ทวี สุรฤทธิกุล
“ประเทศไทยเกือบจะไม่มีพระมหากษัตริย์” เป็นคำพูดของนักประวัติศาสตร์ท่านหนึ่ง (เหตุที่ต้องสงวนนามท่านไว้ก็เพราะว่าเป็นข้อมูลที่ไม่มีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ เพียงแต่เป็นข้อวิเคราะห์ส่วนตัวของนักประวัติศาสตร์ท่านนี้) เกี่ยวกับการเมืองไทยในช่วงที่รัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติ อันเป็นช่วงที่คณะราษฎรผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง “กลุ้มใจมาก”
ผู้เขียนเคยกล่าวอ้างถึงท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีและบุคคลสำคัญของโลก ผู้เคารพเทิดทูนพระมหากษัตริย์เป็นที่ยิ่ง ที่ท่านได้ตอบคำถามที่มีผู้ถามว่าคณะราษฎรเคยคิดที่จะไม่ให้มีพระมหากษัตริย์อยู่ในการปกครองระบอบใหม่ แต่พอทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเสร็จแล้วกลับยังคงให้มีพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลักอยู่ในระบอบใหม่นั้นต่อไป ด้วยเหตุผลใด
ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ตอบว่า “ถ้าไม่มีพระมหากษัตริย์ คณะราษฎรนั่นแหละที่จะอยู่ไม่ได้” เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของ “คณะราษฎร” (คนทั่วไปในทุกวันนี้มักอ่านว่า “คะ นะ ราด” แต่ผู้ก่อการกลุ่มนี้ออกเสียงเรียกตัวเองว่า “คะ นะ ราด สะ ดอน”) ในวีกิพีเดียเขียนว่าเกิดจากกรณีเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงมีการสมคบคิดกันของข้าราชการกลุ่มหนึ่งที่ไปเรียนอยู่ในยุโรปเพื่อกอบกู้ประเทศ แต่ถ้าอ่านวิทยานิพนธ์ของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง “ปฏิวัติ 2475” (โดย เกียรติชัย พงษ์พานิช เขียนไว้ราว พ.ศ. 2509) จะกล่าวถึงเหตุผลต่างๆ ไว้อีกมาก โดยมีเหตุผลข้อหนึ่งคือ “ความเบื่อเจ้า” และมีเป้าหมายสำคัญที่จะ “เปลี่ยนแปลง” สถาบันพระมหากษัตริย์
อ่านประวัติศาสตร์การเมืองในยุคนั้นดูไม่ต่างจากการเมืองไทยในทุกวันนี้เท่าใดนัก คนที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองยุคนั้นที่คิดจะโค่นล้มพระมหากษัตริย์ ล้วนแต่เป็นข้าราชการภายใต้ร่มพระบารมี มีกินมีใช้ ได้ดิบได้ดี และเป็นใหญ่เป็นโตก็ด้วย “เงินหลวง” ส่วนคนที่โกงบ้านโกงเมืองและคิดจะล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์จนไม่มีแผ่นดินจะอยู่ในยุคนี้ ก็ได้อาศัยร่มพระบารมีนั้นเช่นกัน จนเติบโตมาเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ ตลอดจนเป็นนักการเมือง กระทั่งได้เป็นรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีดังกล่าว
เหตุผลเพียงเพราะ “ไม่สมประโยชน์และไม่ได้ดั่งใจตน” ตามประวัติศาสตร์กล่าวว่า ในสมัยต้นแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ได้มีปัญหาความขัดแย้งระหว่าง “ข้าราชการรุ่นเก่า” กับ “ข้าราชการรุ่นใหม่” โดยได้เกิดกบฏขึ้นใน พ.ศ. 2455 ที่เรียกว่า “กบฏ ร.ศ. 130” (ซึ่งมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “กบฏเก๊กเหม็ง” โดยคำว่าเก๊กเหม็งหมายถึงสาธารณรัฐ เพราะกบฏกลุ่มนี้ต้องการที่จะล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์แล้วปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐ) นำโดยร้อยโทเหล็ง ศรีจันทร์ แต่ความแตกเสียก่อน พวกกบฏจึงถูกจับกุมจำนวน 91 คน (โดยมีโทษประหารชีวิต 3 คน นอกนั้นให้เนรเทศและจำคุกจำคุกตลอดชีวิต ต่อมารัชกาลที่ 6 ทรงมีพระกรุณาฯอภัยโทษประหารชีวิต) นักประวัติศาสตร์วิเคราะห์ว่านั่นเป็นสัญญาณว่า “พระราชอำนาจกำลังอยู่ในฐานะง่อนแง่น”
