ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ

อาจารย์ประจำสถาบันการทูตและการต่างประเทศ

มหาวิทยาลัยรังสิต

เรียกได้ว่าเริ่มเปิดฉากกันไปแล้วอย่างเป็นทางการครับ สำหรับสนามเลือกตั้งสหรัฐที่จะมาถึงในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยเปิดฉากกันไปด้วยการดีเบตเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมด้วยการพูดถึงกันอย่างกว้างขวางถึง “สภาพ” ของโจ ไบเดน ที่ดูแล้วน่าเป็นห่วงเหลือเกิน วันนี้เรามาลองวิเคราะห์สถานการณ์กันครับ

ในฟากฝั่งของ โจ ไบเดน ผู้เป็นประธานาธิบดีอยู่ในปัจจุบัน เรียกได้ว่า ประสบปัญหาไม่ใช่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผลงานที่ผ่านมา ที่เรียกได้ว่า คนอเมริกันบ่นกันอุบ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจที่ถดถอย อัตราเงินเฟ้อที่สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับสมัยก่อนหน้าของโดนัลด์ ทรัมป์ ลามไปจนถึงเรื่องสงครามในตะวันออกกลางที่เรียกว่า “โดนทั้งขึ้นทั้งล่อง” ฝ่ายสนับสนุนปาเลสไตน์ก็ไม่พอใจไบเดนที่สนับสนุนอิสราเอล ในขณะที่ฝ่ายยิวในอเมริกาก็รู้สึกว่าไบเดนสนับสนุนอิสราเอลน้อยเกินไป นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการจัดการกับผู้อพยพในอเมริกา ที่ทำให้หลายคนมองไบเดนเป็นผู้นำที่อ่อนแอ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างฉับไว ที่หนักที่สุด ก็เห็นจะเป็นเรื่องสุขภาพของโจ ไบเดน ที่ทำให้คนมองว่า “ไม่เหมาะ” ที่จะเป็นผู้นำอีกต่อไป ดังที่เราได้เห็นภาพหลุดๆของแกตามสื่อโซเชียล ที่คนนำไปล้อเลียนกันจนเป็นมีมมากมาย ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นปัญหาใหญ่สำหรับไบเดน โดยเฉพาะในเวทีดีเบตที่ต้องชนกับทรัมป์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่โจ ไบเดน ก็ยังมีข้อดีที่เอาชนะโดนัลด์ ทรัมป์ได้อยู่เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านของความเห็นอกเห็นใจ และไม่ได้มีความ “ห่าม” แบบโดนัลด์ ทรัมป์ อีกทั้งยังถูกมองว่ามีความเป็นประชาธิปไตยสูงกว่า จุดนี้ยังเป็นจุดแข็งของโจ ไบเดน

ในฝั่งของ โดนัลด์ ทรัมป์ นั้นมีจุดอ่อนอยู่ตรงที่มีคดีความหลายคดีที่ติดตัว ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดิสเครดิตเขาไม่น้อย นอกจากนี้ความห่ามและความสุดโต่งของเขาก็เป็นที่หวาดระแวงในสายตาชาวอเมริกันบางส่วน แต่ในทางตรงข้าม ความห่าม ความสุดโต่ง และความตรงไปตรงมาแบบผ่าซากของเขา ก็โดนใจชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อย จนถึงขั้นมองกันว่าทรัมป์นั้นมีลักษณะของ Strong leader หรือผู้นำที่เข้มแข็ง ไม่อ่อนแอเหมือนไบเดน และมีศักยภาพมากกว่าในด้านการบริหารจัดการ ซึ่งคนอเมริกันจำนวนไม่น้อยก็มองว่า นี่แหละ...เหมาะสม จะได้ไปต่อกรกับปูตินและชาติอื่นๆได้ อีกหนึ่งจุดแข็งของทรัมป์คือความเชื่อมั่นที่ผู้คนมองว่าเขาบริหารจัดการเศรษฐกิจได้ดี ดังเมื่อสองปีแรกของเขาในฐานะประธานาธิบดี เรียกได้ว่า เกิดคำว่า Trump Nostalgia ขึ้นมาเป็นคำเรียกสำหรับผู้คนที่ถวิลหายุคสมัยของทรัมป์

