวไกล  เนื่องจากการย้ายเข้าพรรคเกิดขึ้นห่างกันไม่ถึง3วันหลังพรรคก้าวไกลถูกยุบ ส่วนโลโก้ หรือสัญลักษณ์ต่างๆแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือต้องตามลุ้น

ทว่าปัญหาใหญ่ที่รออยู่ข้างหน้าสำหรับพรรคประชาชน อาจไม่ได้อยู่แค่ “44 สส.” ที่เคยเข้าชื่อยื่นแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งเวลานี้อยู่ในระหว่างการไต่สวนของคณะกรรมการป.ป.ช.แล้ว หากแต่จะอยู่ที่โอกาสจะคว้าชัยชนะจากการเมืองทั้งสนามเล็ก ก่อนไปถึงสนามใหญ่คือการเลือกตั้งในปี 2570 เนื่องจากการจัดทัพเพื่อลุยเลือกตั้งในแต่ละสนามนั้น พรรคประชาชน ต้องเจอกับ “บ้านใหญ่” ที่กำลังจะกลับมามีอิทธิพล อีกครั้ง และยังไม่ได้สู้กับ “พรรคเพื่อไทย” เท่านั้น

ว่ากันว่าศัตรูที่น่ากลัวสำหรับพรรคประชาชน  หากพวกเขาอยู่ถึงปี 2570 โดยไม่ถูกยุบพรรคไปเสียก่อน แล้วจัดทัพกันขึ้นมาใหม่ คู่ต่อสู้ที่ยากจะเอาชนะคือพรรคภูมิใจไทย ที่บัดนี้ยึด “สภาสูง” ไปเรียบร้อยแล้ว และแม้ “สภาล่าง” พรรคภูมิใจไทย จะไม่ใช่พรรคอันดับหนึ่ง กุมเสียงข้างมาก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า “อำนาจต่อรอง” นั้นสูงลิบลิ่ว !