สว.ใหม่ ป้ายแดงหมาดๆ ทยอยเข้ารายงานตัวต่อวุฒิสภา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 67 ภายหลังจากที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองผลการเลือกสว. อย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พร้อมทั้งได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้ว 


 จากนี้ไปจะเข้าสู่โหมดของการทำหน้าที่ วุฒิสมาชิกใหม่ จำนวน 200 คน อันมีที่มาจากพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสว. พ.ศ. 2561 นับเป็นสว.ชุดที่ประเดิมกฎหมายใหม่ ที่ใช้รูปแบบ เลือกกันเอง  ในท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ถึงความพึลึกพิลั่น และเต็มไปด้วยเรื่องร้องเรียน ที่ยังรอให้กกต.ตรวจสอบ 


 การมีสว.ใหม่ 200 คนถูกจับตามาตั้งแต่วันที่มีการเปิดเผยรายชื่อผู้ที่ผ่านการเลือกระดับประเทศ โดยมีการตรวจสอบกันแล้วว่า ใคร มาจาก สายไหน  ใครคือสว.กลุ่มอิสระ หรือใกล้ชิดนักการเมือง พรรคการเมือง ซึ่งปรากฏว่า สว.ชุดใหม่ มีจำนวนไม่น้อยที่ถูกจัดเอาไว้ให้เป็น สว.สายสีน้ำเงิน ใกล้ชิดกับ พรรคภูมิใจไทย มากกว่าพรรคใด 
 หรือแม้แต่พรรคเพื่อไทย เองที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หมายมั่นปั้นมือ ว่าจะผลักดันให้ น้องเขย คือ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ เข้ามานั่งประธานวุฒิสภา ก็ยังต้องล้มเหลว เพราะสมชาย ตกรอบชิงระดับประเทศจนกลายเป็นเรื่องฮือฮา 


 ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ที่ผ่านมา มีสส.ของพรรคภูมิใจไทย คือ ปกรณ์ มุ่งเจริญพร สส.สุรินทร์ พรรคภูมิใจไทย และ สนอง เทพอักษรณรงค์  สส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย  รอต้อนรับ สว.ใหม่ 6 คน ซึ่งเป็นสว.จากกลุ่มเดียวกัน จ.สุรินทร์  ถึงห้องรับแสดงตน เป็นที่น่าสังเกตว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองของพรรคภูมิใจไทย พรรคสีน้ำเงินจะมีบทบาทต่อสภาสูง จากนั้นมากขึ้นด้วยหรือไม่ 


 เพราะต้องไม่ลืมว่าแม้แต่ แคนดิเดตว่าที่ตัวเต็งชิงเก้าอี้ ประธานวุฒิสภา ยังปรากฏชื่อ มงคล สุระสัจจะ ว่ากันว่าพรรคสีน้ำเงินล็อคเก้าอี้เอาไว้ให้แล้ว 
 อย่างไรก็ดีบทบาทของพรรคการเมือง ที่จะมีส่วนกำหนดทิศทางของสภาสูงจากนี้ไปยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจไปมีส่วนสัมพันธ์กับการวางแผนการเล่นของ 200สว. ในการเข้าไปมีส่วนกำหนดและแก้ไขกฎหมายที่จะตามมา 


 ล่าสุด  นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ  อดีต สส.พัทลุง ตั้งข้อสังเกตถึง วิวาทะระหว่าง สภาสูง กับ สภาล่าง  อันอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมีการยกกรณีที่ว่าด้วย ข้อกฎหมาย 
  ผมลองสมมุติว่าหากสภาล่างเสนอกฎหมาย เช่น แก้ไขความผิดตามมาตรา 112 หรือเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมความผิดตามมาตรา 112 อะไรจะเกิดขึ้น สภาสูงจะเห็นด้วยหรือไม่ ผมคิดเอาเองว่า สภาสูงจะไม่เห็นด้วย และจะต้องถูกยับยั้งโดยสภาสูงอย่างแน่นอน


 แต่หากกฎหมายที่ถูกยับยั้งโดยสภาสูงถูกยืนยันโดยเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาล่างอีกครั้งหนึ่ง ก็เป็นอันว่า กฎหมายนั้นได้รับความเห็นชอบจาก รัฐสภา แล้ว นายกรัฐมนตรีก็ต้องดำเนินการด้วยการส่งขึ้นทูลเกล้าเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย นี่คือความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้น 
 และนี่อาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหา ที่รออยู่ข้างหน้า !