จุดอ่อนที่สำคัญที่สุดของทรัมป์ นอกจากเรื่องบุคลิกแล้ว ก็ยังมีเรื่องความเป็นประชาธิปไตย ที่ทรัมป์ดูจะเสียคะแนนไปไม่น้อย ที่ออกมาโวยวายเมื่อพ่ายแพ้ให้กับไบเดนตอนจบเลือกตั้งคราวที่แล้ว

จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า ทั้งสองต่างมีจุดอ่อนและจุดแข็งต่างกัน โดยจุดอ่อนของคนหนึ่งเป็นจุดแข็งของอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นที่น่าสนใจและนำไปสู่การถกเถียงกันอย่างเมามัน และอาจเป็นจุดที่ชี้ให้เห็นถึงพื้นฐานทางความคิดของผู้ที่สนับสนุนทั้งสองคนได้ โดยในฝั่งของ โดนัลด์ ทรัมป์ จะโดนใจผู้สนับสนุนที่ชอบความแข็งแกร่งของผู้นำ เด็ดขาด เสียงดัง ให้ความสำคัญกับคนอเมริกันเป็นอันดับแรก ดังที่เห็นได้นโยบายเพดานภาษีที่ค่อนข้างแข็งกร้าวและนโยบายไม่ค่อยแคร์พันธมิตรต่างๆ ด้วยเหตุผลว่าเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของคนและเศรษฐกิจของสหรัฐ ในขณะที่ฝั่งไบเดน เน้นการสื่อสารแบบเอาใจปัญญาชน เน้นการร่วมมือกัน เปิดตลาดเสรี รวมถึงให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน ให้ความสำคัญกับการต่างประเทศและพันธมิตร ด้วยเหตุผลเดียวกันก็คือ การปกป้องผลประโยชน์ของชาติ

โจทย์หินงานนี้อยู่อเมริกันชนแล้วล่ะครับ ว่าจะเลือกใคร หรือไม่แน่ ในโค้งต่อไปอาจมีการเปลี่ยนตัวบุคคลก็ได้ใครจะไปรู้ โดยเฉพาะฝั่งโจ ไบเดน ที่ดูแล้ว “หง่อม” เหลือเกิน

หากถามว่าผู้เขียนคิดว่าใครจะมีโอกาสชนะ ก็ต้องบอกว่า ถ้าเลือกตั้งกันวันนี้เลย ก็น่าจะหวยออกที่โดนัลด์ ทรัมป์ เพราะไบเดนยังมีแผลที่ผู้คนกังขาจำนวนมาก ทั้งด้านสุขภาพ และด้านเศรษฐกิจ แต่ถ้าถามว่าอีกสี่เดือนข้างหน้า ก็ต้องตอบว่า “อะไรก็เกิดขึ้นได้” เพราะไบเดนยังมีปัจจัยตัวหนึ่งติดตัวอยู่ นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า “อิทธิพลจากการอยู่ในตำแหน่ง” (Incumbent effects) ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งได้ทั้งบวกและลบ ถ้าหลังจากนี้แก้ปัญหาที่กล่าวๆมาได้ คนจะเห็นว่านี่คือผลงานและอยากให้อยู่ต่อ ก็จะได้รับแรงสนับสนุนจนถือว่าเป็นความได้เปรียบจากการอยู่ในตำแหน่ง ในทางกลับกัน ถ้าต่อจากนี้ ไบเดนทำให้ปัญหาดีขึ้นไม่ได้ หรือทำให้แย่ลง คราวนี้ก็จะโดนผลเสียของการอยู่ในตำแหน่งไปแทน กลายเป็นความเสียเปรียบ ผู้คนจะบอกว่า นี่ขนาดอยู่ในตำแหน่งนะ ยังทำไม่ได้ ก็พอจอบอ จบกัน

สำหรับประเทศไทยของเรา นี่เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ต้องใส่ใจ เพราะสหรัฐอเมริกา ก็ยังมีผลกระทบต่อไทยอย่างแยกไม่ขาด แน่นอนแม้ว่าทั้งสองคนจะมีแนวทางที่เหมือนกันคือการรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์แห่งชาติของตน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า “วิธีการ” จะเหมือนกัน ซึ่งไอ้วิธีการนี่แหละครับ ที่หลายต่อหลายครั้งมันกระทบการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ของไทยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เราก็ต้องเรียนรู้ เพื่อเตรียมพร้อมที่จะรับมือ เพื่อที่จะได้รักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของชาติไทยเราเช่นกัน

เอวัง