รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

ที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

เมื่อต้นเดือน ก.ค. 2567 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยสวนดุสิตคิกออฟ โครงการ “SDU Next Generation 2024” – สวนดุสิต แบรนด์แอมบาสเดอร์ ทูตสื่อสารองค์กร เชี่ยวชาญทักษะภาษาอังกฤษ โดดเด่นด้านบุคลิกภาพและทักษะการทำงาน เพื่อสร้างมาตรฐานทางสังคมให้กับนักศึกษาสวนดุสิตที่ไม่ใช่มาตรฐานทางวิชาการ ผ่านการเฟ้นหานักศึกษาทุกชั้นปีที่มีสกิลภาษาอังกฤษดีเป็นทุนอยู่บ้างแล้วเข้าร่วมโครงการ โดยพิจารณาจากผลสอบ IELTS 5.0 ขึ้นไป หรือ TOEIC 600 คะแนนขึ้นไป ผ่านการสอบสัมภาษณ์ และการพิจารณาด้านบุคลิกภาพและทัศนคติการทำงาน โดยทีมคณาจารย์มหาวิทยาลัยสวนดุสิตจะเป็นพี่เลี้ยงพัฒนานักศึกษาอย่างเข้มข้น เพื่อพัฒนานักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกให้เก่งกาจยิ่งขึ้น บุคลิกภาพดีขึ้น และสามารถใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารกับชาวต่างชาติได้อย่างลื่นไหล คล่องแคล่ว และเข้าใจกันมากขึ้น

ภายใต้โครงการฯ นี้ มหาวิทยาลัยสวนดุสิตมุ่งเน้นการเสริมศักยภาพด้านอื่นให้กับนักศึกษานอกจากทักษะภาษาอังกฤษด้วย เพื่อหล่อหลอมให้นักศึกษาเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบโดยการเสริมเติมเต็มด้านบุคลิกภาพ มารยาททางสังคม และการเข้าสังคม และทัศนคติการทำงานเชิงบวก มหาวิทยาลัยสวนดุสิตมองว่าการสร้าง “คน” ที่เพียบพร้อมเป็นการเตรียมความพร้อมทั้งการดำเนินชีวิตและการก้าวเข้าสู่โลกการทำงาน เป็นการเปิดโอกาสสำคัญให้กับนักศึกษาสวนดุสิตที่มีต้นทุนทางสังคมน้อยกว่าหรือภูมิหลังที่ด้อยกว่านักศึกษามหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงอื่น ๆ จึงนับเป็นความพยายามครั้งสำคัญของมหาวิทยาลัยที่เปิดโอกาสให้กับนักศึกษาอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมเพื่อเสริมเขี้ยวเล็บการแข่งขันกับนักศึกษามหาวิทยาลัยอื่น ๆ

นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ นี้ จะได้รับการอบรมทักษะภาษาอังกฤษและบุคลิกภาพเป็นเวลา 2 เดือน และหากผ่านการทดสอบ
วัดระดับความสามารถทางภาษาอังกฤษระดับนานาชาติสำหรับผู้ที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักหรือภาษาประจำชาติ  “IELTS 6.00
ขึ้นไป” โดยมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้รับผิดชอบออกค่าใช้จ่ายการสอบให้ 1 ครั้ง นักศึกษาจะได้รับทุนเรียนฟรีตั้งแต่แรกเข้าจนสำเร็จการศึกษา ซึ่งสามารถเลือกเรียนแบบ Onsite Online หรือ Hybrid  ก็ได้ และที่สำคัญคือ สามารถเรียนควบข้ามศาสตร์ได้มากกว่า
1 สาขาวิชาเอกด้วย

เมื่อนักศึกษาสำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตแล้วสามารถเข้าร่วมงานกับมหาวิทยาลัยสวนดุสิตทุกสายงานทั้งสายบริการ สายสนับสนุนวิชาการ และสายวิชาการ โดยหลังจากผ่านการทำงานกับมหาวิทยาลัยเป็นเวลา 1 ปีที่ไม่ใช่สายวิชาการ สามารถขอทุนการศึกษาเพื่อเรียนต่อในระดับบัณฑิตศึกษาและเปลี่ยนสายงานเพื่อเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยต่อไป

