เสรี พงศ์พิศ
Fb Seri Phogphit
อยากรู้ว่าซอฟต์พาวเวอร์คืออะไร เขาโปรโมตกันอย่างไร ไปดูที่โอลิมปิกปารีส 2024 ที่ฝรั่งเศสจัดให้เป็น “ตู้โชว์” สารพัดเสน่ห์ ของดีที่ไม่ได้มีแต่ “น้ำหอม” แต่แฟชั่น ข้าวของฟุ่มเฟือยราคาแพงที่ไฮโซแสวงหา
รวมศิลปวัฒนธรรม ที่วิวัฒนาในประวัติศาสตร์ บนปรัชญา “เหตุผลนิยม” (Rationalism) เอกลักษณ์ของนักคิด นักวิจารณ์ นักถกเถียงแบบ “คาร์เตเซียง” ลูกหลาน “เดการ์ต” นักปรัชญา หนึ่งในผู้วางรากฐานการปฏิวัติวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่นำเข้าสู่โลกยุคใหม่
ด้วยพัฒนาการเช่นนี้ จึงเห็นฝรั่งเศสเป็นชาติที่คิดนอกกรอบ สร้างนวัตกรรม ทำอะไรที่คนอื่นคิดไม่ได้ ไล่ไม่ทัน อย่างโอลิมปิกยุคใหม่เริ่มปี 1896 ที่ปิแอร์ เดอ กูแบร์แตงคิดริเริ่ม รวมไปถึงการแข่งขันฟุตบอลโลก ก็เป็นจูล รีเมต์ จนถ้วยผู้ชนะเลิศได้ชื่อของเขา และอีกหลายเรื่องราวที่มาจากความคิดของคนฝรั่งเศส
โอลิมปิกปารีส 2024 ฝรั่งเศสอยาก “อวดของดี” สารพัดที่มีอยู่จนดู “ไม่หวาดไม่ไหว” ใครไม่มีความรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมฝรั่งเศสบ้างก็ไม่เข้าใจความหมายหลายอย่างที่เขาจัดให้เกือบ 4 ชั่วโมงในงานเปิด
ยิ่งถ้าดูไปแบบตัดออกมาจากบริบททางสังคมวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ก็จะหลงประเด็น หรือร่วมกระแสประท้วงฉากโน่นนี่นั่นไปกับคนที่ปั่น ซึ่งไม่ชอบฝรั่งเศสเป็นทุน ไม่ว่าต่างชาติหรือขวาจัดฝรั่งเศสเอง
ร้อยปีที่ผ่านมา โอลิมปิกจัดกันในสเตเดียม ครั้งนี้ ฝรั่งเศสจัด “ในเมือง” กระจายไปตามสถานที่สำคัญๆ ตั้งแต่การเปิด การแข่งขัน บางอย่างจัดในสนามกีฬา ไม่ว่าฟุตบอล เทนนิส กอล์ฟ เป็นต้น แต่หลายอย่างจัดตามลานจัตุรัสที่มีพื้นที่กว้างพอให้ตั้งสนามและที่นั่งคนดู กีฬาทางน้ำจัดที่ตาฮิติ ปาซิฟิกใต้ไปโน้นเลย
การเปิดก็จัดให้นักกีฬานั่งเรือล่องมาตามแม่น้ำแซน การจุดไฟโอลิมปิกก็เดินทางไกลจากเวทีใหญ่หน้า “หอเอแฟล” ผ่านสถานที่ต่างๆ ไปจนถึงสวนตูเลอรี จุดไฟใต้บอลลูนให้ลอยขึ้นฟ้าตลอดการแข่งขัน
ทุกฉากที่แสดง ทุกเพลงที่ร้อง นักร้องที่เลือก ทุกสถานที่ที่จัดหรือผ่าน ล้วนมีที่มาและมีความหลังทั้งสิ้น ฝรั่งเศสบอกว่า ร้อยปีไม่มีคนคิดจัดแบบนี้ มีแต่เสนออะไรที่ยิ่งใหญ่อลังการ “ในสเตเดียม” สร้างสนามกีฬาใหม่มากมาย ลงทุนสมหาศาล พวกเขาจะสร้างอะไรให้ยิ่งใหญ่กว่าด้วยการลงทุนที่น้อยกว่า (อาจอยากคุยว่า ใช้สมองมากกว่า ใช้ความคิดนอกกรอบดีกว่า)
โอลิมปิกปารีส 2024 ฝรั่งเศสวางแผนงบประมาณไว้ประมาณ 2.5 แสนล้าน แต่ใช้จ่ายจริงจะเท่าไรคงต้องรอดูว่าจะเป็นไปตามที่ “คุย” หรือไม่ เพราะโอลิมปิกก่อนหน้านั้นล้วนแต่ “ขาดทุน” และจ่ายจริงบานปลาย สูงกว่างบประมาณที่ตั้งไว้มาก
อย่างที่กรีซเมื่อปี 2004 ตั้งไว้ประมาณ 5 แสนล้าน จนทำให้ประเทศเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ปัญหาใหญ่ที่อียูและเยอรมนีต้องยื่นมือเข้าไปช่วย แม้ใช้จ่ายจริงจะน้อยกว่า (เพราะไม่มีเงิน) แต่ที่ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไว้มากมายนั้นได้ไม่คุ้มเสีย เพราะจบโอลิมปิกแล้วก็ไม่ได้ใช้ หรือใช้แต่น้อย
โอลิมปิกปักกิ่ง 2008 งบประมาณ 1.5 ล้านล้าน นับเป็นโอลิมปิกฤดูร้อนที่แพงที่สุด ขณะที่ลอนดอนในปี 2012 ตั้งงบประมาณไว้ 2.5 แสนล้าน ใช้จริงประมาณสองเท่า ที่ริโอฯ บราซิล 2016 งบประมาณ 4 แสนล้าน ทำเอาเศรษฐกิจกระเทือนไปไม่น้อย
ขณะที่โอลิมปิกโตเกียวล่าสุดตั้งไว้ 5 แสนล้าน ใช้ไปล้านล้าน ขาดทุนยับ เล่นแบบปิดสนาม โควิดยังไม่จบ แต่ทั้งจีนและญี่ปุ่นมีสปอนเซอร์มาก คงไม่กระเทือนเหมือนประเทศกำลังพัฒนาอย่างกรีซและบราซิล
โอลิมปิกปารีสมีสปอนเซอร์จำนวนมาก ข่าวการถอนการสนับสนุนไปเพื่อประท้วง “การดูหมิ่นศาสนา” คงไม่กระเทือนอะไร “นายทุน” ฝรั่งเศสทุ่มสุดตัวแบบไม่กลัวขาดทุน เพราะยังไงกำไรภาพลักษณ์อยู่แล้ว
อย่างกรณี LVMH หลุยส์วิตองกรุ๊ป ที่ประธานใหญ่รวบอันดับต้นๆ ของโลก (ไม่กี่ปีก่อนยังอันดับหนึ่งด้วยซ้ำ) มีเงินหลายล้านล้าน บริจาคสนับสนุนเป็นเงินไทยกว่า 5,000 ล้านบาท คงไม่นับ “ข้าวของ” ราคาแพงอย่างชุดนักร้อง นักแสดง นักกีฬา และอุปกรณ์เครื่องใช้ไม้สอย “มียี่ห้อ” ทั้งหลายในงานมหกรรมนี้ ที่บรรดาไฮโซเห็นก็รู้จัก จำได้ งานนี้ LVMH จึงมีกำไร ได้ทั้งชื่อเสียงเงินทอง ขายของคนไปดูโอลิมปิกก็เท่าไรแล้ว
แต่อีกด้านหนึ่ง คนรวยเหล่านี้เป็นเป้าการประท้วงมานานหลายปี เพราะความเหลื่อมล้ำ (ไม่มี “เสมอภาพ” ตามอุดมการณ์) มีคนรวยล้นฟ้าแต่ “โกลชา” (clochard) คนจนคนไร้บ้านนอนใต้สะพานข้างถนนก็เยอะ
โอลิมปิกปารีสจึงยังสะท้อนตอนท้ายของการต่อสู้ทางการเมืองที่ไม่มีวันสิ้นสุด ตั้งแต่ยุคกลางในยุโรป ยุคเรืองปัญญา (ที่ศรัทธาในเหตุผล) จนเกิดปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789 และสู้กันอีกเกือบร้อยปี มีปฏิวัติรอบสองในปี 1830 จนสิ้นสุดระบบกษัตริย์ในปี 1870 ฝรั่งเศสเป็นสาธารณรัฐตั้งแต่นั้นมา
ความรุนแรงในการเปลี่ยนแปลงสังคมยังปรากฏในงานเปิดโอลิมปิกปารีส 2024 โดยเฉพาะภาพที่พระนางมารี อองตัวแนตต์ถือพระเศียรที่ถูกตัด และ “อาหารค่ำมื้อสุดท้าย” ที่กลายเป็นประเด็นให้มีการประท้วงในบางประเทศโดยศาสนิกฝ่ายอนุรักษ์ รวมทั้งผู้นำศาสนาและขบวนการขวาจัดในฝรั่งเศสเอง
แต่นั่นคือการแสดงให้เห็นว่า ฝรั่งเศสเป็น “สาธารณรัฐ” ที่ประชาชนล้มระบบกษัตริย์ และเป็นสังคม “ไม่มีศาสนา” (secularized) คนฝรั่งเศสส่วนใหญ่จึงไม่ได้ประท้วงฉากเหล่านี้ เพราะเป็น “ข้อเท็จจริง” และ “ความเป็นจริง” ทางประวัติศาสตร์และสังคมของพวกเขา
สิ่งที่ฝรั่งเศสอยากแสดงด้วยความภูมิใจมากที่สุด คงเป็นเรื่อง “เสรีภาพ เสมอภาพ และภราดรภาพ” ซึ่งหลายคนในฝรั่งเศสและในชาติอื่นอาจไม่เห็นด้วย และวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งฝรั่งเศสก็รับการวิจารณ์และ “ขอโทษ” โดยมารยาท เพราะวิจารณ์คนอื่นได้ ก็รับการวิจารณ์ของคนอื่นได้
สาระ (message) อย่างหนึ่งของงานนี้ คือ การประกาศยอมรับ (tolerate) ความหลากหลาย ความแตกต่างทางความคิดทางสังคมวัฒนธรรม ความเชื่อ เพศสภาพ ให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ
เจตจำนงเดิมของโอลิมปิกเมื่อกว่าสองพันปีก่อนก็ต้องการเช่นนี้ แม้ขณะนี้ที่รบก็รบกันไป ที่เล่นก็เล่นกันไป เอาดาบมาฟันเล่นเป็นกีฬา ดีกว่าเอาไปทิ่มแทงกันในสนามรบ