สถาพร ศรีสัจจัง     

โลกทัศน์คืออะไร? ก็คือความรู้สึกคิดเห็นที่มนุษย์มีต่อสิ่งต่างๆในโลก กล่าวโดยสรุป อาจแบ่งได้เป็น 3 เรื่องใหญ่ๆด้วยกัน  เรื่องแรก คือทรรศนะที่มนุษย์(ผู้สืบเผ่าพันธุ์จากสปีชีส์โฮโมเซเปียนส์) มีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เรื่องที่ 2 คือทรรศนะที่มนุษย์มีต่อสรรพสิ่งที่เป็นสิ่ง “ธรรมชาติ” รอบตัว (Nature) และ เรื่องที่ 3 คือเรื่องที่มนุษย์ “รู้สึกนึกคิด” หรือมีทรรศนะต่อสิ่งที่พวกเขารู้สึกว่า “เหนือธรรมชาติ” (Super nature)

“โลกทัศน์” จึงคือสิ่งที่ก่อให้เกิด “ภาพลักษณ์” ในสมองมนุษย์ที่เกิดจาก “การเรียนร้” สิ่งต่างๆที่เข้ามากระทบอวัยวะที่รับการสัมผัสรู้ทั้งหลายของมนุษ์

คำ “สิ่งสัมผัสรู้” นี่คนไทยที่คุ้นเคยกับถ้อยคำและความทางพระพุทธศาสนา หรือ พุทธธรรม ซึ่งเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น จะเรียกว่า “เวทนา”  ซึ่งก็คือการ “เสวยอารมณ์" จึง เรียกว่า “เวทนา 6” นั่นเอง

เวทนา 6 แบ่ง “การเสวยอารมณ์” ออกเป็นหกอย่าง ได้แก่ 1.จักษุสัมผัสชา เวทนา หมายถึง เวทนาอันเกิดจากการสัมผัสทางตา  2.โสตสัมผัสชา เวทนา หมายถึง เวทนาอันเกิดจากการสัมผัสทางหู 3.ฆานสัมผัสชา เวทนา หมายถึง เวทนาอันเกิดจากสัมผัสทางจมูก 4.ชิวหาสัมผัสชา เวทนา  หมายถึง เวทนาอันเกิดจากสัมผัสทางลิ้น  5.กายสัมผัสชา เวทนา หมายถึง เวทนาอันเกิดจากการสัมผัสทางกาย และ 6.มโนสัมผัสชา เวทนา หมายถึง เวทนาอันเกิดจากการสัมผัสทางใจ

สรุปให้เข้าใจแบบง่ายๆก็คือ “ความสัมผัสรู้” (การรับรู้เหตุแห่งการเรียนรู้?) จากสิ่งภายนอกกาย(และใจ) ที่มากระทบ “อายตนะ” (อวัยวะรับสัมผัส) ทั้ง 6 คือ “ตา หู จมูก ลิ้น กาย และ ใจ” นั่นเอง!

“ภาวะรับรู้” หรือ “การรับรู้” (Perseption) ที่ทางศาสนาพุทธเรียกว่า “เวทนา” นี่แหละที่น่าจะเป็นต้นตอสำคัญที่สุดในการก่อเกิดสิ่งที่ “ระบบการศึกษาแบบตะวันตกสมัยใหม่” เรียกว่า “การเรียนรู้” (Learning) ขึ้น (ทางศาสนาพุทธแบบตะวันออกเรียกว่า “การปรุงแต่ง”?) อันก่อผลให้มีการ “ต่อยอด” หรือ “พัฒนา” ให้เกิด “ความรู้” ในการ “ตอบสนอง(Response) ต่อสิ่งที่เข้ามา “เร้า” (Stimulate) ในรูปแบบต่างๆ ทั้งในแง่ “ยอมรับ” และ “ไม่ยอมรับ”/ “พอใจ” หรือ “ไม่พอใจ”/ “เป็นมิตร” หรือ “เป็นศัตรู” ฯลฯ)

“การเรียนรู้ (learning) ดังว่านี้เอง ที่น่าจะมีส่วนทำให้ต้นเผ่าของมนุษย์ยุคปัจจุบันคือ “โฮโมเซเปียนส์” หลุดพ้นจาก “พฤติกรรม” (Behavior) การตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอกที่จะเข้ามาทำลาย “ความมีชีวิต” ของตน (การตอบโต้เพื่อยังชีวิตรอด ที่เรียกว่า “self mechanism”

ยิ่งมีการเรียนรู้ที่สั่งสมยาวนานมากขึ้น ก็ฟังว่า ยิ่งมีส่วนอย่างสำคัญยิ่งขึ้นต่อพัฒนาการ ด้านขนาดและความซับซ้อนในการใช้สมองเพื่อ “คิด” เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ซึ่งต่อมา “เซเปียนส์” ที่เป็นบรรพชนของมนุษย์ก็ค่อยๆ “พัฒนา” (develop) จนสามารถข้ามพ้นจากพฤติกรรมที่ตอบสนองสิ่งแวดล้อมต่างๆเพียง “เพื่อการมีชีพอยู่รอด” ที่เรียกว่าเป็นพฤติกรรมที่ทำไปตาม “สัญชาตญาณ” (instinct) จนเริ่มกลายเป็นพฤติกรรมที่ทำไปเพื่อ “เอาชนะ” (to overcome)!!

นี่คือจุด “การพัฒนา” ที่สำคัญที่สุดของเผ่าพันผธุ์ “โฮโมเซเปียนส์”!

