รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
ประธานที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
ตลอดช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขพบว่าจำนวนผู้เข้ารับการบำบัดยาเสพติดในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง โดยตัวเลขล่าสุดของผู้เข้ารับการบำบัดยาเสพติดปี 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 120,915 คน แบ่งเป็นเพศชาย 106,709 คน และเพศหญิง 14,206 คน ส่วนกลุ่มอายุที่เข้ารับการบำบัดมากที่สุดคือ 35-39 ปี รองลงมาคือ 30-34 ปี และ 25-29 ปี ซึ่งประเภทของยาเสพติดที่เสพ/ใช้มากที่สุดคือ ยาบ้า ไอซ์ และกัญชา จากข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นว่าปัญหายาเสพติดกับสังคมไทยยังเป็นปัญหาเรื้อรังแม้ว่าจำนวนผู้เข้ารับการบำบัดจะมีแนวโน้งที่ลดลงก็ตาม
แต่กลุ่มอายุของผู้เข้ารับการบำบัดยาเสพติดมีอายุช่วง 25-39 ปีเป็นจำนวนสูงสุด ซึ่งประชากรกลุ่มนี้ถือเป็นวัยทำงานทำให้สังคมต้องเกิด
ความสูญเสียเชิงเศรษฐกิจตามมา และที่น่าสังเกตอย่างยิ่งก็คือ 1 ใน 3 ของยาเสพติดที่พบมากที่สุดคือ กัญชา !!!
กัญชากับช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าทั่วโลกมีจำนวนผู้ใช้กัญชาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 23 และกัญชาจัดเป็นยาเสพติดที่ถูกใช้มากที่สุดในโลก
โดยข้อมูลสถิติล่าสุดในปี 2566 ระบุว่ามีผู้เสพ/ใช้กัญชาทั่วโลกจำนวนประมาณ 209 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 4 ของประชากรโลก เพศชายเสพ/ใช้กัญชามากกว่าเพศหญิง และภูมิภาคที่มีผู้เสพ/ใช้กัญชามากที่สุดคือ อเมริกาเหนือ รองลงมาคือ ยุโรป และ แอฟริกา
ขณะที่ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) หรือ Centre for Addiction Studies (CADS) รายงานว่า การใช้สารเสพติดของประชากรไทยอายุ 18 - 65 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 พบค่าประมาณความชุกการใช้กัญชาในหนึ่งปีเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.3 ในปี พ.ศ. 2562 เป็นร้อยละ 2.5 และร้อยละ 4.3 ในปี 2563 และ 2564 และเพิ่มขึ้นถึงสิบเท่าเป็นร้อยละ 25 ในปี พ.ศ. 2565 หลังจากการนำกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษ ทำให้เกิดการใช้กัญชาโดยทั่วไปได้โดยไม่ผิดกฎหมาย
การเสพติดเป็นภาวะของการใช้สารหรือการทำพฤติกรรมใดซ้ำ ๆ โดยไม่สามารถหยุดยั้งการใช้สารหรือการกระทำนั้น ๆ ได้ ทั้งที่รู้ว่าการใช้สารหรือการกระทำนั้น ๆ ทำให้เกิดผลเสียต่อตนเองหรือบุคคลอื่น เมื่อบุคคลเกิดการเสพติดสารหรือพฤติกรรมใด ๆ แล้ว จะสามารถกลับเป็นซ้ำได้ แม้ว่าสามารถหยุดใช้สารหรือหยุดการกระทำนั้น ๆ มาได้ระยะหนึ่ง
ผลกระทบต่อสุขภาพจากการเสพติด พบว่าสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการยับยั้งชั่งใจ การให้รางวัล ด้านอารมณ์ และด้านความจำมีส่วนเกี่ยวข้องกับภาวะการเสพติด การเสพติดจัดเป็นภาวะเกี่ยวข้องกับกลไกการทำงานของสมองที่หลากหลาย โดยสารเสพติดบางชนิดสามารถออกฤทธิ์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการทำงานและโครงสร้างของสมองระยะยาวได้ ปัญหาการติดสารเสพติดจึงจัดเป็นปัญหาทางสุขภาพอย่างหนึ่ง เช่น อาการอยากสาร (Craving) อาการถอน (Withdrawal symptoms) ความผิดปกติของการทำงานของสมอง เป็นต้น
ยาเสพติดจัดเป็นภัยสังคมอย่างหนึ่ง เพราะส่งผลกระทบต่อผู้เสพทั้งด้านร่างกาย ด้านจิตใจ และด้านสังคม ส่งผลกระทบต่อครอบครัวเกิดปัญหาความสัมพันธ์ เช่น ความขัดแย้ง การทะเลาะวิวาท ความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาเศรษฐกิจ เมื่อผู้เสพนำเงินไปซื้อยาเสพติด ทำให้ครอบครัวเดือดร้อน ปัญหาสุขภาพจิตทำให้สมาชิกในครอบครัวเครียด กังวล รู้สึกละอาย ถูกสังคมรังเกียจ ส่งผลกระทบต่อสังคม เช่น ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาสุขภาพ ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาความปลอดภัย และส่งผลกระทต่อประเทศ ทำให้ประเทศสูญเสียทรัพยากรบุคคลที่จะมาช่วยในการพัฒนาประเทศ สูญเสียเงินทุนเนื่องจากภาครัฐต้องใช้จ่ายงบประมาณในการบำบัดรักษาผู้เสพ ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเสียภาพลักษณ์ทำให้ประเทศไทยถูกมองว่าเป็นแหล่งผลิตและค้าขายยาเสพติด
ปัญหายาเสพติดของสังคมไทยอยู่ระดับความรุนแรงอย่างต่อเนื่องและเป็นปัญหาที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน เพื่อเป็น การสะท้อนประเด็นปัญหายาเสพติดกับสังคมไทย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิตจึงดำเนินการสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อประเด็นดังกล่าว อาทิ สาเหตุหลักที่คนหันไปพึ่งยาเสพติด ประสิทธิภาพการจัดการปัญหายาเสพติดในประเทศไทย สาเหตุที่การปราบปรามยาเสพติดในประเทศไทยถึงไม่หมดสิ้น การที่กัญชาและกัญชงจะกลับไปเป็นยาเสพติดจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและภาพลักษณ์ของรัฐบาลอย่างไร ความคาดหวังต่อรัฐบาลในการดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติด และหน่วยงานใดจะช่วยปราบปรามหรือแก้ไขปัญหายาเสพติด โปรดติดตามผลสำรวจและบทวิเคราะห์ในสุดสัปดาห์ที่จะถึงนี้ น่าสนใจอย่างยิ่ง ครับ...