อย่างไรก็ดีหากนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ มีความประสงค์ที่จะทำงานภายนอก ไม่ทำงานกับมหาวิทยาลยสวนดุสิตก็เป็นสิทธิที่พึงได้รับ มหาวิทยาลัยจะไม่มีการปิดกั้นแต่อย่างใด ทุกอย่างดำเนินไปด้วยความสมัครใจและเต็มใจ ส่วนสิ่งที่นักศึกษาจะต้องสนับสนุนมหาวิทยาลัย อาทิ การทำงานที่มหาวิทยาลัยมอบหมายโดยใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร การเป็นทูตสื่อสารองค์กร การเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเพื่อนนักศึกษา ฯลฯ

การพัฒนานักศึกษาสวนดุสิตให้เติบโต ก้าวหน้า หรือเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาของตนเองอันเป็นผลมาจากการลงทะเบียนเรียนในมหาวิทยาลัย จะเป็นการสะท้อนถึงศักยภาพของอาจารย์สวนดุสิตในอีกทางหนึ่งด้วย เพราะนักศึกษาจะเป็นคนเก่งคนดี และบุคลิกภาพดีได้ ก็ต้องมีอาจารย์เป็นต้นแบบนำร่องก่อน แล้วจึงขยายผลต่อไปยังอาจารย์อื่น บุคลากรอื่น และนักศึกษาอื่น นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ นี้ จึงถือเป็น “นักศึกษาต้นแบบ” ให้กับคนสวนดุสิตที่มหาวิทยาลัยฝึกให้มากกว่าเดิม ซึ่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ‘รศ.ดร.ศิโรจน์ ผลพันธิน’ มองเรื่องการพัฒนานักศึกษาภายใต้โครงการฯนี้ ไว้ว่า นักศึกษาเปรียบเสมือน “คันฉ่อง” ที่ส่องและสะท้อนกลับมายังอาจารย์สวนดุสิตในทุกมิติ

โครงการ “SDU Next Generation 2024” เป็นแนวทางการพัฒนานักศึกษาแบบองค์รวมที่พัฒนานักศึกษาให้มากกว่าเดิมที่ไม่ใช่เพียงเชิงวิชาการเท่านั้น แต่เป็นการพัฒนาเสริมศักยภาพด้านภาษา ควบบุคลิกภาพ และทัศนคติ ซึ่งจะเป็นแต้มต่อให้กับนักศึกษาไปตลอดชีวิตทั้งในด้านการดำเนินชีวิตส่วนตัวและด้านชีวิตการทำงาน เป็นการกรุยทางสู่โลกกว้างให้กับนักศึกษาให้เป็น ‘พลเมืองโลก หรือ Global Citizen’ ที่เพียบพร้อมไปด้วยวิชาความรู้และวัตรปฏิบัติที่ดีงามพร้อมได้รับการยอมรับอย่างเหมาะสมทั้งระดับสังคม ประเทศ และโลก

สำหรับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศที่ดำเนินโครงการที่คล้ายคลึงกัน เช่น มหาวิทยาลัยมุมไบ ประเทศอินเดีย ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มองว่าโลกที่ซับซ้อนมากขึ้นต้องอาศัยความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น การศึกษาที่กว้างขวางขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาที่ท้าทายเช่นนี้
ทำให้จำเป็นต้องผลิตวิศวกรผู้เชี่ยวชาญที่มีความสามารถแบบ “SMART” (Specific Measurable Attainable Reality Timebound) ผ่านโหมดการเรียนรู้ต่าง ๆ เพื่อพัฒนานักศึกษาแบบองค์รวม (Holistic Development)

ดังนั้น การพัฒนานักศึกษาสมัยนี้จำเป็นต้องมองกว้าง มองลึก การศึกษาต้องคิดใหม่และพัฒนาระบบการสอนที่สัมพันธ์กัน เช่น วัตถุประสงค์การเรียนรู้ การเลือกวิธีการเรียนการสอน การประเมิน และวัฒนธรรมองค์กร และผลผลิตที่ต้องการคือนักศึกษาต้องมีความอยากรู้อยากเห็น ความคิดสร้างสรรค์ การทำงานร่วมกัน และความเมตตา และผลลัพธ์ที่ต้องการคือ การเรียนรู้เพื่อการมี งานทำ สร้างรายได้ สร้างอาชีพ และสร้างอนาคตที่คาดหวังไว้ได้ และสิ่งที่คาดไม่ได้คือ “ความเป็นตัวตน” ของนักศึกษาเอง ท่านคิดเห็นอย่างไร แชร์ให้ฟังหน่อยครับ...