เสรี พงศ์พิศ

Fb Seri Phogphit

ปัญหาเศรษฐกิจไทยวันนี้ตกหนักกับ “ชาวบ้าน” คนจน คนรากหญ้ามากที่สุด รัฐบาลนำโดยพรรคเพื่อไทยยังไม่ได้มีผลงานอะไรชัดเจนเพื่อแก้ปัญหา เน้นแต่เรื่องเงินดิจิทัลหนึ่งหมื่นบาท

หรือว่าจะมีวาระซ่อนเร้นที่เป็น “ไม้เด็ด” กว่าเงิน 10,000 บาท ที่ประกาศเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า ไทยจะเป็นศูนย์กลางการเงินโลก ที่คงไม่ใช่โฆษณาหาเสียง เพราะความจริง “เป็นมานานแล้ว” อีกไม่นานคงรู้กัน เมื่ออะไรๆ จะเปิดเผยออกมา

วิกฤติต้มยำกุ้งนั้น “คนรวย” ได้รับผลกระทบ สถาบันการเงิน สถานประกอบการ โรงงานต่างๆ “เจ๊ง” มีแต่คนเคยรวยเต็มไปหมด คนจน คนรากหญ้าได้รับผลกระทบด้วยแต่ไม่มากเหมือนวันนี้ เพราะวันนั้นคนตกงานก็กลับบ้าน ไปพึ่งพาอาศัยพ่อแม่ ญาติพี่น้อง ยังพอไปหาอยู่หากินกับธรรมชาติได้บ้าง

จะเรียกว่า คนจนล้มบนฟูกก็ไม่ผิด ขณะที่วันนี้ “คนรวย” ส่วนใหญ่ไม่ได้ล้ม ถ้าล้มก็ล้มบนฟูก ธนาคารต่างๆ กำไรไม่ได้ลดลง สถานประกอบการหลักๆ ได้รับผลกระทบไม่มาก

อยากรู้ว่า เศรษฐกิจมีปัญหาต้องถามแท็กซี่ คนขายของ ขายอาหาร ไปซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า และตลาดนัด ลองไปเดินดูอาจจะเห็นคนขายมากกว่าคนซื้อ แม่ค้าส่วนใหญ่โอดครวญว่า “เงียบมาก” บอกว่า วันนี้ขายได้ไม่ถึงครึ่งของปีที่แล้ว และลดลงเรื่อยๆ แผงขายของตามทางเดินในห้างเริ่มว่าง ตลาดนัดเริ่มจาง

ในปี 2008 เกิดวิกฤติซับไพรม์ หรือที่ไทยเรียกว่า วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ เริ่มจากสหรัฐอเมริกาส่งผลกระทบไปทั่วโลก รวมทั้งไทย แม้ไม่รุนแรงเหมือนตอน “ต้มยำกุ้ง” รัฐบาลไทยในยุคประชาธิปัตย์มีแนวทางบรรเทาปัญหาให้ “คนรากหญ้า” โดยตั้งโครงการ “ต้นกล้าอาชีพ”

สาระสำคัญ คือ ให้คนได้ “เรียนรู้” เพื่อพัฒนาอาชีพเดิมหรืออาชีพใหม่ และให้ทุนคนละ 5,000 บาท หน่วยงานของรัฐและเอกชนต่างก็เสนอรับดำเนินโครงการนี้ สถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน (ที่ผู้เขียนเป็นผู้อำนวยการขณะนั้น) ได้รับไปดำเนินการ 1,000 กลุ่ม กลุ่มละ 50 คน ทั่วประเทศ โดยจัดการฝึกอบรมวิทยากรกระบวนการเพื่อให้ไปดำเนินการในท้องถิ่นของตน

เราได้อบรมวิทยากรกระบวนการให้จัดฝึกอบรมชาวบ้านให้เรียนรู้ 4 อย่าง คือ ทำแผนชีวิต แผนอาชีพ แผนการเงิน แผนสุขภาพ เพราะเชื่อว่า ปัญหาของชาวบ้านไม่ใช่เพียง “เทคนิค” หรือวิธีการประกอบอาชีพ แต่เพราะขาดวิธีคิด วิธีจัดการชีวิต อยู่อย่างไม่มีเป้าหมาย ไม่มีแบบไม่มีแผนมากกว่า

ชาวบ้านจำนวนมากรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน นำเงินส่วนหนึ่งจาก 5,000 บาทมารวมกันเพื่อ “ลงทุน” ทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดรายได้ เพราะส่วนใหญ่มีความรู้มีทักษะอยู่แล้ว แต่ขาด “เงินทุน” ที่ไม่สามารถหรือไม่กล้าไปกู้ ธ.ก.ส. กลัวว่าถ้าขาดทุนแล้วจะไม่มีเงินไปใช้หนี้ แต่นี่เป็นเงินที่รัฐบาลให้มาจึงกล้า “เสี่ยง”

หลังจากโครงการผ่านไป ทางรัฐบาลให้คนไปประเมินผล ได้ทราบว่ารัฐบาลพอใจโครงการที่เราทำมากที่สุด เพราะชาวบ้านบอกว่า ทำโครงการกับสถาบันนี้ได้ “ได้เงิน ได้เพื่อน ได้ความรู้ ได้ปัญญา” มีคนบอกด้วยว่า “โครงการนี้ดีหมด เสียอย่างเดียวมาช้าไป ถ้ามาเร็วกว่านี้ พวกเราคงไม่เป็นหนี้”

