อากาศบ้านเราเหมือนจะสุดขั้วเข้าไปทุกที ทั้งร้อนจัด ฝนตกหนัก ด้วยสถานการณ์โกลของเราเข้าสู่ภาวะโลกเดือด การขับเคลื่อนประเด็นรักษาสิ่งแวดล้อมทำไปแบบปากว่าตาขยิบ ทำให้สถานการณ์ปัจจุบันน่าห่วงและอนาคตเสี่ยงวิกฤติ
เมื่อสัปดาห์ก่อน เราได้เห็นภาพมวลน้ำและโคลนท่วมทับถมบ้านเรือนและรถราของผู้คนในหลายพื้นที่ของจังหวัดภูเก็ตได้รับความเสียหาย
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น มีนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมขนานนามให้ว่า “Rain Bomb”
“Rain Bomb” หรือแปลตรงตัวว่า ระเบิดฝนนี้คือ อะไร ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความรู้เอไว้ในเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว จึงขออนุญาตนำมาถ่ายทอดอีกครั้งว่า
“Rain Bomb เป็นคำใหม่ ไม่ถูกใช้เป็นทางการ แต่ความหมายทั่วไปคือฝนตกกระหน่ำอย่างไม่ลืมหูลืมตา ปริมาณน้ำฝนในช่วงเวลาสั้นๆ ทะลุขีดจำกัด ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันเนื่องจากเป็นศัพท์ใหม่ จึงไม่มีการฟันธงว่านี่คือปรากฏการณ์ “ระเบิดฝน” หรือไม่? แต่ว่าง่ายๆ คือเหมือนฟ้ารั่วเนื่องจากน้ำจากฟ้าถล่มลงมาอย่างรุนแรงในช่วงแสนสั้น การรับมือแบบดั้งเดิมจึงมีปัญหา ผลกระทบจึงมาสู่ชีวิตและทรัพย์สินตลอดจนการทำมาหากินของพวกเราตัวอย่างมีให้เห็นทั่วไป เฉพาะช่วงนี้ก็มีทั้งน้ำท่วมภูเก็ต ออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ ฯลฯ
ภาพรถที่ลอยไปตามน้ำไหลหลากดูน่ากลัว จนบางคนเปรียบเทียบว่า เหมือนสึนามิจากฟ้า
rain bomb อาจแฝงมาพร้อมพายุฝนฟ้าคะนอง จะเกิดบ่อยขึ้นเรื่อยๆ ในยุคโลกเดือด เพราะมหาสมุทรร้อน น้ำระเหยมากขึ้น อากาศร้อนเพิ่มขึ้น เมฆมีน้ำอยู่มากมายพร้อมทะลักทลายจากบนฟ้าในช่วงสั้นๆ
หากตกลงบนเขาหรือในป่า อาจเกิดน้ำไหลหลากฉับพลันลงมาในเมืองตามถนนหนทางที่กลายเป็นทางน้ำ รวมถึงโคลนถล่มตามมาในพื้นที่ที่ไม่เคยเกิด เช่น หายนะที่ลิเบีย หากตกลงในเมืองที่ราบแบบกรุงเทพฯ น้ำท่วมเร็วมาก น้ำเข้าบ้านโดยเฉพาะพื้นที่เป็นแอ่ง น้ำท่วมรถติดบนถนน ทำทรัพย์สินเสียหาย คำว่าบอมบ์หมายถึงเกิดฉับพลันแล้วหายไป น้ำท่วมแบบนี้จึงไม่นาน แต่ความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว
การคาดการณ์ล่วงหน้าทำแทบไม่ได้ในระยะยาว ปรกติก็เป็นการทำนายทั่วไปในพื้นที่กว้าง แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเรนบอมบ์กำลังมา ให้เอารถขึ้นที่สูง ป้องกันน้ำเข้าบ้านทุกวิถีทาง ฯลฯ”
ในท้ายสุด เราๆท่านๆจึงต้องเตรียมรับมือกับเจ้า Rain Bomb นี้ เพื่อลดความเสียหายที่เกิดขึ้น นอกจากการบริหารจัดการบ้านเรือนของตนเอง เตรียมพร้อมสิ่งของที่อาจเสียหายจากการถูกน้ำท่วม ยกขึ้นที่สูงหรือเปลี่ยนวัสดุ รวมทั้งจัดการทางระบายน้ำต่างๆ ดูแลขยะมูลฝอยไม่ให้ไปติดค้างอยู่ในท่อระบายน้ำทั้งใกล้บริเวณบ้านและชุมชน เพื่อไม่ให้ขวางทางน้ำ
ที่สำคัญคือการตรวจสอบนโยบายของภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาพื้นที่ใกล้บ้านเราและชุมชนของตนเอง รวมทั้งภาพรวมของประเทศ ไม่ให้มีการก่อสร้างทำลายเส้นทางน้ำ และเหนืออื่นใด คือ น้อมนำแนวพระราชดำริ “โครงการแก้มลิง” มาปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง และผลักดันติดตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง