อาวุธที่จะสู้กับ “มิจฉาชีพ” หลอกลวงในโลกออนไลน์ หรือที่วัยรุ่นยุคใหม่เรียกว่า “มิจจ.จาน” นั้น คือการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง คนรอบข้างและชุมชน เพราะเมื่อเกิดความสูญเสียทรัพย์สินแล้ว นอกจากจะนำมาซึ่งปัญหาเศรษฐกิจแล้วยังเกิดปัญหาสังคม ปัญหาสุขภาพกายและใจตามมา กระทั่งบางรายรุนแรงถึงเสียชีวิต

ซึ่งปัจจุบันกลโกลของเหล่ามิจฉาชีพนั้นมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบต่างๆ เพื่อหลอกลวง โดยเฉพาะการหลอกลงทุน เราจึงต้องติดอาวุธให้กับตนเอง โดยมึคัมภีร์ 7 ข้อ ในการสังเกตกลโกลของมิจฉาชีพหลอกลงทุนมาฝากกัน จากเพจตำรวจสอบสวนกลาง ดังนี้

1.นำรูปบุคคล หรือองค์กรที่มีชื่อเสียงมาแอบอ้าง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้ลงทุน รวมถึงมีการตั้งชื่อบัญชี หรือชื่อกลุ่มให้เหมือนเป็นทีมงาน หรือเป็นบัญชีขององค์กรนั้นๆ

2.เสนอผลตอบแทนสูงในระยะเวลาสั้นๆ โดยอ้างว่ามีการสอนเทคนิค และวิธีการต่างๆ แม้ไม่มีความรู้ก็สามารถลงทุนได้

3.พาเข้ากลุ่มแชตเพื่อหลอกคุยส่วนตัว หรืออาจพาไปเข้ากลุ่มเล็กๆ ที่มีทั้งเหยื่อคนอื่นๆ และทีมงานของมิจฉาชีพปะปนเป็นหน้าม้าอยู่ในกลุ่มนั้นด้วย

4.หลอกให้เหยื่อตายใจ แล้วให้ชักชวนคนอื่นๆ เข้ามาร่วมกลุ่มเพิ่มเติม ด้วยการโอนเงินให้จริงในครั้งแรก

5.ให้เพิ่มเงินลงทุนไปเรื่อยๆ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่มากขึ้น แต่หากเหยื่อต้องการถอนเงินออกมา ก็จะอ้างว่าทำผิดกฎการลงทุน ต้องจ่ายเงินมาปลดล็อกก่อน หรือต้องโอนเงินไปเพิ่มเพื่อจองสิทธิ์การถอนเงิน

6.ไม่สามารถตรวจสอบธุรกิจได้ หรืออ้างว่าแพลตฟอร์มอยู่ต่างประเทศ ทำให้ตรวจสอบข้อมูลการเงินไม่ได้

7. บัญชีที่ให้โอนเงินไปลงทุน มักจะเป็นบัญชีม้าในนามบุคคล หรืออาจเป็นบัญชีของห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทที่ไม่ตรงกับที่มิจฉาชีพนำมาแอบอ้าง รวมถึงอาจมีการตั้งชื่อให้ดูคล้ายกับองค์กรที่ถูกแอบอ้างเพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อ

ดังนั้น หากมีคนชักชวนให้ลงทุน อย่าเพิ่งเชื่อ ให้สอบถามชื่อบริษัท รูปแบบ และผลตอบแทนที่ได้รับ หากพบว่าผิดปกติหรือมีการการันตีผลตอบแทน ให้คิดไว้ก่อนว่าเป็นมิจฉาชีพ หรือหากไม่แน่ใจว่าผู้ที่ท่านติดต่อนั้นเป็นผู้แนะนำการลงทุนที่ได้รับใบอนุญาตหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ market.sec.or.th/LicenseCheck หรือ โทรสายด่วนแจ้งหลอกลงทุน 1207 กด 22

ทั้งหมดทั้งมวล คำเตือนต่างๆนั้น จำเป็นเหลือเกิน ที่เราทุกคนจะต้องสังเกตและอย่าเพิ่งปักใจ หรือรู้จัก “เอ๊ะ” ก่อน “โอน” จะช่วยยับยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้น