การเมืองไทยวันนี้ พลิกผัน แปรเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว จนทำให้ยากที่จะตามทัน รวมทั้งยังคาดการณ์เบื้องหน้าได้ยากเย็น เพราะไม่รู้ว่าบนกระดานการเมืองชุดนี้ “ตัวผู้เล่น” ลงมากันครบแล้วหรือยัง และ “ใคร” คือ “ผู้กำหนดเกม” ให้คนอื่นเดิน !?
7 สิงหาคม 67 คือวันชี้ชะตา ของ “พรรคก้าวไกล” จะอยู่หรือไป ด้วย “ศาลรัฐธรรมนูญ” นัดฟังคำวินิจฉัย สืบเนื่องจากกรณีที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะผู้ร้อง ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีมติสั่งให้ “ยุบพรรค” พร้อมทั้ง “ตัดสิทธิรับสมัครทางการเมือง” แก่ “กรรมการบริหารพรรค” และห้ามมิให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารพรรคและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ภายในกำหนด 10 ปี แต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง ตาม พ.ร.ป ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 92 วรรคสอง และมาตรา 94 วรรคสอง
จากเหตุมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคก้าวไกลมีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นเหตุแห่งการยุบพรรค ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 92 วรรคหนึ่ง(1) และ(2)
โดยมีข้อเท็จจริงปรากฏตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ที่ระบุว่า เสนอร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ.... เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่ง สส.พรรคก้าวไกล 44คน เข้าชื่อยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 25 มี.ค. 2564 และใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งปี 2566 เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดการกระทำนั้น
และไม่ว่าคำวินิจฉัย ของศาลรัฐธรรมนูญ จะออกมาในทางที่บวกหรือลบต่อพรรคก้าวไกล ก็ตาม ผลพวงที่ตามมา ย่อม “มาก-น้อย” แตกต่างกัน เพราะหากออกมาในทางลบ ชี้ขาดให้ยุบพรรคก้าวไกล ไม่เพียงแต่กรรมการบริหารพรรค จะหายไปเท่านั้น แต่คำวินิจฉัยครั้งนี้ยังเป็นสารตั้งต้นในลำดับต่อไปทำให้ การดำเนินคดีจริยธรรมของ 44 สส. ที่เข้าชื่อยื่นเสนอร่างแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 มี “น้ำหนักมากขึ้น” ซึ่งปัจจุบันอยู่ในการพิจารณาของ ป.ป.ช.
แต่ถึงแม้คำวินิจฉัย จะออกมาในทางที่เลวร้ายน้อยลง ก็ตาม ทว่าปัญหาที่ใหญ่ไปมากกว่านั้น คือเริ่มมีความชัดเจนว่า นาทีนี้ หลายพรรคการเมือง ใช้กลยุทธ์ “ตั้งพรรคใหม่” เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคเดิมของตัวเองแล้ว อีกด้านหนึ่ง ยังต้องการตั้งขึ้นมา “แข่ง” กับพรรคก้าวไกล ในเวอร์ชั่นใหม่อีกด้วย
นอกจากนี้ยังดูเหมือนว่า บนกระดานการเมืองไทยวันนี้ มีความพยายาม “จำกัดที่ยืน” ของพรรคก้าวไกล แทบทุกเวที ทั้ง สภาล่าง และสภาบน ทั้งการเมืองในสภาฯ ไปจนถึง “ภาคสนาม”
และนี่อาจเป็น “โจทย์” ที่ยากเย็น และหนักหนากว่าการที่จะถูก “ยุบพรรค” หรือไม่ ก็ตาม !