อยู่ในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลเข้าพรรษา เป็นอีกหนึ่งเทศกาลที่พี่น้องประชาชนมักจะเดินทางกลับภูมิลำเนาไปทำบุญกับครอบครัว รวมทั้งท่องเที่ยวพักผ่อน ผู้ประกอบการบางแห่งที่ไม่ได้หยุดช่วงปีใหม่และสงกรานต์ เพราะลูกจ้างขอมาหยุดช่วงเข้าพรรษาก็มี

ทั้งนี้ประเพณีทำบุญเนื่องในเทศกาลเข้าพรรษานั้น มีหลักฐานมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยจารึกหลักที่ 1 จารึกพ่อขุนรามคำแหงระบุว่า พระมหากษัตริย์ ขุนนาง และราษฎรร่วมกันถือศีลบำเพ็ญกุศลในเทศกาลเข้าพรรษา ดังความตอนหนึ่งว่า 

 “พ่อขุนรามคำแหง เจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทั้งชาวแม่ชาวเจ้า ทั้งท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้าลูกขุนทั้งสิ้นทั้งหลาย ทั้งหญิงทั้งชาย ฝูงท่วยมีศรัทธาในพุทธศาสน์ มักทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน”

 ในสมัยอยุธยา เอกสารประวัติศาสตร์ เรื่อง คำให้การขุนหลวงหาวัด กล่าวถึงการพระราชกุศลต่างๆ ในระหว่างเข้าพรรษา พระมหากษัตริย์ทรงสมาทานอุโบสถศีล เดือนละ 8 ครั้ง ถึงสมัยรัตนโกสินทร์

ในวรรณกรรม เรื่อง นางนพมาศ หรือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ซึ่งกล่าวถึงเรื่องราวของข้าราชการฝ่ายใน ตลอดจนพระราชประเพณีต่าง ๆ ใน 12 เดือน เฉพาะประเพณีเข้าพรรษาอยู่ในเดือน 8 รวมทั้งพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระราชพิธี 12 เดือน” ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระบรมราชาธิบายและพระราชวิจารณ์เกี่ยวกับธรรมเนียมประเพณีเข้าพรรษา ในหัวข้อเรื่อง “พระราชพิธีเดือนแปด”

ปัจจุบันการบำเพ็ญกุศลเนื่องในเทศกาลเข้าพรรษา ยังมีประเพณีสำคัญที่คงถือปฏิบัติสืบต่อมา คือ

ประเพณีแห่เทียนพรรษา ประเพณีนี้คงเกิดขึ้นจากความจำเป็นที่สมัยก่อนยังไม่มีไฟฟ้าใช้ดังเช่นปัจจุบัน เมื่อพระสงฆ์จำพรรษาต้องปฏิบัติกิจวัตร เช่น การทำวัตรสวดมนต์เช้า – เย็น การศึกษาพระปริยัติธรรม ฯลฯ กิจกรรมดังกล่าวนี้จำเป็นต้องใช้แสงสว่าง ด้วยเหตุนี้ พุทธศาสนิกชนจึงนิยมหล่อเทียนต้นใหญ่ตั้งขบวนแห่ไปถวายพระอาราม เรียกว่า “เทียนจำนำพรรษา” มีความเชื่อว่าอานิสงส์การถวายเทียนจำนำพรรษาจะทำให้เป็นผู้มีสติปัญญาดี สว่างไสวดั่งแสงเทียน

ปัจจุบัน มีประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาที่มีชื่อเสียงหลายจังหวัด เช่น อุบลราชธานี นครราชสีมา นครพนม และสุพรรณบุรี เป็นต้น

ประเพณีถวายผ้าอาบน้ำฝน ประเพณีนี้เกิดขึ้นแต่ครั้งพุทธกาลคือ มหาอุบาสิกาชื่อ นางวิสาขา ได้ทูลขออนุญาตพระพุทธองค์ให้พระสงฆ์มีผ้าอาบน้ำฝน เพื่อผลัดเปลี่ยนเวลาสรงน้ำในระหว่างฤดูฝน นางวิสาขาจึงนับเป็นสตรีคนแรกที่ถวายผ้าอาบน้ำฝนแด่พระสงฆ์

ประเพณีตักบาตรดอกไม้ เป็นประเพณีที่มีตำนานมาแต่ครั้งพุทธกาล มีความเชื่อกันว่า การตักบาตรดอกไม้เป็นการสร้างอานิสงส์ที่สูงส่งอย่างยิ่ง จะทำให้ชีวิตมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข ปัจจุบันเป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติที่วัดหลายแห่ง เช่น วัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ส่วนดอกไม้ที่นำมาถวายพระสงฆ์ เพื่อนำไปสักการะรอยพระพุทธบาทก็เป็นดอกไม้ท้องถิ่นที่ออกดอกในช่วงเวลานี้พอดี คือ “ดอกหงส์เหิน” แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “ดอกเข้าพรรษา”

อนึ่ง ก่อนเทศกาลเข้าพรรษาและเวียนเทียนนั้น มีธรรมเนียมประเพณีที่กุลบุตรอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ จะอุปสมบทในพระบวรพุทธศาสนา เพื่อศึกษาพระธรรมในช่วงเวลาเข้าพรรษา ส่วนพุทธศาสนิกชนนิยมไปทำบุญที่วัด รับอุโบสถศีล ฟังพระธรรมเทศนา รวมทั้งยังปวารณาตั้งมั่นบำเพ็ญคุณความดีในเทศกาลเข้าพรรษาตลอด 3 เดือน เช่น งดดื่มเหล้ารวมทั้งละเว้นอบายมุขต่าง ๆ เป็นต้น