ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ
อาจารย์ประจำสถาบันการทูตและการต่างประเทศ
มหาวิทยาลัยรังสิต
มีอาจารย์ที่ผมเคารพได้แนะนำให้ผมอ่านงานวิจัยชิ้นหนึ่งจาก Pew Research Center ซึ่งต้องบอกว่าน่าสนใจมากๆครับ เดี๋ยววันนี้จะมาเล่าให้อ่านกัน
งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการศึกษา “ความรู้สึกนิยมชมชอบต่อประเทศจีน” โดยงานชิ้นนี้ ได้ทำการสำรวจความเห็นจาก 35 ประเทศทั่วโลก ซึ่งผลลัพธ์ของมันออกมาเป็นเทรนด์ที่น่าสนใจอย่างยิ่งครับ เพราะความรู้สึกนิยมชมชอบต่อประเทศจีน “แปรผกผัน” กับ “การพัฒนาทางเศรษฐกิจ” นั่นคือประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจค่อนไปทางสูง จะมีมุมมองค่อนข้างลบต่อประเทศจีน ในขณะที่ประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจค่อนไปทางต่ำ หรือกำลังพัฒนา จะมีมุมมองค่อนข้างบวกต่อประเทศจีน ซึ่งใน 35 ประเทศนี้ ประเทศที่มีมุมมองต่อประเทศจีนบวกที่สุด คือประเทศไทยของเราครับ
คำถามที่น่าสนใจ แน่นอนครับ...ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
หากพิจารณาดูประเทศที่มีมุมมองค่อนข้างลบต่อประเทศจีน จะพบว่า ประเทศส่วนใหญ่คือประเทศที่มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจในระดับสูง เช่น ในทวีปยุโรป ก็ได้แก่ ฮังการี อิตาลี สเปน เยอรมนี สวีเดน ทวีปอเมริกาเหนือ ได้แก่ อเมริกาและแคนาดา ส่วนประเทศในเอเชีย ก็ได้แก่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย อิสราเอล และตุรเคีย เป็นต้น ซึ่งหากมองกันให้ลึกลงไปอีกนิด เราจะเห็นได้ว่า ประเทศต่างๆเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐอเมริกาทั้งสิ้นเช่นกัน แสดงให้เห็นว่าประเทศที่มีมุมมองลบต่อจีน ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีสองปัจจัยร่วมกัน กล่าวคือ มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่สูง และมีความสัมพันธ์อันดีต่อสหรัฐอเมริกา สิ่งนี้สามารถอธิบายได้คร่าวๆว่า หรือแท้จริงแล้วสองปัจจัยนี้มีความเชื่อมโยง เป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน แสดงว่าประเทศเหล่านี้น่าจะแฮปปี้กับ Status quo หรือสภาพการณ์ในปัจจุบันที่มีสหรัฐเป็นผู้นำของระบบเศรษฐกิจ การเติบโตของจีนจึงอาจสร้างความกังวลให้กับประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะกับระบบเศรษฐกิจที่พวกเขาแฮปปี้อยู่ หากวันใดจีนเติบโตขึ้นจนสามารถเปลี่ยนแปลง status quo หรือสภาพการณ์ปัจจุบันได้ ระบบเศรษฐกิจของโลกก็อาจเปลี่ยนแปลง และแน่นอนประเทศเหล่านี้อาจจะสูญเสียผลประโยชน์
นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงการรุกของจีนทั้งการเมืองและการค้าระหว่างประเทศ ก็จะพบว่า ปัจจุบันนี้ประเทศเหล่านี้เริ่มได้รับผลกระทบจากการรุกของจีน ทั้งการค้าขายที่สู้จีนได้ยากขึ้นทุกวัน ทั้งด้านเทคโนโลยีที่ก็สู้จีนได้ยากขึ้นทุกวัน มิหนำซ้ำยังแถมด้านเกมการเมืองระหว่างประเทศ ที่ก็สู้กระบวนท่าของจอมยุทธ์จีนได้ยากขึ้นทุกวัน อย่าลืมว่า การเมืองระหว่างประเทศ ก็คือเกมอำนาจเกมหนึ่ง ซึ่งอำนาจนั้นก็พ่วงมาด้วยเศรษฐกิจและอีกสารพัดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น จึงไม่แปลก หากประเทศที่ได้ดิบได้ดี เติบโตทางเศรษฐกิจมาด้วยบรรยากาศของอำนาจเดิม (สหรัฐ) จะรู้สึกไม่ค่อยแฮปปี้กับจีนสักเท่าไร
ในทางกลับกัน ประเทศที่นิยมชมชอบจีน จากการสำรวจ คือประเทศที่มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจค่อนข้างน้อย เช่นประเทศในแอฟริกา ได้แก่ ไนจีเรีย เคนยา กานา ประเทศในอเมริกาใต้ ได้แก่ เปรู เม็กซิโก โคลอมเบีย และประเทศในเอเชีย เช่น ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย บังกลาเทศ เป็นต้น ประเทศเหล่านี้ สามารถมองได้ค่อนข้างชัดเจน ว่าเป็นประเทศที่ “ได้ประโยชน์” จากการเติบโตของจีน หลายประเทศเป็นประเทศที่อยู่ในแผนการพัฒนาภายใต้ Belt Road Initiative ของจีน ที่ใช้ Soft Power ที่สำคัญอันได้แก่ การช่วยเหลือด้านการสร้างระบบสาธารณูปโภค การศึกษา การคมนาคม ไปจนถึงเรื่องสุขภาพและการแก้ปัญหาความยากจน ผ่านกลไกสำคัญทั้งกลไกระหว่างรัฐต่อรัฐ การให้เงินกู้โดย AIIB หรือแม้แต่การเข้าไปลงทุนโดยบริษัทจีนที่นำเม็ดเงินมหาศาลเข้าสู่ประเทศ
ประเทศเหล่านี้จึงมักได้ประโยชน์จากการเติบโตของจีน โดยเฉพาะในมิติความช่วยเหลือที่อาจไม่สามารถได้รับ หรือได้รับไม่เต็มที่จากอำนาจเก่า ซึ่งมักให้ความสำคัญกับมิติด้านความมั่นคงก่อนการช่วยเหลือต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศในแอฟริกา ซึ่งเป็นกลุ่มก้อนที่สำคัญที่ได้รับประโยชน์จากการช่วยเหลือของจีน ในขณะที่ประเทศในเอเชีย เช่น ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ต่างก็ได้ผลประโยชน์จากการดำเนินนโยบายของจีนที่ให้ความสำคัญกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แถมยังมีความสัมพันธ์กันเชิงเครือญาติจากชาวจีนโพ้นทะเลที่อยู่ในประเทศ
ดังนั้น อาจมองได้ว่า สำหรับประเทศเหล่านี้ จีนจึงอาจมีความหมายเสมือน “ถนนเส้นใหม่” ที่นำไปสู่ความเจริญและการพัฒนา...จึงไม่แปลกที่ผลสำรวจจะออกมาในลักษณะเช่นนี้
แน่นอนว่าเหรียญย่อมมีสองด้าน ประเด็นนี้ก็เช่นกัน ไม่ว่าความรู้สึกจะบวกหรือลบก็ย่อมมีผลกระทบต่อประเทศต่างๆทั้งสองทิศทางเช่นกัน
สัปดาห์หน้า ผมจะมาเล่าให้ท่านอ่านกันต่อครับว่า แล้วมุมมองทั้งบวกและลบเช่นนี้ มีผลต่อนโยบายภายในประเทศหรือไม่ อย่างไร? และจะส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆอย่างไร
ลาไปก่อนสัปดาห์นี้ ยังไม่เอวังครับ