สมบัติ ภู่กาญจน์ ( ความต่อจากตอนที่แล้ว ) นี่คือสถาบันพระมหากษัตริย์กับการปกครองของไทยในสมัยก่อน ที่อยู่ในภาวะพระผู้เป็นเจ้า และพระผู้เป็นเจ้านั้นก็คือ เทพเจ้าสามพระองค์ในศาสนาฮินดู อันได้แก่พระพรหม พระอิศวรและพระนารายณ์ แต่ไทยเราเองหรือฮินดูบางกลุ่ม มักจะให้ความสำคัญแต่เพียงสององค์ คือพระอิศวรกับพระนารายณ์ โดยองค์หนึ่งเรียกว่า ‘พระเดช’ โดยตีความจากการเป็นผู้ทำลาย ซึ่งก็เป็นไปตามภาวะธรรมชาติ ที่ทุกอย่างในธรรมชาติก็มีการทำลายการผุพังการแปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ส่วนอีกองค์หนึ่งเรียกว่า ‘พระคุณ’ เพราะอยู่ในฐานะผู้สร้างสรรค์ผู้รักษาสิ่งต่างๆให้ดำรงคงอยู่ในโลก ซึ่งคติความเชื่ออย่างนี้ ในที่สุดก็ไปลงที่องค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะพระผู้เป็นเจ้าที่มีความเพรียบพร้อมในทุกสิ่งทุกอย่าง ฉะนั้นคำว่า ‘รับราชการเพื่อสนองพระเดชพระคุณ’ จึงยังคงใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนคำว่า ‘พระกรุณา’ เช่นในถ้อยคำว่า ‘กราบบังคมทูลพระกรุณา’ นั้น น่าจะเป็นคติทางศาสนาพุทธ เพราะพระกรุณาหมายถึงพระพุทธเจ้า ในยุคที่ศาสนาพุทธเข้ามามีบทบาทสำคัญในสังคม จึงมีการนำมาใช้เรียกกับองค์พระมหากษัตริย์ ดังที่ปรากฏในถ้อยคำสำนวนในหนังสือพระราชพงศาวดารไทย ที่ชอบใช้คำว่า พระกรุณา อยู่บ่อยๆ เช่น “พระกรุณาให้เจ้าคุณเข้าไปดูมวย ถ้าเจ้าคุณจะเข้า ก็ขอให้คาดเชือกเข้าไปเลย” ความท่อนนี้เป็นการสื่อสารอย่างใช้คำพูดเป็นรหัสแยบยล ของการเมืองในราชสำนักยุคหนึ่งในสมัยอยุธยา ที่ถูกจารึกให้คปรากฏอยู่ในพงศาวดารไทย ที่กล่าวมา คือหลักการสำคัญที่ยึดถือกันมาตลอด และสิ่งที่ยึดถือนั้นจะต้องมีพลัง มีความแข็งแกร่งมากพอควร ระบอบนี้จึงคงอยู่ในประวัติศาสตร์ของชาติไทยมายาวนานโดยไม่มีเหตุเภทภัยใดๆ มาตลอดระยะเวลาของยุคกรุงศรีอยุธยา ธนบุรี เรื่อยมาจนถึงรัตนโกสินทร์ อายุจริงๆอาจจะยาวนานกว่านี้ก็ได้ ถ้าเราจะค้นพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องแท้จริงของกลุ่มชนชาวไทยเราได้มากขึ้น และด้วยหลักการที่ว่าพระมหากษัตริย์คือพระผู้เป็นเจ้า สรรพสิ่งทั้งหลายในประเทศหรือดินแดนแว่นแคว้นจึงต้องถือเป็นของพระมหากษัตริย์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ใดๆ ตลอดไปจนถึงชีวิตของผู้คน ด้วยเหตุที่พระมหากษัตริย์ต้องมีพระราชภารกิจมากมายหลายอย่างในการปกครองประเทศ ในที่สุดภาษาไทยจึงได้มีคำเรียกพระมหากษัตริย์อยู่มากมายเช่นเดียวกัน ดังเช่นคำแรกที่เรียกว่า ‘พระเจ้าอยู่หัว’ นั้นหมายถึงพระผู้เป็นเจ้าโดยตรง แปลเป็นภาษาฝรั่งให้ฟังดูโก้ๆได้มากขึ้นว่า ‘ก๊อดเฮด’ คือพระเจ้าอยู่หัว ตรงตัวและชัดเจนดี คำที่สองเรียกว่า ‘พระเจ้าแผ่นดิน’ หมายความว่าแผ่นดินทั้งปวง รวมทั้งผู้คนพืชพันธุ์ธัญญาหาร ทุกอย่างล้วนเป็นของพระมหากษัตริย์ คำๆนี้จึงได้เกิดขึ้น คำที่สามเรียกว่า ‘เจ้าชีวิต’ เพราะมีอำนาจเหนือชีวิตคนจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยก่อน อำนาจของพระมหากษัตริย์นั้น จะประหารชีวิตใครก็ได้ หรือจะพระราชทานอภัยโทษให้ใครมีชีวิตอยู่ต่อไปก็ได้ คำที่สี่เรียกว่า ‘ธรรมราชา’ หมายถึงทรงเป็นหลักแห่งความยุติธรรมหรือความดีงามทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งใกล้เคียงเข้าไปในหลักทางศาสนาพุทธ และคำสุดท้าย ที่เรานิยมเรียกกันว่า ‘ในหลวง’ นั้น คำนี้จะตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า ‘ชีพ เอกเซกคูติฟ’ ที่มาของคำๆนี้ เป็นคำที่ สืบเนื่องต่อมาจากคำว่า ‘ในกรม’ ที่ใช้อยู่ก่อน เช่นที่เรียกว่า ‘เสด็จในกรมฯ’นั้นกรมฯนี้ ซึ่งเป็นการบริหารจัดการงานในรูปแบบ ‘ทรงกรม’ ที่เจ้านายในพระราชวงศ์จะได้รับการแต่งตั้งให้ไปทำงานหรือทำหน้าที่อยู่ในงานราชการกรมใดกรมหนึ่ง ตามที่พระมหากษัตริย์จะทรงกำหนด การกำกับราชการในกรมใดกรมหนึ่งจึงทำให้เกิดคำว่า ‘ในกรม(ตามด้วยชื่อของกรมๆนั้น)’ ขึ้นมา แต่เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ‘ชีพ เอกเซกคูติฟ’ของประเทศ อันแปลว่าใหญ่หลวงสูงสุดยิ่งกว่าใครอื่นแล้ว คำว่า ‘ในหลวง’จึงเกิดขึ้น และเป็นที่นิยมเพราะเรียกใช้คล่องปาก เข้าใจง่าย เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน สภาพการณ์เหล่านี้ ดำรงคงอยู่มาจนถึงกลางปีพุทธศักราช 2475 เมื่อการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองครั้งใหญ่ในประเทศไทยเกิดขึ้น สถาบันพระมหากษัตริย์ที่เคยดำรงคงอยู่มานานหลายร้อยปี จึงได้ถูกเปลี่ยนแปลงฐานะให้เป็น ‘พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ’ ขึ้น โดยมีหลักการตามทฤษฎีประชาธิปไตยของชาวตะวันตกว่า ชาติต้องมีกฏหมายรัฐธรรมนูญให้คนในชาติยึดถือ พระมหากษัตริย์จะทรงเป็นประมุขของชาติก็ได้ แต่จะต้องใช้พระราชอำนาจโดยผ่านสถาบันต่างๆ ตามทฤษฎีรัฐศาสตร์ คือ ใช้พระราชอำนาจนิติบัญญัติทางรัฐสภา ใช้พระราชอำนาจบริหารทางรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี ใช้พระราชอำนาจตุลาการผ่านทางศาล อันเท่ากับว่า ด้วยหลักการปกครองนี้ พระราชอำนาจโดยตรงที่เคยมีอยู่อย่างกว้างขวางที่สุด และมีมานานนับหลายร้อยปีนั้นหมดสิ้นไปแล้ว มีแต่ตำแหน่งพระมหากษัตริย์ ที่จะใช้ เพื่อเป็นมิ่งขวัญของชาติของประเทศหรือของใครก็สุดแท้แต่จะพูดกันไป ในความเห็นของผมเอง ผมเห็นว่าความตั้งใจของคนที่คิดทฤษฎีนี้ต้องการจะให้พระมหากษัตริย์มีฐานะแต่เพียงเป็นตรายาง ที่มีไว้ใช้ประทับสิ่งต่างๆเท่านั้นมากกว่า และเมื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงทำให้ฐานะของพระมหากษัตริย์กลายเป็นเช่นนี้ สถาบันพระมหากษัตริย์จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างไรแค่ไหน ก็เป็นเรื่องที่ผู้สนใจเรื่องนี้ จะต้องพิจารณากันต่อไปให้ดี อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ของไทยที่เกิดขึ้นมาแล้ว ในปีพ.ศ.2476 เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ทรงตัดสินพระราชหฤทัยสละราชสมบัติ ราชสมบัติจึงตกไปอยู่กับพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ซึ่ง ณ ขณะนั้นยังประทับอยู่ในต่างประเทศและพระชนมายุก็ยังทรงพระเยาว์ ต่อมา ยังเกิดเหตุการณ์สวรรคตติดตามมาอีก น้ำหนักทั้งปวงจึงต้องมาตกอยู่ที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งต้องทรงรับน้ำหนักทั้งหมดของการเปลี่ยนแปลงนี้ อันไม่ใช่น้ำหนักที่น้อยๆเลย สถาบันพระมหากษัตริย์ที่เคยอยู่ในฐานะพระเป็นเจ้า และถูกปรับเปลี่ยนให้มาเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเปลี่ยนแปลงกันแล้วเปลี่ยนแปลงกันอีกมากมายหลายสิบยุค จะต้องทรงปรับพระองค์เป็นอย่างไร ในขณะเดียวกับที่ ประเพณีโบราณต่างๆอันเกี่ยวกับความยึดถือพระมหากษัตริย์ในฐานะพระเป็นเจ้า ที่คนส่วนใหญ่ทุกวันนี้ยึดถือก็ยังมีอยู่ การปรับพระองค์ขององค์พระมหากษัตริย์จึงเป็นสิ่งที่คนไทยควรเข้าใจและรับทราบ อีกทั้งมองให้เห็นว่าพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชภาระที่หนักหน่วงเพียงใดในโลกยุคปัจจุบัน......... ถ้าท่านผู้อ่าน คิดว่าเรื่องเหล่านี้ยังน่าอ่านน่ารู้ สิ่งที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์แสดงความคิดเห็นเอาไว้เมื่อสี่สิบปีแล้ว ยังมีเรื่องที่น่าสนใจอีกมาก ผู้สนใจขอเชิญติดตามอ่านต่อสัปดาห์หน้าครับ