ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ

อาจารย์ประจำสถาบันการทูตและการต่างประเทศ

มหาวิทยาลัยรังสิต

เสร็จสิ้นลงไปแล้วสดๆร้อนๆเมื่อวันก่อนกับการเลือกตั้งใหญ่ของสหราชอาณาจักร ซึ่งผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็สร้างความสั่นสะเทือนทางการเมืองภายในของอังกฤษไม่น้อย โดยพรรคแรงงานภายใต้การนำของ เซอร์ เคียร์ สตาร์เมอร์ สามารถคว้าชัยชนะแบบถล่มทลาย และเป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปี ที่พรรคอนุรักษ์นิยมพ่ายแพ้อย่างหมดรูป 

แต่สิ่งที่ผมอยากจะนำเสนอกับท่านผู้อ่านในวันนี้นั้น ไม่ใช่เรื่องของผลการเลือกตั้งครับ ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านสามารถหาอ่านได้ไม่ยากตามสื่อต่างๆ แต่สิ่งที่อยากจะนำมานั่งวิเคราะห์กันวันนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการแสดงออกของอดีตนายกรัฐมนตรี ที่เมื่อมองดูแล้วทำให้รู้สึกได้ว่า “สมกับเป็นประเทศประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้ว”

หลังการเลือกตั้งจบลง แทบจะทันทีหลังการรับรู้คะแนน ริชี ซูแน็ก นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันจากพรรคอนุรักษ์นิยม ได้แถลงต่อประชาชนทั้งประเทศ มีใจความหลักๆว่า

“To the country, I would like to say, first and foremost, I am sorry. I have given this job my all but you have sent a clear signal that the government of the United Kingdom must change. And yours is the only judgement that matters. I have hear your anger, your disappointment, and I take responsibility for this loss.” พร้อมๆกับการประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม

ซึ่งคำกล่าวนี้แปลความได้ว่า “สำหรับประเทศ สิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ผมอยากจะบอกว่า ผมขอโทษ ผมพยายามอย่างเต็มที่ในการทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี แต่ทุกท่านได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่ารัฐบาลของสหราชอาณาจักรนั้นต้องเปลี่ยน และการตัดสินของท่านทั้งหลายคือสิ่งเดียวที่มีความสำคัญ ผมได้ยินความโกรธ ความผิดหวังของท่าน และผมขอรับผิดชอบกับความพ่ายแพ้นี้”

คำกล่าวนี้ แสดงให้เห็นถึงการ “ยอมรับ” ในความผิดพลาดของตนเองในการทำงาน และในการเลือกตั้งที่ผ่านมา โดยจะเห็นได้ว่า สิ่งที่อดีตนายกรัฐมนตรีกล่าวคือการให้ความสำคัญสูงสุดไปที่ “ประชาชน” โดยการกล้าขอโทษอย่างชัดเจน อีกทั้งยังยอมรับในความรู้สึกของประชาชนทั้งประเทศ สำหรับผม นี่คือสิ่งที่น่าชื่นชมและน่าเอาเป็นเยี่ยงอย่างอย่างยิ่ง

ในสังคมประชาธิปไตยที่เจริญแล้ว ความรู้สึก และเสียงโหวตของประชาชนคือสิ่งเดียวที่จะตัดสินชีวิตของนักการเมืองได้ ในหลายๆประเทศที่เจริญแล้วเราจึงได้เห็นการยอมรับผิดต่อหน้าประชาชน การขอโทษ การแสดงความรับผิดชอบอย่างจริงใจ แม้แต่การจะบอกว่าตนผิดยังไงก็ยังกล้าพูด

สิ่งนี้ไม่ได้หมายความว่าคนอังกฤษ “เป็นคนดี” กว่าประเทศอื่นๆนะครับ

แต่นี่คือสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความ “แข็งแรง” ของ “ระบบ” ครับ

เพราะนักการเมืองเหล่านี้รู้ดีว่า ประชาชนคือผู้ตัดสินเขาเพียงผู้เดียว ดังนั้น การแสดงออกอย่างจริงใจต่อประชาชน คือสิ่งที่ควรทำ เพื่อผลลัพธ์ทางการเมืองของตน หรือของพรรคในอนาคต เขาไม่ได้ดีเด่กว่าใครครับ แต่เขาถูกบีบด้วยระบบ ระบบที่ต้องให้ประชาชนเป็นใหญ่ ประเทศประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้วเหล่านี้จึงใช้คำว่า “Serve” ที่แปลว่ารับใช้ ไม่ได้ใช้คำว่า “ปกครอง” เหมือนประเทศที่กำลังพัฒนาทางประชาธิปไตย

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ เลือกตั้งจบ นับคะแนน ได้ผู้ชนะ ผู้แพ้ประกาศยอมแพ้ ลาออกเพื่อรับผิดชอบ ผู้ชนะเข้าเฝ้าฯคิง ชาลส์ กลับออกมาเข้าทำเนียบ เริ่มงานได้เลย ทั้งหมดเกิดขึ้นภายในเวลาไม่ถึง 48 ชั่วโมง แสดงให้เห็นถึงระบบที่สมบูรณ์ ไม่ต้องมาดราม่าให้เสียเวลากันเป็นเดือนๆ

ย้อนกลับมาดูประเทศไทยของเรา ก็ต้องบอกว่า ปัจจุบัน เรายังห่างจากที่กล่าวมาไม่น้อยเลยทีเดียว

สำหรับผม สิ่งที่กล่าวมาข้างต้น คือความฝันและภาพที่อยากเห็นในอนาคต เพราะการเอาประชาชนเป็นใหญ่  การที่ผู้นำกล้าขอโทษกล้ารับผิด  โดยที่ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความดีของผู้นำแต่เกิดขึ้นเพราะโดนบีบจากระบบนี่แหละครับ คือเครื่องพิสูจน์ของการมีอำนาจของประชาชนอย่างแท้จริง ตลอดจนเป็นเครื่องพิสูจน์ความนิ่งของระบบ ถ้าเราไปถึงจุดนั้นสักวันหนึ่ง มันจะหมายความว่า ระบบจะทำหน้าที่ของมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถกดดันให้ผู้นำเป็นไปอย่างที่ประชาชนต้องการ โดยไม่ต้องกังวลว่าเขาผู้นั้นจะเป็นคนดีมีความรับผิดชอบหรือไม่...

เอวัง