จุดที่ “ผู้สืบเชื่อสายจากเซเปียนส์” บางคนบางกลุ่มพวก “วิเคราะห์” และ สรุปถึงสายพันธุ์ของตัวเองอย่างภาคภูมิใจว่า นี่เองคือจุดที่จะทำให้ “มนุษย์กลายเป็นผู้ครอบครองโลก”!!

แต่บางเสียงและบางคนบางกลุ่มพวก ก็ปล่งเสียงเป็นทำนอง “สีหนาท” สวดคำเป็นทำนองว่า “นี่เองคือจุดเริ่มต้นแห่งความหายนะของโลกและมนุษยชาติ”!

การสั่งสมความรับรู้ด้านต่างๆของมนุษย์ ค่อยๆพัฒนา(คาร์ล มาร์กซ์ บอกว่าการพัฒนานี้เป็นแบบ “ขดลวด”)เคลื่อนเปลี่ยนสิ่งที่เรียกว่า “โลกทัศน์” หรือ “ความรู้สึกคิดเห็นที่มีต่อโลก” (มี 3 เรื่องสำคัญอย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว คือ ต่อ “สิ่งธรรมชาติ” อื่นใด (natural things)  ต่อมนุษย์ด้วยกัน และ ต่อสิ่งเหนือธรรมชาติ (สิ่งที่พวกเขายังไม่รู้ หรือ “super nature”)ไปตาม “พื้นที่และเวลา” เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ภายหลังนักอะไรหลายนัก เริ่มตั้งแต่นักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติสาขาต่างๆ (natural scientists) นักประวัติศาตร์และนักโบราณคดี (historian and archaeologist) “นักสังคม-มานุษยวิทยา” (socio-anthropologist) นักเศรษฐศาสตร์(ecolomist) ฯลฯ ได้สรุปจนกลายเป็น “ความรู้” ที่แสดงให้เห็นว่าพวก “เซเปียนส์” หรือ “มนุษย์” นั้น มี “พัฒนาการ” มาตามสำดับสามารถแบ่งเป็นยุคๆได้  ทั้งที่เป็นแบบ “ยุคใหญ่” และ “ยุคย่อย” โดยใช้ “หลักการ” ของ “ศาสตร์”แต่ละศาสตร์(ตามที่พวกเขาถนัด)

ที่เด่นๆดูเหมือนจะได้แก่การแบ่งยุคสมัยของ “นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดี” กับ “นักเศรษฐศาสตร์”

ที่มักนิยมกันเป็นกระแสหลักในโลกตะวันตกและในประเทศไทย คือ การแบ่งยุคสมัย “ประวัติศาสตร์โลก” ของนักประวัติศาสตร์ และ โบราณคดี ที่นิยมแบ่งออกเป็น 2 ยุคใหญ่ๆ 2 ยุค ได้แก่ ยุคก่อนประวัติศาสตร์(pre-historical period) กับ ยุคประวัติศาสตร์(historical period)

ในการแบ่งเป็น 2 ยุคใหญ่นี้ ยังมีการแบ่งออกเป็นยุคย่อยๆได้อีกมาก ท่านที่สนใจก็สามารถหาตำรามาอ่าน หรือ “คลิก”เข้าไปดูใน “ออนไลน์” ได้เพราะมีเอกสารความรู้ในเรื่องดังกล่าวนี้เผยแพร่อย่างกว้างขวางมากแล้วในปัจจุบัน

ส่วนนักเศรษฐศาสตร์ และ นักสังคมวิทยา-มานุษยวิทยาเจ้าสำคัญ ที่แบ่งยุคประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่แตกต่างออกไปอย่างน่าสนใจ คือ คนชื่อ คาร์ล มาร์กซ์ และ ฟรีดริช เอ็งเกิลส์ (Karl Marx and Friederich Engels)ชาวเยอรมัน  ที่ภายหลังโลกมักจะเรียกพวกเขาว่า “สองสหายนักคิดผู้สร้างทฤษฎีสังคมนิยมที่เป็นวิทยาศาสตร์”

การแบ่งยุคประวัติศาสตร์ของนักคิด 2 ท่านนี้ ภายหบังกลายเป็นเหมือน “เครื่องมือ” ในการยึดเป็นแนวคิดเพื่อวิเคราะห์ประวัติศาสตร์โลกของชาว “ลัทธิมาร์กซิสต์” (Marxism) หรือที่สังคมไทยมักรู้จักคุ้นชินกันในชื่อ “ลัทธิสังคมนิยม” หรือ “ลัทธิคอมมิวนิสต์” นั่นเอง!

การแบ่งยุคทางประวัติศาสตร์ของสำนักนี้เรียกเป็น “ศัพท์เทคนิค” (technicle Term) ว่า “ลัทธิวัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์” (Historical Materialism

ไม่ว่าการแบ่งยุคทางประวัติศาสตร์ของ “เซเปียนส์” หรือ “มนุษยชาติ” จะเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่น่าจะเป็น “ปฐมเหตุ” สำคัญที่สุดในการเปลี่ยนแปลงมนุษย์ตลอดกาล น่าจะได้แก่ “โลกทัศน์” ของพวกเขาที่เริ่มเปลี่ยนเป็นเชื่อว่า พวกเขาคือ “ผู้ชนะ” พวกเขาคือ “เจ้าของโลก” หรือ พวกเขาคือ “ผู้มีชัยเหนือสิ่งอื่น …เพราะ “กระบวนทัศน์” ในการคิดเช่นนี้เองที่ทำให้พวกเขาก่อเกิดสิ่งที่เป็นแก่นธรรมในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า “มิจฉาทิฐิ” (คือความคิดที่ผิดเพี้ยนไปจากกฎ “สภาวธรรม”นั่นเอง!!