ทวี สุรฤทธิกุล
ผู้เขียนเพิ่งกลับจากประเทศจีนมาเมื่อช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมา แม้ว่าเมืองนี้จะอยู่สุดปลายชายแดนคือเมืองเชียงรุ่งที่ติดกับพม่าและลาว แต่คนจีนที่นี่ก็มีความสนใจในเรื่องราวต่างๆ รอบตัว โดยไม่ได้เป็น “คนหลังภูเขา” แต่อย่างใด เพราะภายใต้ภาวะโลกไร้พรมแดนและอินเตอร์เน็ต ได้ทำให้คนจีนที่นี่ “หูตาสว่างกว้างไกล” แม้ว่าจะถูกปกครองแบบเผด็จการที่มีการปิดกั้นเสรีภาพทางความคิดเห็นอย่างประเทศจีน
ก่อนอื่นคงจะต้องพูดถึง “ผู้นำในใจของคนจีน” ที่คนจีนยังกล่าวขวัญและระลึกถึงอยู่เสมอ คนทั่วไปอาจจะนึกถึงเหมาเจ๋อตุง แต่ที่แท้นั้นกลายเป็นเติ้งเสี่ยวผิง ซึ่งคนจีนนับถือเป็น “เทพเจ้าแห่งความรุ่งเรือง” เพราะทำให้ประเทศจีนเจริญขึ้นจนเป็นมหาอำนาจอย่างในทุกวันนี้ และคนจีนอยู่ดีกินดี มีบ้านอยู่ มีเงินใช้
พูดถึงเรื่องบ้าน อยากขอแทรกเป็นความรู้ตรงนี้ว่า คนจีนมีกรรมสิทธิ์ในบ้านเพียง 50 ปี เพราะที่ดินทุกตารางนิ้วเป็นทรัพย์สินของรัฐ เมื่อซื้อบ้านแล้วก็จะมีสิทธิ์ครอบครองไปได้ 50 ปี ขายต่อหรือมอบเป็นมรดกให้ลูกหลานไม่ได้ ดังนั้นคนจีนหนุ่มสาวจึงต้องขวนขวายมีบ้านตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อที่จะได้อยู่นานๆ ให้คุ้มค่า เป็นการกระตุ้นให้คนจีนขยันขันแข็ง ซึ่งได้ช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวไปอย่างรวดเร็ว
นโยบาย “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ของเติ้งเสี่ยวผิงในปี 1978 ได้ส่งเสริมให้คนจีนสนใจที่จะสะสมทรัพย์สินและทำงานอย่างทุ่มเท เพราะตามลัทธิเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่เติ้งเอามาประยุกต์ใช้กับคนจีน มุ่งให้คนที่ทำงานมากก็ต้องได้การตอบแทนมาก ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็ยังไม่ให้มีเสรีภาพทางการเมืองและสังคมมากนัก แต่ก็ได้สร้างระเบียบวินัยและความสงบเรียบร้อย จนสามารถคุมคนกว่า 1,400 ล้านคนได้นิ่งพอสมควร ที่สำคัญเติ้งได้ทำให้คนจีนรู้สึกว่า “จีนคือมหาอำนาจของโลก” จากผลสำเร็จของความมั่งคั่งนี้
หลังจากที่จีนประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจ หลายปีมานี้จีนยังได้แสดงแสนยานุภาพในทางทหารและการเมืองระหว่างประเทศ ด้วยการอ้างสิทธิครอบครองและปกป้องพื้นที่ในเกาะต่างๆ กลางทะเลจีนใต้และมหาสมุทรแปซิฟิค จนกระทั่งเกิดการกระทบกระทั่งและเผชิญหน้ากันกับหลายๆ ประเทศในพื้นที่แถบนี้ ได้แก่ ญี่ปุ่น เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ล่าสุดฟิลิปปินส์ได้ฟ้องไปยังศาลโลก ซึ่งศาลโลกได้ตัดสินให้จีนถอนตัวจากการระทำในลักษณะที่เป็นการคุกคามต่ออธิปไตยของชาติอื่นนั้นเสีย ทว่าจีนยังดื้อแพ่งไม่ยอมปฏิบัติตาม จึงเกิดอาการ “ฮึ่มๆ” จากพี่ใหญ่ที่ชอบทำตัวเป็นตำรวจโลกมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั่นก็คือสหรัฐอเมริกา จนทำให้นักวิชาการและสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งมองว่าอาจจะเกิด “สงครามโลกครั้งที่ 3”
