จากละครเรื่องพรหมลิขิตที่เคยสร้างปรากฏการณ์ความนิยม กลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ทำให้คนหันมานิยมแต่งชุดไทย และท่องเที่ยวในสถานที่ตามรอยละครดังกล่าว เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยตัวละครหลักนั้นย้อนเวลากลับไปในอดีตที่พระนครศรีอยุธา ในช่วงปลายของแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งมีการสอดแทรกประวัติศาสตร์เข้าไปในละครด้วย
เนื่องในวันที่ 11 กรกฎาคม เป็นวันสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และเป็นวันรัฐพิธี เหตุที่มีพระนามว่า "นารายณ์" นี้มีที่มาน่าสนใจคือ มีพระญาติวงศ์เหลือบเห็นเป็น 4 กร พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย ทรงมีพระราชกรณียกิจที่สำคัญตลอดรัชกาลของพระองค์
โดยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถอย่างยิ่งทางด้านการทหาร ทรงสร้างความรุ่งเรือง และความยิ่งใหญ่ให้แก่กรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างมาก ขยายพระราชอาณาจักร โดยทำศึกกับพม่าเพื่อชิงเมืองเชียงใหม่ ทำสงครามเพื่อชิงเมืองทวาย เมืองเมาะตะมะกลับมาเป็นของกรุงศรีอยุธยา ทั้งนี้ สร้างพระราชวังเมืองละโว้หรือลพบุรี เมื่อพ.ศ. 2209 เพื่อใช้สำหรับว่าราชการ ต้อนรับแขกเมือง และทรงประทับอยู่ที่เมืองลพบุรี 8-9 เดือนต่อปี
ทรงส่งเสริมด้านการค้าขายกับนานาชาติ อาทิ จีน อินเดีย ฮอลันดา อังกฤษ และอิหร่าน จนทำให้กรุงศรีอยุธยาเป็นอีกหนึ่งศูนย์กลางแลกเปลี่ยนการค้าระดับนานาชาติ
ที่สำคัญคือด้านการต่างประเทศ มีการติดต่อทั้งด้านการค้าและการทูตกับประเทศต่างๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น อิหร่าน อังกฤษ และฮอลันดา มีชาวต่างชาติเข้ามาในพระราชอาณาจักรเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนี้รวมถึงเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ชาวกรีกที่รับราชการตำแหน่งสูงถึงที่ สมหุนายกขณะเดียวกันยังโปรดเกล้าฯ ให้แต่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักฝรั่งเศส ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ถึง 4 ครั้งด้วยกัน อีกทั้งพระองค์ยังทรงรับเอาวิทยาการสมัยใหม่มาใช้ เช่น กล้องดูดาว และยุทโธปกรณ์บางประการ การแพทย์แบบตะวันตกรวมทั้งยังมีการรับเทคโนโลยีการสร้างน้ำพุ จากชาวยุโรป และวางระบบท่อประปาภายในพระราชวังอีกด้วย
ในห้วงวันสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่พสกนิกรชาวไทยจะได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์และสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เกื้อกูลและผูกพันกับสังคมไทยมาช้านาน