ทีมข่าวคิดลึก และแล้วประเด็นที่ว่าการเขย่า"องค์กรอิสระ" กำลังมาแรงแซงโค้งความหวั่นไหวที่ "นักการเมือง" ได้เคยเผชิญหน้ากันมาแล้ว เมื่อครั้งที่มีการโยนหินลงมาถามทางว่าด้วยการ"เซต ซีโร่"ทุกพรรคการเมือง ! เพราะล่าสุดได้เกิดแรงกระเพื่อมเสียงตอบโต้กันไปมาระหว่าง "ผู้ร่าง" คือ"คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ" กับ"องค์กรอิสระ"ที่จะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะ "คณะกรรมการการเลือกตั้ง"หรือ กกต. ซึ่งกำลังดำเนินไปอย่างดุเดือดจนต้องมีเสียงปรามจาก "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าขอให้ต่างฝ่ายต่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน เวลานี้ขั้นตอนที่สำคัญที่อยู่ในมือของ กรธ. โดยมี"มีชัย ฤชุพันธุ์" ประธานกรธ. และคณะกำลังเร่งดำเนินการคือการเขียนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ที่สำคัญด้วยกัน 4 ฉบับ และในวันนี้ 23 พ.ย. กรธ. จะได้นำความเห็นของประชาชนที่เข้าร่วมเวทีรับฟังความเห็นร่าง พ.ร.ป. ทั้ง 2 ฉบับ คือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง เข้าสู่การพิจารณาประกอบในการยกร่างต่อไปทั้งนี้ดูเหมือนว่าประเด็นที่กลายเป็นชนวนจุดให้เกิดข้อโต้แย้ง ปลุกกระแสต่อต้าน คัดค้านจากฝ่ายที่จะต้องได้รับผลกระทบในทางตรง คือ กกต. และพรรคการเมือง ที่ส่อเค้าว่าจะถูกเซต ซีโร่ ไปพร้อมๆ กัน ! สำหรับ กกต. นั้น กำลังเจอกับมรสุมด้วยกันหลายลูก เนื่องจาก กรธ. มีแนวคิดที่จะปรับคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระทั้งหมดให้มีมาตรฐานเดียวกัน รวมทั้งยังจะให้มีการสังคายนา กกต.จังหวัด ตามมาอีกระลอก ขณะที่ฝ่ายการเมืองอาจต้องเจอกับ"ยาแรง" เนื่องจาก กรธ. กำลังพิจารณาเรื่องของ "ยุบพรรค" ที่จะมาจาก 3 กรณีคือ 1.เป็นปฏิปักษ์ ใช้อำนาจ หรือรับเงินล้มล้างการปกครอง 2.รับเงินจากต่างด้าวและ 3.รับเงินเพื่อซื้อขายตำแหน่ง สำหรับโทษตัดสิทธิทางการเมืองจากการยุบพรรค นั้นจะมีโทษเฉพาะ "ผู้กระทำผิด" ไม่เกี่ยวกับ "คณะกรรมการบริหารพรรค" เหมือนในอดีต ซึ่งโทษสูงสุดคือตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตขณะเดียวกัน ก็จะมีโทษทางอาญาที่รุนแรงสุดคือ "การประหารชีวิต" หรืออาจรองลงมาคือ จำคุกตลอดชีวิตในฐานความผิดล้มล้างการปกครอง ซื้อขายตำแหน่ง เพราะถือว่าเป็นการทำลายระบบ แน่นอนว่าเมื่อ กรธ. เตรียมที่จะใช้"ยาแรง" ทั้งต่อองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และต่อพรรคการเมือง ในลักษณะเช่นนี้ ย่อมนำมาซึ่ง แรงต้านอย่างไม่ต้องสงสัย และในความเป็นจริงแล้ว อาจไม่ใช่แค่เพียงสองพรรคใหญ่ อย่าง "เพื่อไทยประชาธิปัตย์" เท่านั้นที่แสดงความไม่เห็นด้วย ทว่าในความเป็นจริงแล้ว ดูจะเป็นเรื่องยากที่จะยอมรับ และทำให้ "นักการเมือง" แทบทุกส่วนต่างเข็ดขยาดและหวั่นไหวกันถ้วนหน้า ในฐานะ "ผู้เล่น" ! อย่างไรก็ดี เวลานี้ไม่เพียงแต่นักการเมืองเท่านั้นที่หวั่นไหว เพราะเมื่อประเมินจากท่าที และปฏิกิริยาจาก กกต. บางรายที่แสดงออกว่า "รับไม่ได้" อย่าง"สมชัย ศรีสุทธิยากร" ถึงกับ "สวนหมัด"เข้าใส่ประธาน กรธ. มาแล้ว สถานการณ์ต่างๆ เหล่านี้ กำลังสะท้อนภาพให้เห็นว่า การเซต ซีโร่ นั้นอาจไม่ได้เกิดขึ้นกับนักการเมืองเท่านั้นแต่ยังมีแนวโน้มว่าองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ไม่เฉพาะ กกต. ต่างอยู่ในความสุ่มเสี่ยงไม่ต่างกันทั้งสิ้น แต่ทั้งนั้นทั้งนี้สายตาที่เพ่งมองไปยังปฏิบัติการร่างกฎหมายลูก ด้วยการ "เสิร์ฟยาแรง" จากกรธ. เช่นนี้ ในความเป็นจริงแล้ว จะยิ่งทำให้เกิดคำถามและข้อสังเกตว่า กรธ. ได้รับ "ใบสั่ง" จาก คสช. ให้ดำเนินการใช่หรือไม่ เพราะไม่ว่าจะมองมุมไหน ทิศทางใด บรรดานักการเมืองต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่ากฎกติกาเช่นนี้ มีแต่จะทำให้"ทุกฝ่าย" อ่อนแอลงไป เห็นจะมีก็แต่คสช. เท่านั้นที่จะเป็นฝ่ายเข้มแข็งเท่านั้น!