ผู้เขียนไม่ใช่พวกโลกสวย ในขณะเดียวกันก็ไม่คิดที่จะหมิ่นแคลนความเห็นของนักวิชาการและสื่อมวลชนจำนวนนั้นที่คาดการณ์ว่า ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาอาจจะลุกลามใหญ่โต และสร้างหายนะให้กับมนุษยชาติเหมือนในอดีต เพราะผู้เขียนก็มีความเห็นส่วนตัวด้วยแนวคิดทางการเมืองระหว่างประเทศและจิตวิทยาสังคม ว่าสงครามโลกครั้งที่ 3 นั้นเกิดได้ยาก ด้วยเหตุผลดังนี้ คือ
ประการแรก หลังภาวะสงครามเย็นในทศวรรษ 1960 – 1970 รวมถึงการล่มสลายของคอมมิวนิสต์ยุโรปในทศวรรษ 1990 โลกมีการปรับตัวเข้าหากันหรือร่วมมือกันมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการร่วมมือเชิงสร้างสรรค์และการเกิดขึ้นขององค์การระหว่างประเทศจำนวนมาก แม้ขณะนี้สหภาพยุโรปอาจจะมีปัญหาการแยกตัว แต่พื้นฐานของการเมืองระหว่างประเทศยังเป็นเรื่องของความร่วมมือและสร้างสันติภาพ
ประการต่อมา มีกรณีการกระทบกระทั่งที่น่ากลัวมากกว่านี้ เช่น กรณีอินโดจีนยุคโดมิโน่ กรณีการแบ่งแยกเชื้อชาติยุโรปตะวันออก กรณีการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ในอาฟริกา และกรณีการก่อการร้ายในตะวันออกกลางที่ลุกลามไปทั่วโลก แต่ด้วยการที่ประเทศทั้งหลายยอมรับสภาพของสงครามจำกัดเขต ที่ต่างก็ระมัดระวังในการเข้าไปแทรกแซงในกิจการภายในประเทศอื่น จึงเป็นได้ยากที่จะเข้าไปยุ่งกับมหาอำนาจทั้งสองนี้
อีกประการหนึ่ง ภายใต้ระบบโลกาภิวัฒน์และพฤติกรรมทางสังคมในการสื่อสารสมัยใหม่ ชี้ให้เห็นว่ามนุษย์มีการเรียนรู้และแจ้งเตือนถึงภัยอันตรายต่างๆ โดยระมัดระวังที่จะไม่ทำให้เกิดหายนะระหว่างกัน รวมถึงมีทัศนะที่ “รักตัวกลัวตาย” เป็นที่สุด มากกว่าที่จะบ้าดีเดือดคิดจะฆ่าฟันกันแบบ “คลั่งชาติ” เหมือนสมัยก่อน แม้แต่พวกคลั่งศาสนาหรือลัทธิต่างๆ ก็มีคนรู้เท่าทัน และหลีกเลี่ยงความขัดแย้งเช่นนั้น
จากการที่ผู้เขียนได้พูดคุยกับคนจีนจำนวนหนึ่ง ต่างก็มีความเชื่อคล้ายๆ กันว่า รัฐบาลจีนจำเป็นที่จะต้อง “เบ่งกล้าม” เพื่อปกป้องการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่ชาติตะวันตกหรือแม้กระทั่งชาติตะวันออกด้วยกันอย่าง ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ (รวมถึงไต้หวัน) กำลังปิดล้อมคิดสู้กับจีน แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือการสร้างขวัญและกำลังให้แก่คนในชาติ เพราะหากจีนยอมอ่อนข้อให้ชาติใดก็ตาม ชาติอื่นๆ ก็จะคิดต่อสู้กับจีนขึ้นอีกได้
ภาวะความตึงเครียดนี้เป็นเพียงขั้นตอนของการบริหารอำนาจ ที่เมื่อเบ่งกล้ามออกให้ดูแล้ว ก็จะตามมาด้วยการ “นวดเฟ้น” คือชาติที่ขัดแย้งกันนั้นก็ต้องมาเจรจาประสานกันให้ได้ประโยชน์แก่ทุกๆ ฝ่าย
ละคร “ตบจูบๆ” ไม่ได้มีแต่ที่ประเทศไทย แต่เป็นที่นิยมไปทั่วโลก