คราวที่ฝนตกหนักเกิดน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่ของจ.ภูเก็ตต้องจมไปในทะเลโคลน เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งมีนักวิชาการผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “Rain Bamb”

ซึ่งคำนี้ไม่ใช่ศัพท์ทางวิชาการ แต่เป็นคำใหม่ที่ใช้หมายถึงฝนตกกระหน่ำอย่างไม่ลืมลืมหูลืมตา ปริมาณน้ำฝนจะมากในช่วงสั้นๆ ทะลุขีดจำกัด จนทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน เหมือนสึนามิจากฟ้า ที่แฝงมากับภาวะ “โลกเดือด”

ทำให้ในช่วงนั้น มีการพูดถึงเรื่องของระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินของประเทศไทย ล่าสุด รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน โดยทางโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายชัย วัชรงค์ แถลง ผลสำเร็จจากการบูรณาการความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมจัดทำ Cell Broadcast Service หรือ CBS ระบบเตือนภัยฉุกเฉินในพื้นที่จริงครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินที่ทั่วโลกใช้งาน มีวิธีการใช้งานและประโยชน์ ดังนี้ 


สามารถส่งข้อความเตือนภัยไปยังโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้บริการทุกเครื่อง ทั้งคนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย สามารถรับข้อความได้พร้อมกันทันที 

เพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือกับเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ อย่างทันท่วงที 

ช่วยสร้างความมั่นคง ปลอดภัย และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ระบบเตือนภัยฉุกเฉิน CBS สามารถแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินได้ 5 ภาษา ทั้ง ไทย อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น และรัสเซีย 

ครอบคลุมผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือทุกเครือข่ายในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนล่วงหน้า โดยจะส่งข้อความแจ้งเตือนภัยในรูปแบบ ข้อความ ตัวอักษร รูปภาพ และเสียง มีสัญญาณเสียง และข้อความที่แสดงบนหน้าจอ (Pop up) 

รองรับ Text to Speech เทคโนโลยีช่วยเหลือที่อ่านออกเสียงข้อความ ทำให้มีประโยชน์ต่อการแจ้งเตือน แก่ผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็น

สำหรับระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน CBS สามารถตั้งระดับการเตือนได้ 5 ระดับ ตามฟังก์ชั่นการใช้งาน โดยใช้ความร่วมมือกับฐานข้อมูลของภาครัฐ ประกอบด้วย

1. การแจ้งเตือนระดับชาติ (National Alert) การแจ้งเตือนระดับสูงสุด ความสำคัญมากสุด และทุกคนในทุกพื้นที่เสาสัญญาณครอบคลุมจะทราบเหตุทันที
 

2. การแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน (Emergency Alert) การแจ้งเตือนภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น ภัยสึนามิ แผ่นดินไหว น้ำท่วมฉับพลัน หรือ ภัยจากคนร้าย เป็นต้น

3. การแจ้งเตือนคนหาย (Amber Alert) ระบบตั้งเตือนข้อมูลเมื่อมีเด็กหายหรือคนหาย รวมทั้งการลักพาตัว เพื่อให้ประชาชนทราบข่าว เฝ้าระวัง และช่วยเจ้าหน้าที่ภาครัฐสังเกตการณ์ รายงานผล ถ้าพบคนหายหรือคนร้าย

4. ความปลอดภัยสาธารณะ (Public Safety) ระบบการแจ้งเตือนความปลอดภัยสาธารณะในพื้นที่ หรือการเฝ้าระวัง กรณีแจ้งคนที่อยู่อาศัย ชุมชน และผู้สัญจรผ่านพื้นที่นั้น

5. การแจ้งเตือนทดสอบ (Test Alert) ระบบทดสอบการแจ้งเตือนตามวัตถุประสงค์เฉพาะกิจต่าง ๆ โดยสามารถใช้งานเพื่อทดสอบก่อนขยายผลสู่การเฝ้าระวังและแจ้งเตือนในระดับต่าง ๆ ต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า เนื่องจากเป็นระบบใหม่ในประเทศไทย จึงต้องมีการเตรียมความพร้อม เรื่อง อุปกรณ์ และการติดตั้งทั่วประเทศ โดยคาดการณ์ว่าจะแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2568 เมื่อระบบพร้อมใช้งานเต็มรูปแบบ ประชาชนทั่วประเทศจะได้รับการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และปลอดภัยยิ่งขึ้น

นับว่าเป็นความคืบหน้าที่รัฐบาล จะมีนวัตกรรมในการสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน แต่ทั้งนี้ทั้งนี้ขอให้รัฐบาลเอาจริงๆเอาจังกับการดูแลป้องกัน เช่น เรื่องของผังเมือง การก่อสร้างที่กีดขวางทางน้ำ รวมทั้งป้องกันเหตุที่จะเป็นสารตั้งต้นของอุบัติภัย ที่สามารถควบคุมได้ และลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน