ทวี สุรฤทธิกุล
การเมืองไทยมีลักษณะเด่นคือดูเหมือนว่าจะ “เอาเป็นเอาตาย” แต่เอาจริง ๆ ก็ยังไปได้แบบสบาย ๆ เพียงแต่ใจหายใจคว่ำเป็นระยะ ๆ
แนวคิดการเมืองแบบ “ผ่อนหนักผ่อนเบา” นี้ ถือได้ว่าเป็นรากฐานอย่างหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย และเมื่อมองย้อนไปในยุคโบราณก็เกิดขึ้นมาเพื่อต้านระบอบเผด็จการโดยเฉพาะ อย่างเช่นที่เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษเมื่อ 800 ปีก่อนโน้น อันเกิดขึ้นด้วยคนอังกฤษไม่อยากให้กษัตริย์ใช้อำนาจกดขี่ รีดภาษี เกณฑ์แรงงาน และเอารัดเอาเปรียบต่าง ๆ จึงขอสิทธิที่จะได้ “พูดจากัน” ดีกว่าที่จะมาข่มขู่หรือเกรงกลัวกัน ตอนแรกกษัตริย์ก็ไม่ยอม พอดีกับฝรั่งเศสกำลังรุกรานข้ามทะเลมาจะบุกอังกฤษ จึงต้องยอมให้ขุนนางเป็นตัวแทนประชาชน เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนสิทธิต่าง ๆ อังกฤษก็ป้องกันประเทศไว้ได้ พร้อมกับที่เกิด “ระบบรัฐสภา” หรือกระบวนการปรึกษาหารือระหว่างผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครอง แทนที่จะให้กำลังข่มเหงกัน
กระนั้นระบบรัฐสภาของอังกฤษก็มีปัญหาพอสมควรในระยะแรก อันเป็นด้วยเหล่าสมาชิกรัฐสภาหรือขุนนางทั้งหลายนั่นแหละ ที่มีการแบ่งกลุ่มกันสร้างฐานอำนาจแข่งขัน ฝ่ายหนึ่งหนุนกษัตริย์ อีกฝ่ายหนึ่งหนุนผู้มีอำนาจในรัฐสภา จนเกิดสงครามกลางเมืองในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 ซึ่งฝ่ายที่หนุนผู้นำในรัฐสภาเป็นผู้ชนะ ทำให้อังกฤษปกครองโดย “ผู้เผด็จการ” อยู่ช่วงหนึ่งเพียง 20 กว่าปี ฝ่ายที่หนุนกษัตริย์ก็ยึดอำนาจคืนได้ พร้อมกับให้แยกสภาขุนนางแยกออกไปจากสภาผู้แทนราษฎร ลดอำนาจสภาขุนนางให้เป็นแค่สภาพี่เลี้ยงและสภาแห่งเกียรติยศ แต่กว่าที่คนอังกฤษทั้งหญิงและชายจะมีสิทธิเท่าเทียมกันก็ใช้เวลาอีกเกือบ 200 ปี คือใน ค.ศ. 1832 ที่ได้ทำให้ระบบรัฐสภาของอังกฤษมีความเข้มแข็งและมีเสถียรภาพมาจนถึงปัจจุบัน
มีอีกตัวอย่างที่น่าสนใจของการเกิดประชาธิปไตยแบบ “นุ่มนวล” ก็คือประเทศฝรั่งเศส แต่กว่าจะมาถึงก็เสียเลือดเนื้อไปมหาศาล โดยเฉพาะการโค่นล้มพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 อันมีสาเหตุมาจากสิ่งที่นักประชาธิปไตยเรียกว่า “ไม่ฟังเสียงประชาชน” แต่หลังจากนั้นก็มีการฆ่าฟันกันเองในหมู่นักปฏิวัติทั้งหลาย ทำให้นายทหารคนหนึ่งคือนโปเลียน โบนาปาร์ต ส่งทหารเข้าปราบแล้วสถาปนาตัวเองเป็นจักรพรรดิ ปกครองฝรั่งเศสด้วยระบอบเผด็จการอยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนที่ระบอบกษัตริย์จะฟื้นมาครองอำนาจเพียงช่วงสั้น ๆ แล้วนโปเลียนก็กลับมาครองอำนาจต่ออีก เมื่อนโปเลียนตายแล้ว ฝรั่งเศสก็ปกครองด้วยระบอบรัฐสภา แต่ก็ต้องล้มลุกคลุกคลานมาอีกกว่าร้อยปี จนถึงยุคนายพลเดอโกลได้ให้เขียนรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1958 โดยเชื่อว่าผู้ร่างได้รับอิทธิพลมาจากประเทศอังกฤษ ในการวางรูปแบบองค์กรต่าง ๆ ให้เกิดสมดุลทางอำนาจ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองให้มากที่สุด รวมถึงอำนาจของประชาชนในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญนั้นด้วย
ร่ายยาวมาในเรื่องประวัติศาสตร์ก็เพื่อจะบอกว่า ประเทศไทยนั้นแต่แรกก็ลอกรูปแบบการปกครองมาจากประเทศอังกฤษเหมือนกัน แต่มีลักษณะกระบวนการเริ่มต้นคล้าย ๆ การปฏิวัติในประเทศฝรั่งเศส คือมีการสมคบที่จะโค้นล้มและ “กำจัด” พระมหากษัตริย์ แต่พอยึดอำนาจในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ได้ คณะราษฎรที่ผสมกันด้วยข้าราชการคนรุ่นใหม่หลายกลุ่มก็รวนเรและขัดแย้งกัน ว่าจะไปแบบรัฐสภาอังกฤษหรือระบบประธานาธิบดี(ที่แอบแฝงในรูปแบบสังคมนิยมที่เป็นที่นิยมของนักเรียนฝรั่งเศสในยุคนั้น) แต่ก็ถูลู่ถูกังปกครองกันมาแบบกึ่งเผด็จการโดยคณะราษฎรเพียงกลุ่มเดียวนั้นอยู่สิบกว่าปี จนกระทั่งเกิดรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 คณะราษฎรสายพลเรือนก็หมดอำนาจไป แล้วทหารก็ขึ้นปกครองประเทศอย่างเต็มตัว
