ต้องยอมรับว่า “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 รับมือต่อ “แรงกดดัน” ทางการเมืองที่โถมเข้าใส่ในทุกๆทาง  ตลอดห้วงระยะเวลาเกือบ 9 เดือนที่ผ่านมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ !
    
น้ำอด น้ำทนต่อแรงเสียดทานทางการเมือง ที่ดูเหมือนว่านับวันจะยิ่งทวีมากขึ้น ทั้งจากสมาชิกพรรคเพื่อไทยด้วยกันเองที่เคยก่อหวอดตั้งป้อมกับเขามาแล้ว จนทำให้ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ต้องออกโรงมาสยบ ปรามเบาๆว่า ถ้านายกฯเศรษฐา อยู่ได้ พรรคเพื่อไทยก็ไปต่อได้ 
    
นอกจากนี้ยังมีแรงกดดันที่นายกฯเศรษฐา ไม่อาจหลีกเลี่ยง เมื่อเจ้าของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจตัวจริงอย่าง “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ เคลื่อนไหว ในทางเปิดเผยและบัญชาการมาจาก “บ้านจันทร์ส่องหล้า” ก็มักทำให้เศรษฐา ถูกตั้งคำถาม ว่าวันนี้ประเทศไทย มี “นายกฯกี่คน?” 
    
ล่าสุดการออกมาเปิดเผยของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส  หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ให้สัมภาษณ์กับสื่อทีวี เปิดเผย ว่า ทั้งอดีตนายกฯทักษิณ และ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ขอร้องให้เขาถอนฟ้องเศรษฐา จากกรณีประเด็นปัญหาการแต่งตั้ง “บิ๊กต่อ” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล เป็น ผบ.ตร. ก็กลายเป็น “ปัจจัยลบ” กระทบต่อตัวเศรษฐา ว่าเขาเองยังอยู่ใต้เงาอดีตนายกฯทักษิณ ใช่หรือไม่ 
    
แม้ล่าสุด เจ้าตัวปฏิเสธกับสื่อ เมื่อวันที่ 8 ก.ค.67 ว่า ไม่เคยถามเรื่องนี้ เพราะไม่เกี่ยวกับตนเอง และยืนยันว่าไม่เคยปรึกษากับ อดีตนายกฯ ทั้งสองคน 
    
ปัญหาทางการเมืองที่กำลังสะท้อนภาพเขิงซ้อน ระหว่างตัวนายกฯเศรษฐา กับ 2อดีตนายกฯนั้น ดูจะเป็นเรื่องยากที่ทำให้ “คนภายนอก” เชื่อเช่นนั้นได้ เพราะอย่าลืมว่าเสียงสว.ที่ยกมือโหวตให้ เศรษฐา ได้เป็นนายกฯคนที่ 30 นั้นก็มาจาก “ดีลลับ” ระหว่าง ทักษิณ กับ “ขั้วอำนาจเก่า” ที่ให้พรรคเพื่อไทย ได้เก้าอี้ “นายกฯ” และเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ต้องไม่มี “พรรคก้าวไกล” อยู่ในสมการรัฐบาล 
    
อย่างไรก็ดีแต่เวลานี้ปัญหาใหญ่ที่กำลังกดดัน กระแทกไปยัง นายกฯเศรษฐา และอาจจะกลายเป็นเรื่องที่มีน้ำหนัก มีผลต่อเก้าอี้นายกฯ มากที่สุดคือการที่รัฐบาลยังไม่สามารถแก้วิกฤตเศรษฐกิจ ให้คลี่คลายลงได้ แม้รัฐบาลจะพยายามเรียกความเชื่อมั่นในโครงการแจกเงินหมื่นผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ด้วยการย้ำว่า วันที่ 24 ก.ค.นี้ นายกฯจะเป็นผู้แถลงความคืบหน้าด้วยตัวเอง และขอให้เชื่อว่าเงินหมื่นจะเข้ากระเป๋าคนไทยที่มีอายุเกิน 16ปี จำนวน50 ล้านคนในไตรมาสที่ 4 ปลายปีนี้แน่นอน 
    
แต่ดูเหมือนว่า วันนี้ยังมีข้อกังขา และความไม่มั่นใจต่อนโยบายดังกล่าว อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนที่ต้องใช้เม็ดเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นั้นจะ “ฉลุย” ได้หรือไม่ ยังไม่นับกรณีที่ข้อกฎหมายอีกหลายเรื่องที่รัฐบาลต้องเร่งส่งไปถามยัง “คณะกรรมการกฤษฎีกา” ว่าเรื่องใด ทำได้หรือไม่ 
    
สถานการณ์ของนายกฯเศรษฐา เวลานี้จึงเผชิญกับศึกหลายทาง โดยที่ยังไม่ถึงวันที่ศาลรัฐธรรมนูญจะชี้ชะตา คดีถอดถอนจากตำแหน่ง อันเป็นผลพวงจากบัญชา ของบ้านจันทร์ส่องหล้า !