คณะราษฎรน่าจะก่อตัวขึ้นในช่วงนี้ โดยมีข้อมูลว่ามีข้าราชการรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งมีความไม่พอใจ ในความ “ไม่เป็นธรรม” ที่มีการปฏิบัติต่อพวกเขา โดยมีความเข้าใจว่าพวกข้าราชการรุ่นเก่าเล่นพรรคเล่นพวกและใช้ระบบอุปถัมภ์ ข้าราชการรุ่นใหม่กลุ่มนี้จึงมีการรวมตัวกันขึ้น และเมื่อข้าราชการกลุ่มนี้ได้ไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ(ซึ่งก็ใช้เงินหลวงหรือเงินของแผ่นดินนั่นแหละ)ก็ไปพูดคุยกันถึง “อนาคตของบ้านเมือง” ดังที่มีข้อมูลว่าคนพวกนี้ได้สรุปถึงสาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยล้าหลังข้อหนึ่งว่า “เพราะมีราชาธิปไตยเป็นอุปสรรค”
ข้อมูลทางประวัติศาสตร์เขียนไว้ว่า คณะราษฎรมีการประชุมกันครั้งแรกที่กรุงปารีส ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 โดยมีผู้เริ่มก่อการจำนวน 7 คน คือ นายประยูร ภมรมนตรี นักเรียนวิชารัฐศาสตร์ ประเทศฝรั่งเศส นายปรีดี พนมยงค์ นักเรียนวิชากฎหมาย ประเทศฝรั่งเศส ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ นักเรียนวิชาทหารปืนใหญ่ ประเทศฝรั่งเศส ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี นักเรียนวิชาทหารม้า ประเทศฝรั่งเศส นายตั้ว ลพานุกรม นักเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นายจรูญ สิงหเสนี ผู้ช่วยราชการสถานทูตสยามในประเทศฝรั่งเศส และนายแนบ พหลโยธิน นักเรียนวิชากฎหมาย ประเทศอังกฤษ
ในที่ประชุมในระยะแรกๆ ได้มีการพูดกันถึงรูปแบบของ “การปกครองใหม่” ที่ใช้ฝรั่งเศสและรัสเซียเป็นต้นแบบ คือจะต้องเป็นการปกครองโดยประชาชน ที่ประชาชนในทั้งสองประเทศได้โค่นล้มระบอบกษัตริย์แล้วปกครองในระบอบสาธารณรัฐ แต่ก็ได้มีบางคนในคณะผู้เริ่มก่อการนี้เกรงว่าจะมีการเสียเลือดเนื้อด้วยสงครามกลางเมืองและการฆ่าล้างผลาญกันอย่างที่เกิดขึ้นในทั้งสองประเทศนั้น จึงมีการประนีประนอมให้เพียงแต่ไป “กราบบังคมทูล” พระมหากษัตริย์ให้ยอมสละพระราชอำนาจเสีย โดยให้ทรงใช้อำนาจนั้นตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ ดังที่เรียกกันว่า “พระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ”
ผู้เขียนได้อ่านเอกสารชิ้นหนึ่งของสถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงเหตุการณ์ตอนที่มีนายทหาร 2 คนได้รับมอบหมายจากคณะราษฎรให้ไปกราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ให้ทรงทราบถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งขณะนั้นรัชกาลที่ 7 เสด็จไปประทับอยู่ที่พระตำหนักไกลกังวล หัวหิน โดยนายทหารทั้งสองคนบอกว่า “เกรงในพระราชอาญาเป็นที่สุด” แต่เมื่อรัชกาลที่ 7 ทอดพระเนตรเห็นนายทหารทั้งสองก็มีพระราชดำรัสว่า “เชิญเข้ามาเถิด” ทั้งสองคนจึงกล้าเข้าไปกราบบังคมทูล และก็ทรงยอมเด็จกลับกรุงเทพฯด้วยดี เพื่อมาลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญของคณะราษฎร และทรงยอมที่จะใช้พระราชอำนาจภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนั้น ประเทศไทยจึงเป็นประชาธิปไตยโดยพระมหากรุณาธิคุณโดยแท้