ทหารในยุคนั้นก็เหมือนว่าอยากจะมีประชาธิปไตยแบบอังกฤษอยู่มาก โดยเฉพาะการถวายพระเกียรติยศให้อยู่เหนือการเมืองการปกครอง โดยมีสถาบันทางการเมืองการปกครองต่างคอยรองรับ “พระราชอำนาจ” ว่ากันว่ารัฐธรรมนูญที่ทหารกำกับการร่าง ทั้งฉบับ พ.ศ. 2492 และฉบับ พ.ศ. 2495 พยายามจะเน้นอำนาจของพระมหากษัตริย์ให้มีบทบาททางการเมืองอยู่กลาย ๆ โดยการอ้างอิงอำนาจต่าง ๆ ของ 3 สถาบันหลักคือ รัฐบาล รัฐสภา และศาล ให้อยู่ภายใต้พระปรมาภิไธย นั่นก็คือการขึ้นดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ของผู้ปกครองโดยเฉพาะข้าราชการระดับสูงต้องเป็นเรื่องที่ได้รับการกลั่นกรองมาอย่างดี “ไม่ให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท” ดังนั้นชนชั้นปกครองจึงได้อาศัยกระบวนการนี้สร้างสัมพันธ์ทางอำนาจกันอย่างแนบแน่น ซึ่งนักรัฐศาสตร์เรียกโครงสร้างอำนาจของการเมืองไทยในรูปแบบนี้ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคนั้นว่า “อำมาตยาธิปไตย” หรือ “ข้าราชการเป็นใหญ่”
ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เล่าให้ลูกศิษย์ลูกหาหลายคนฟังว่า ท่านเองก็เติบโตในทางการเมืองมาในยุคนี้ โดยหลังรัฐประหาร พ.ศ. 2490 เมื่อตั้งรัฐบาลใหม่ ท่านก็ได้รับการแต่งตั้งเป็น “รัฐมนตรีลอย” (คือรัฐมนตรีผู้ช่วยหรือรัฐมนตรีฝึกงาน แบบกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีในสมัยนี้) และเคยได้พูดคุยกับนายกรัฐมนตรี คือ จอมพล ป. พิบูลสงครามอยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะเรื่องระบบการเมืองอังกฤษ เพราะท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ไปเรียนอยู่ที่ประเทศอังกฤษหลายปี ซึ่งภายหลังจอมพล ป.ก็ได้เดินทางไปประเทศอังกฤษ เมื่อกลับมาก็ได้นำรูปแบบการเมืองของอังกฤษหลายอย่างมาใช้ เช่น การตั้งโต๊ะแถลงข่าวของรัฐบาล ที่เรียกว่า Press Conference และการหาเสียงแบบจัดเวทีในที่สาธารณะ (Hyde Park) เป็นต้น
ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เคยสอนท่านจอมพลแบบอ้อม ๆ ว่า “ประชาธิปไตยก็เหมือนกับมวยสากล” คือเป็นเกมการต่อสู้ที่ต้องมีกติกา และคนที่เข้าต่อสู้ต้องเคารพกติกานั้น รวมถึง “กติกามารยาท” ที่เป็นธรรมเนียมสากลของการต่อสู้ คือ “เขาจะไม่ฆ่ากันจนตาย” เช่น เมื่อไล่ต้อนจนคู่ต่อสู่เข้ามุมและไม่มีทางสู้ ก็ต้องยอมถอยออกมาให้โอกาสกับคู่ต่อสู้ ไม่ถลุงจนย่ำแย่หรือเป็นอันตรายไปมากกว่านั้น ตอนนั้นเป็นช่วงที่ประเทศไทยมีการฆ่านักการเมืองฝ่ายตรงข้าม และเป็นจุดด่างสร้างความอัปยศให้กับระบอบทหาร ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์จึงพยายามเตือนว่านั่นไม่ใช่หนทางประชาธิปไตย และซ้ำร้ายอาจจะนำความบาดหมางมาสู่สังคมจนไม่อาจจะเยียวยาได้ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับระบบการเมืองไทยมาจนถึงในทุกวันนี้
ผู้เขียนขอยกไปอธิบายเพิ่มเติมในสัปดาห์หน้า เพราะถึงแม้ว่าการเมืองไทยจะมีความรุนแรงอยู่มาก แต่ก็ไม่ได้รุนแรงจนถึงขั้น “ล้มครืน” (Collapse) เพราะไม่ได้เสียเลือดเนื้อมากมาย และคืนสภาพได้อย่างรวดเร็ว ตรงนี้คือสิ่งที่ผู้เขียนเรียกว่า “การเมืองแบบละมุนละไม” ที่น่าจะเป็น “เอกลักษณ์” อย่างหนึ่งของการเมืองไทยได้เหมือนกัน และน่าจะเป็น “ทางรอด - ทางรุ่ง” ของคนที่อยากเห็นประเทศไทยก้าวต่อไปในอนาคต
การไปอาศัยชื่อพรรคอื่นหลบภัยเพื่อสร้าง “อนาคตใหม่”(ยุคใหม่) ก็คงเป็นด้วยแนวคิดนี้