ทวี สุรฤทธิกุล

บางคนมองว่าการเมืองกับศาสนาเป็นเรื่องของความเชื่อที่อยู่ขั้วตรงข้ามกัน คือระหว่าง “ความชั่ว” กับ “ความดี”

มุมมองนี้ดูจะเป็นจริงอยู่มาก นั่นก็คือเป้าหมายที่มีความแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว คือศาสนานั้นจะมองไปที่สิ่งดี ๆ เช่น ความรัก ความเมตตา การให้อภัย ฯลฯ ในขณะที่การเมืองมุ่งมองไปที่ “กิเลสตัณหา” ทั้งหลาย ทั้งเรื่องอำนาจ ผลประโยชน์ และการต่อสู้แย่งชิง ฯลฯ

ผ่านไปแล้วสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในระบบเลือกกันเอง ที่ยังอลวนอลเวงไม่รู้จะจบลงยังไง นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการมองการเมือง “แบบชั่ว ๆ” ตั้งแต่แรกเริ่มให้มีวุฒิสภาใน พ.ศ. 2489 ที่เกิดจากแนวคิดให้เป็น “สภาพี่เลี้ยง” คอยกลั่นกรองกฎหมายที่ผ่านมาจากสภาผู้แทนราษฎร ก่อนที่จะให้ประกาศบังคับใช้ นั่นก็คือความไม่ไว้วางใจพวก ส.ส.ที่ประชาชนเลือกมานั่นเอง อนึ่ง ส.ว.ใน พ.ศ. 2489 มีชื่อเรียกเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่า “พฤฒิสภา” แปลตรง ๆ ว่า “สภาผู้มีความเหนือกว่า” ตั้งแต่อายุก็กำหนดไว้สูงกว่า ส.ส. และคุณวุฒิก็ต้องจบชั้นมัธยม เป็นต้น แต่มาเปลี่ยนเป็น “วุฒิสภา” ใน พ.ศ. 2492 (ซึ่งก็แปลได้ความหมายเดียวกัน) โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้ง โดยอำพรางว่าเพื่อสนับสนุนให้รัฐสภาเข้มแข็ง แต่ความจริงก็คือเป็น “ฐานกำลัง” ให้กับรัฐบาลนั่นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกวุฒิสภาเหล่านั้นส่วนใหญ่ก็แต่งตั้งมาจากข้าราชการและทหารเป็นส่วนใหญ่ จึงเป็นเรื่องการให้รางวัลแก่พรรคพวกในระบบราชการและในกองทัพนั้นเป็นหลัก (นักรัฐศาสตร์บางคนเรียก ส.ว.ของไทยว่า “ศาลาพักใจ” คือเป็นสถานที่ให้พวกนายพลและข้าราชการตัวใหญ่ ๆ ได้ไปพักผ่อนหย่อนใจในตอนปลายอายุราชการ รวมถึงที่เกษียณราชการไปแล้ว)

ผู้เขียนมีความเชื่อส่วนตัวว่า ประเทศไทยมี “ซาตาน” อยู่ในแกนอำนาจในส่วนต่าง ๆ ของประเทศมาช้านานแล้ว ซาตานพวกนี้ไม่ต้องการให้ประชาชนมีอำนาจ แต่เดิมซาตานจะอยู่ในฟากฝ่ายของข้าราชการ ถึงขั้นที่เรียกระบอบการเมืองไทยในลักษณะนี้ว่า “อำมาตยาธิปไตย” จนกระทั่งหลังเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ฝ่ายนักเลือกตั้งที่อ้างว่าประชาชนได้เลือกมา ก็ผยองคิดจะมามีอำนาจเหนือข้าราชการ แต่ก็ถูกยึดอำนาจกลับคืนไปสู่พวกอำมาตย์อีกในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จากนั้นจึงได้มีการ “ประสานประโยชน์” รอมชอมกันระหว่างอำมาตย์กับนักเลือกตั้ง โดยให้อำมาตย์ไปเขย่งเท้าครองอำนาจอยู่ในวุฒิสภา และนักเลือกตั้งไปถ่างขาครอบอำนาจไว้ในสภาผู้แทนราษฎร ภายใต้ข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 ที่ให้สภาทั้งสองมีอำนาจเท่า ๆ กัน จนมีชื่อเรียกการเมืองในยุคนั้นว่า “ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ” แต่ผู้เขียนขอเรียกว่า “ระบอบซาตานคู่” คือเป็นการรวมความชั่วร้ายของอำมาตย์กับนักเลือกตั้งนั้นเข้าด้วยกัน

“ระบอบซาตานคู่” นี่คือระบอบการเมืองในปัจจุบัน แม้ว่าในช่วง 2544 - 2549 จะมี “ซาตานแดง” ตนหนึ่งคิดเหิมเกริมจะกวาดเอาอำนาจตั้งแต่เบื้องบนทั้งหมดในประเทศนี้ลงมาไว้ใต้อุ้งเท้า แต่ก็ถูกทหาร “ถีบ”หนีออกไปเสียจากแผ่นดินไทย กระทั่งหลังเลือกตั้ง 2566 จึงไปกราบอ้อนวอนขอกลับประเทศไทยกระทั่งได้กลับมา แต่กระนั้นก็ยังไม่เลิกสันดานชั่ว ๆ คิดที่จะเพาะพันธุ์ให้ลูกและบริวารได้สืบ “สันดานชั่ว” นั้นต่อไป นี่ก็ทำให้สังคมไทยมีความเป็นห่วงว่า หรือทหารดี ๆ ที่เคยคอยกวาดล้างนักการเมืองชั่ว ๆ จะถอนตัวออกจากการพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตยนี้แล้ว แล้วยอมให้ความชั่วทั้งหลายกลับมาปกครองประเทศไทยอีกครั้ง อย่างที่เราได้เห็นพรรคของทหารอย่างน้อยสองพรรค ยอมตัวเข้าเป็น “ข้ารองบาทฯ” เป็นฐานรองรับอำนาจในรัฐสภาให้กับพรรคการเมืองและนักการเมืองชั่ว ๆ เหล่านั้น ทำให้ระบบการเมืองยังคงอยู่ใน “ระบอบซาตานคู่” นี้ดังเดิม