ไม่ได้ต้องการเชียร์พรรคประชาธิปัตย์ เพียงแต่เห็นว่า โครงการต้นกล้าอาชีพเป็นแนวคิดที่ดี ที่บรรเทาความเดือดร้อนในยามวิกฤติเศรษฐกิจได้ดี เพราะไม่ได้แจกเงินอย่างเดียว แต่มีเงื่อนไขให้ “เรียนรู้”

คงต้องถามนายมาร์ติน วีลเลอร์ ที่บอกว่า “ปัญหาชาวบ้านเป็นอะไรที่ยากกว่า ลึกกว่า ซับซ้อนกว่าแค่ปัญหาเทคนิค วิธีการ เป็นปัญหาวิธีคิด ถ้าเป็นแค่เทคนิคคงแก้ได้ง่าย คนเราไม่ชอบคิด คิดแล้วปวดหัว ถ้าไม่คิดมันก็ง่ายดี ใครทำอะไรก็ทำตามเขา ไม่ต้องคิดมาก ตั้งแต่เกิดจนตายไม่ต้องคิดอะไรก็ได้” 

“โรงเรียนก็ไม่ได้สอนให้คิด มหาวิทยาลัยก็ไม่สอนให้คิด รัฐบาลยิ่งไม่อยากให้ใครคิด ไม่มีรัฐบาลประเทศไหนในโลกที่อยากให้ชาวบ้านคิดได้ ถ้าชาวบ้านคิดได้ เขาต้องเปลี่ยนระบบหมด ถ้าคนคิดไม่เป็นต้องพึ่งคนอื่นเขา เขาให้คนคิดเป็นอยู่ในวงแคบๆ จะได้ควบคุมได้ ให้คนอื่นทำแบบเดียวกันหมด มันคุมง่าย”

ถ้ารัฐบาลมีวิสัยทัศน์และต้องการแก้ปัญหาระยะสั้นระยะยาวคงไม่ได้คิดแค่เรื่องแจกเงินดิจิทัล แต่คิดถึงกระบวนการพัฒนา “คน-ความรู้-ระบบ” ไปพร้อมกัน

สัก 20 ปีก่อน รัฐบาลไทยรักไทยส่งเสริมโครงการโอทอป พาคนไปดูงานที่โออิตะ จากนั้นสองสามปี มีผู้เชี่ยวชาญโอทอปชาวญี่ปุ่นมาไทย สื่อมวลชนถามว่า โอทอปไทยกับของญี่ปุ่นต่างกันอย่างไร เขาตอบว่า ไทยใช้เวลา 2 ปีพัฒนาผลิตภัณฑ์ ญี่ปุ่นใช้เวลา 20 ปีพัฒนา “คน-ความรู้-ระบบ” ได้ผลิตภัณฑ์ ได้คนมีความรู้มีทักษะ ได้ระบบการบริหารจัดการ การผลิต การตลาด (ไม่รู้ว่าเขาชมหรือเขาเสียดสีและสั่งสอน)

บ้านเราสนใจแต่ “รูปแบบ”  ละเลย “เนื้อหาและกระบวนการ” ทั้งเศรษฐกิจและการเมืองถึงได้ “กลวง” เก่งแต่เลียนแบบไม่เรียนรู้ บริโภคข้อมูลข่าวสารแต่ไม่สร้างความรู้ เพราะระบบการศึกษาที่ “กลวง” ไม่ได้สอนให้คนคิดเป็น วิเคราะห์วิจารณ์ได้

นายวอลเฟอร์โซห์น อดีตประธานธนาคารโลกบอกว่า “เงินแก้ปัญหาความยากจนไม่ได้ ถ้าแก้ได้คงแก้นานแล้ว เพราะโลกไม่ได้ขาดเงิน” แต่ขาดวิธีคิด ที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ไม่ให้ความสำคัญ ต้องการแต่เงินให้เปล่าหรือเงินกู้ แล้วก็ไปแจกไปสงเคราะห์ (และโกง) ไม่ได้ไปพัฒนา ไม่ได้แก้ปัญหาระบบโครงสร้าง

ปัญหาสังคมไทยเป็นปัญหา “เศรษฐศาสตร์การเมือง” มีประชาธิปไตยแต่เพียงรูปแบบที่ “กลวง” เนื้อหา แก้ปัญหาด้วยการแจกเงินจึงเหมือนให้ยาแก้ปวดคนป่วยเรื้อรังด้วยโรคร้ายที่ต้องการผ่าตัด

หรือว่าสังคมไทยต้อง “รื้อสร้างใหม่” จากประชาธิปไตยปลอมและกลวงให้เป็นระบบระบอบที่เป็น “ธรรมาธิปไตย” ที่คนไทยมีส่วนร่วมกำหนด ร่วมกันสร้างอย่างแท้จริง ไม่ปล่อยให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง “กินรวบ” เพราะประเทศไทยเป็นของคนไทยทุกคน