วันที่ 4 กรกฎาคม วันคล้ายวันประสูติ ศาสตราจารย์ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงได้รับการถวายพระสมัญญานาม “เจ้าฟ้านักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” จากพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพเป็นที่ประจักษ์
ทั้งนี้ขณะทรงศึกษา ทรงมีพระปรีชาสามารถและทรงสนพระทัยวิชาคํานวณและวิทยาศาสตร์ ในขณะเดียวกันโปรดศึกษาวิชาภาษาต่างประเทศ และวิชาด้านศิลปะควบคู่ไปด้วย เมื่อถึงเวลาเลือกสายการศึกษาเพื่อศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ณ โรงเรียนจิตรลดา ทรงเลือกเรียนสายวิทยาศาสตร์ เพื่อนำวิชาความรู้มาต่อยอดทำประโยชน์ เพื่อนำความสุขมาสู่ประชาชนตามพระราชประสงค์ของพระราชมารดา ดังรับสั่งว่า
“สมเด็จแม่เคยรับสั่งว่าทรงมีลูกเพียง 4 คน โปรดที่จะให้ศึกษาในแขนงวิชาต่างๆ กัน เพื่อที่จะได้มาทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้หลายด้าน ดังนั้น เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนฯ ทรงศึกษาทางด้านอักษรศาสตร์ก่อนแล้ว จึงได้ตัดสินใจมาเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ แม้จะชอบด้านศิลปะก็ตาม”
โดยในปี 2522 ทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาอินทรีย์เคมี เกียรตินิยมอันดับ 1 จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยความเอาพระทัยใส่ และพระปรีชาสามารถในการเล่าเรียน ทรงสอบได้ที่ 1 ในวิชาเคมีและชีววิทยา ทรงได้รับรางวัลเรียนดีจากมูลนิธิศาสตราจารย์ ดร.แถบ นีละนิธิ
เนื่องจากทรงศึกษาทางภาควิชาเคมีโดยเฉพาะ จึงทรงใช้เวลามากในห้องปฏิบัติการ ทรงงานทดลองอย่างมีระบบ คือ ก่อนทําการทดลองทรงพยายามเข้าพระทัยถึงวัตถุประสงค์ของการทดลอง วิธีการและขั้นตอนที่ควรปฏิบัติ เมื่อลงมือปฏิบัติก็ได้ดําเนินการไปตามลําดับ จึงได้ปรากฏผลสำเร็จรวดเร็ว ถูกต้องตามจุดมุ่งหมายและได้ผลดี ทรงช่างสังเกตและทรงใช้ไหวพริบในการตัดสินพระทัยปฏิบัติ ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติของนักวิจัยที่ดี
ทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาอินทรีย์เคมี มหาวิทยาลัยมหิดลในพ.ศ 2528 และทรงสำเร็จการอบรมระดับหลังปริญญาเอก (Post Doctoral Training) เรื่อง “Synthesis of Oligonucleotides Using Polymer Support and Their Applications in Genetic Engineering” จากมหาวิทยาลัยอูล์ม ประเทศเยอรมนีพ.ศ. 2530 ทรงสำเร็จการศึกษาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในพ.ศ.2550 ทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพทางสัตวแพทย์ (หลักสูตรนานาชาติ) คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์พ.ศ. 2557 และทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในพ.ศ.2563
ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้เปี่ยมล้นด้วยพระอัจฉริยภาพและผลงานโดดเด่นในหลายสาขา โดยเฉพาะด้านวิชาเคมี ทรงอุทิศพระองค์ศึกษาวิจัยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อนำมาปรับใช้ในการพัฒนาประเทศชาติและประชาชน “เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์” ของไทย ทรงได้รับการยกย่องจากนานาประเทศ ในฐานะที่ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลก และทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเทิดพระเกียรติระดับนานาชาติเป็นจำนวนมาก
ด้วยพระปรีชาสามารถและพระวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ทรงก่อตั้งกองทุนจุฬาภรณ์ขึ้น ซึ่งต่อมาได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิจุฬาภรณ์ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษา การวิจัย การดำเนินงานทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ การสาธารณสุข โดยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้ราษฎรทั่วไปมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อีกทั้งยังทรงก่อตั้งสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อการศึกษาวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม การแพทย์และสาธารณสุข และนำองค์ความรู้ต่างๆ มาประยุกต์ใช้ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งและผู้ป่วยทั่วไป และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทย(เรียบเรียงข้อมูลจาก https://www.cri.or.th/th/)