“ผู้เผด็จการที่ดีงาม” ก็มีตัวอย่างให้เห็นในหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงที่มีเป้าหมายมุ่งมั่นทำงานเพื่อประชาชน ในขณะที่ไม่ได้ปิดหูปิดตาหรือกีดกั้นประชาชน รับฟังเสียงประชาชน จนกระทั่งประชาชนเองก็ยอมรับว่าภายใต้ระบอบนี้ชีวิตดูจะมีความมั่นคงปลอดภัยดีกว่า รวมถึงที่ทำมาหากินสะกวดสบาย อยู่ดีกินดี และประเทศมีความเจริญก้าวหน้าดีกว่า (อันนี้ประเทศไทยก็เคยเป็นแบบนี้) ตรงกันข้ามกับ “ประชาธิปไตยที่ชั่วร้าย” แม้จะมีการเลือกตั้งและมีสิทธิเสรีภาพเป็นอย่างมาก แต่ในรัฐสภาก็เต็มไปด้วยคนชั่ว ๆ ยิ่งคนที่ขึ้นมามีตำแหน่งในฝ่ายรัฐบาล ก็มุ่งกอบโกยเอาผลประโยชน์ต่าง ๆ เข้าตัว หลีกเลี่ยงกฎหมาย รวมถึงที่เขียนกฎหมายรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของตนไว้ (อันนี้ต้องได้รับการดูแลจากเนติบริกรชั่ว ๆ นั้นด้วย)

ตามตำรารัฐศาสตร์คลาสสิก (กรีก จีน อินเดีย) การปกครองที่ดีล้วนต้องเริ่มจาก “คนดี” นั้นเป็นเบื้องต้น เมื่อตอนที่มีการปฏิรูปการเมืองและร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 ผู้เขียนในฐานะคณะกรรมการรณรงค์ฯคนหนึ่ง ได้เสนอคำขวัญในการรณรงค์ครั้งนั้นว่า “คนดี ระบบดี บ้านเมืองจึงจะดี” และได้อธิบายให้กับกลุ่มประชาชนที่คณะของผู้เขียนออกไปรับฟังความคิดเห็นประกอบการร่างรัฐธรรมนูญทุกกลุ่มว่า เราต้องเริ่มจาก “วิธีที่จะหาคนดี” นั้นให้เข้ามาปกครองบ้านเมืองให้ได้เสียก่อน แต่ก็ต้องรองรับด้วย “ระบบที่ดี” ได้แก่ รัฐธรรมนูญ กฎหมาย และกระบวนการทางการเมืองการปกครองที่ดี โดยให้ประชาชนช่วยกันหา “คุณลักษณะและคุณสมบัติต่าง ๆ ของคนดี”

ส่วนใหญ่ก็จะเน้นว่า ต้องมีการศึกษาสูง ๆ อย่างน้อยต้องจบปริญญาตรี มีการตรวจประวัติอาชญากรรม รวมถึงให้มีการ “สอบวัดความดี” ที่บางคนก็บอกว่าต้องเอาคนที่เคร่งศาสนา หรือมีชาวบ้านลงคะแนนรับรองความดีเสียก่อน ซึ่งเรื่องผู้แทนราษฎรต้องจบปริญญาตรีนี้มีกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เป็นฉบับแรก (แต่ฉบับ 2560 บอกว่าจำกัดสิทธิประชาชนจึงเอาออก) ดังนั้นผู้เขียนจึงคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังจะแก้ไข(อยู่ในขั้นตั้งไข่วางขั้นตอนอยู่ในรัฐสภา แต่น่ากลัวว่าไข่อาจจะแตกเสียก่อน) หรือถ้าจะมีการร่างกันใหม่ อาจจะต้องมีการคิดถึงเรื่อง “คนดี” นี้ให้แน่นหนัก ก่อนที่จะไปคิดถึงระบบหรือการวางโครงสร้างต่าง ๆ ทางการเมือง เช่น จะมีกี่สภา จะเลือกตั้งกันอย่างไร ระบบพรรคเป็นอย่างไร การมีส่วนร่วมและตรวจสอบของประชาชนเป็นอย่างไร ฯลฯ  เพราะถ้าไม่ได้คนดีเข้ามาทำงานการเมือง ต่อให้รัฐธรรมนูญเขียนได้ดีมาก ๆ หรือระบบวางไว้ดีมาก ๆ อย่างไร (ดูรัฐธรรมนูญ 2540 นั่นปะไร ทั้งที่มีกระบวนการตรวจสอบละเอียดยิบ องค์กรตรวจสอบยุ่บยั่บ) ก็ยังเอาคนชั่ว ๆ ไม่อยู่ ซ้ำร้ายกับไปเป็นพวกและช่วยเหลือคนชั่วพวกนั้นอีกด้วย

ขอส่งท้ายด้วยพระราชดำรัสอันอมตะของพระบาทสมเด็จพระบรมชนากาธิเบศวร มหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช รัชกาลที่ 9 ที่ว่า “....ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้...”

“คนไม่ดี” นั้นก็คือ “คนชั่ว” อย่าให้มันหรือเชื้อแถวและบริวารของมันได้โผล่หัวขึ้นมาปกครองบ้านเมืองอีกเลย!