ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ
อาจารย์ประจำสถาบันการทูตและการต่างประเทศ
มหาวิทยาลัยรังสิต
จากสัปดาห์ที่แล้วที่ได้นำเสนอความรู้สึกของชาติต่างๆต่อจีน ในมิติของความรู้สึกเชิงบวกหรือลบ ซึ่งสะท้อนความสัมพันธ์เชิงผกผันกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ ประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจสูงจะมีมุมมองเชิงลบต่อจีน ในขณะที่ประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจค่อนข้างต่ำ จะมีมุมมองเชิงบวกต่อจีน
คำถามสำคัญในฉบับนี้คือ แล้วไอ้มุมมองเชิงบวกหรือลบมันสำคัญอย่างไร ส่งผลอะไรต่อนโยบายของประเทศนั้นๆหรือไม่ อย่างไร? ก็คงต้องตอบกันแต่เนิ่นๆ ว่า “สำคัญแน่นอนครับ” และมีผลกระทบต่อนโยบายทั้งภายในประเทศและนโยบายการต่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ที่ตอบเช่นนี้ เพราะการสำรวจข้อมูลของ Pew Research Center นั้น ใช้การเก็บข้อมูลจากประชาชนในชาติต่างๆ ว่ามีมุมมองต่อประเทศจีนเป็นอย่างไร ดังนั้น ในประเทศที่พัฒนาแล้วทางด้านเศรษฐกิจที่มักมีมุมมองเชิงลบต่อจีน ส่วนใหญ่มีระดับการปกครองระบอบประชาธิปไตยค่อนข้างสูง ทำให้รัฐบาลและผู้ออกนโยบายจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญกับความรู้สึกของประชาชน หากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศแสดงออกว่าไม่โอเคกับจีน ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลใดๆ ตั้งแต่เศรษฐกิจ การเมือง สังคม รัฐบาลส่วนใหญ่ก็จำเป็นต้องออกนโยบายให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนเพื่อรักษาไว้ซึ่งคะแนนนิยม
เป็นที่เข้าใจได้ว่า ประชาชนในประเทศเหล่านั้น อาจมีมุมมองที่เป็นประชาธิปไตยตามแบบของประเทศตน ทำให้อาจไม่โอเคกับประเทศคอมมิวนิสต์อย่างจีน ยิ่งมีการเดินเครื่องของจีนเข้าไปยังเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของประเทศต่างๆทั่วโลก ก็อาจนำมาซึ่งความหวาดระแวงต่อประเทศจีนได้ จึงได้ส่งผลต่อนโยบายของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้ามองกันในมุมนี้ก็เท่ากับว่า มุมมองของประชาชนเป็น “เหตุ” และ นโยบายของประเทศ เป็น “ผล”
ในอีกมุมมองหนึ่ง ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยเหล่านี้ก็อาจมีกลไกบางอย่างเช่นกัน ที่ทำให้คนในชาติมีมุมมองไปในแนวทางเดียวกัน จนทำให้ประชาชนมีมุมมองเชิงลบต่อจีนและสะท้อนออกมาในการสำรวจดังกล่าว ถ้ามองในมุมนี้ นโยบายของประเทศจะเป็น “เหตุ” และ มุมมองของประชาชนจะเป็น “ผล”
แต่ไม่ว่าจะด้วยรูปแบบใด เราสามารถสรุปได้ว่า นโยบายภายในประเทศและนโยบายการต่างประเทศของประเทศเหล่านี้ ก็อาจมีรูปแบบที่ไม่ได้มองจีนเป็น “มิตร” และอาจมีนโยบายทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ในทิศทางที่ไม่ได้เปิดโอกาสให้จีนเข้ามามีบทบาท หรือเจริญเติบโต หรือเป็นการสนับสนุนจีนเท่าไรนัก เช่น อาจมีนโยบายกำแพงทางการค้าบางประการ มีนโยบายด้านคนเข้าเมืองที่เคร่งครัด มีนโยบายในการปกป้องธุรกิจท้องถิ่นและป้องกันการเข้ามาตั้งรกรากทำธุรกิจในระดับหนึ่ง เป็นต้น และแน่นอนว่า อาจมีการสร้างความสัมพันธ์กับสหรัฐให้แนบแน่นมากขึ้นในมิติใดมิติหนึ่ง เช่นกันครับ ในบางกรณี นโยบายในรูปแบบที่กล่าวมาก็อาจเป็นผลมาจากการสร้างความสัมพันธ์กับสหรัฐให้แนบแน่นมากขึ้นในมิติใดมิติหนึ่งได้ด้วยเช่นกัน
ในกรณีของประเทศที่มองจีนเป็นบวก ก็มักมีผลลัพธ์ตรงข้ามกัน กล่าวคือ อาจเปิดรับการลงทุนของจีน เข้าร่วมโครงการพัฒนาต่างๆของจีน มีการกู้เงินจากสถาบันการเงินที่จีนเกี่ยวข้อง เปิดโอกาสให้คนจีนเข้ามาทำธุรกิจ หรือแม้แต่สาธารณูปโภค มีความเป็นมิตรกับจีน บางประเทศถึงขั้นพูดภาษาจีน ซึ่งแน่นอนครับ บางประเทศจำเป็นต้องมีการแก้กฎหมายภายในประเทศเพื่อรองรับการเข้ามาของจีน เช่น แก้กฎหมายการลงทุนของต่างชาติเป็นต้น
ประเทศที่มีมุมมองบวกต่อจีนเหล่านี้ เช่นประเทศในแอฟริกา ได้แก่ ไนจีเรีย เคนยา กานา ประเทศในอเมริกาใต้ ได้แก่ เปรู เม็กซิโก โคลอมเบีย และประเทศในเอเชีย เช่น ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย บังคลาเทศ เป็นต้น จึงอาจมีนโยบายในประเทศที่เปิดรับคนจีนและมองจีนเป็นมิตรมากกว่า ด้วยการเข้ามามีอิทธิพลของจีนมักใช้เศรษฐกิจ การค้า และการให้ความช่วยเหลือเป็นตัวนำ ทำให้ประเทศต่างๆไม่รู้สึกถึงภัยคุกคาม หรืออาจมองว่าเป็นการ win win ด้วยกันทั้งสองฝ่าย
ในอีกมุมหนึ่ง ก็อาจมองได้เช่นกันว่า Soft Power ของจีนที่มากับเศรษฐกิจ การค้า และความช่วยเหลือ ประสบความสำเร็จอย่างชัดเจน เพราะสามารถโน้มน้าวให้คนชาติอื่นมีความรู้สึกนิยมชมชอบในจีนได้ และอาจนำไปสู่นโยบายที่สนับสนุนผลประโยชน์ของจีน ทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว ไม่มากก็น้อย
ในด้านนโยบายต่างประเทศ แม้ประเทศเหล่านี้บางประเทศอาจไม่แสดงออกอย่างชัดเจนว่า ฉันรักจีนนนน เหมือนติ่งเคป๊อบ เพราะด้วยเกรงใจมหาอำนาจอื่น และด้วยเป้าหมายทางผลประโยชน์แห่งชาติมักเป็นประโยชน์ที่จะได้รับไม่ว่าจะมาจาก “ฝ่ายใด” แต่ก็อาจดำเนินนโยบายการต่างประเทศที่เข้าข้างจีนได้หากจำเป็นต้องเลือกข้างจริงๆในอนาคต อาจเพราะเกรงใจหรืออาจเพราะถูกกดดันเชิงทวงบุญคุญ ก็ยากแท้จะตอบได้ รู้แต่ว่า...ก็อาจเกิดขึ้นได้เสมอเช่นกัน
ในส่วนของประเทศไทย ที่มีคะแนนนิยมต่อจีนสูงสุดในการสำรวจ ก็จำเป็นต้องบาลานซ์ให้ดี อย่าให้เทลำไปทางใดทางหนึ่งอย่างชัดเจน เพราะอย่างลืมว่าต้องพึ่งพาหลายฝ่าย เดี๋ยวจะเสียประโยชน์ ที่ผ่านมาก็เห็นการ “หลับตาข้างหนึ่ง” อยู่พอสมควร แต่ก็ต้องเตือนผู้มีอำนาจว่า แนวทางนี้ก็ใช่ว่าจะเป็นทางออก เพราะปัจจุบันก็เริ่มมีกลิ่นของปัญหาโชยมา โดยเฉพาะในการทำมาหากินของประชาชนผู้หาเช้ากินค่ำ ประชาชนทั้งหลายก็ต้องช่วยกันสอดส่องดูแล โวยวายบ้างก็ดี จะได้ไม่เข้าทำนอง “เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง...เอากระดูกมาแขวนคอ”
ยังไม่เอวัง เหลืออีกหนึ่งตอน