ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ
อาจารย์ประจำสถาบันการทูตและการต่างประเทศ
มหาวิทยาลัยรังสิต
ท่านผู้อ่านเคยสงสัยกันไหมครับ ว่าทำไมคนไทยเราถึงมีปัญหาในการพูดภาษาอังกฤษ? วันนี้ผมมีคำตอบที่น่าสนใจมาฝากท่านผู้อ่านที่รักทุกท่านครับ
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสไปศึกษาค้นคว้าเรื่องการทำงานของสมองครับ ก็เลยทำให้ได้คำตอบที่น่าสนใจของคำถามนี้ ซึ่งคำตอบนั้นก็คือ...คนไทยเราเรียนภาษาอังกฤษ “ผิดวิธี” มาตลอดครับ
เพราะอะไรนะหรือครับ? เพราะว่าเมื่อศึกษาการทำงานของสมองจะพบว่า การพัฒนาทักษะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทักษะอะไรก็ตามจะเกิดขึ้นที่สมองครับ เพราะสมองของคนเราก็ไม่ต่างอะไรจาก CPU ที่จะดลบันดาลการทำงานทุกอย่างของร่างกายทั้งกายภาพและแม้แต่อารมณ์
สำหรับการเรียนรู้ทักษะด้านภาษาของมนุษย์นั้น หลายท่านอาจจะไม่ทราบว่า จริงๆแล้วก็เป็นกระบวนการทางสมองโดยเริ่มต้นที่ “หู” ครับ
ขอให้ท่านผู้อ่านนึกภาพตามนะครับ เมื่อเราได้ยินเสียงผ่านหูของเรา มันจะส่งสัญญาณไปยังสมอง สมองทำการประมวลผล และพัฒนาส่งต่อมาเป็นทักษะในการลอกเลียนเสียงที่เราได้ยิน ก่อให้เกิดทักษะในการ “พูด” นี่คือสาเหตุที่ทำไมผู้บกพร่องทางการได้ยิน จึงไม่สามารถพูดได้ เพราะวงจรการทำงานของสมองในการลอกเลียนเสียงที่ได้ยินมันไม่สมบูรณ์นั่นเอง และนี่ก็คือคำตอบว่า ทำไมเด็กไทยจึงพูดคำแรกว่า “แม่” หรือ “พ่อ” โดยไม่ใช่ “Mom” หรือ “Dad” เรียกได้ว่าพูดคำแรกก็คือภาษาไทย ทั้งๆที่ไม่เคยนั่งเรียนมาก่อน เช่นเดียวกันครับ หากเด็กไทยคนหนึ่ง ถูกเลี้ยงดูโดยคนอเมริกัน คำแรกที่พูดได้ก็จะกลายเป็นคำว่า Mom หรือ Dad แทนที่จะพูดภาษาไทย
นั่นก็เพราะเมื่อเรายังเด็ก โดยเฉพาะในช่วงแรกเกิดถึง 6 ขวบ จะเป็นช่วงที่สมองพัฒนามากที่สุด เมื่อได้ยินคนรอบข้างที่คอยพูดกรอกหูอยู่ตลอด เมื่อหูรับฟัง สมองก๊อปปี้ แล้วพัฒนาให้ปากพูด เมื่อเริ่มพูดจึงพูดตามเสียงที่ได้ยินนั่นเอง
แล้วมันเกี่ยวกับการที่คนไทยอ่อนภาษาอังกฤษอย่างไร?
หัวใจของปัญหาคือ เราเรียนภาษาอังกฤษผิดวิธีมาตลอดนั่นเองครับ โดยเฉพาะรุ่นเก่าๆอย่างผม ที่เริ่มเรียนภาษาอังกฤษก็ประถมเข้าไปแล้ว เรียกว่าอายุก็เลยเวลาทองของการพัฒนาของสมองไปเสียแล้ว แถมยังเริ่มเรียนด้วยการที่คุณครูเขียนบนกระดานให้ท่องจำ A Ant B Bat C Cat เรียกได้ว่า เราเริ่มเรียนภาษาจากการ “อ่าน” หรือเริ่มต้นด้วย “ตา” แทนที่จะเป็น “หู” นั่นเอง มิหนำซ้ำยังเริ่มจากการเรียนไวยกรณ์ ซึ่งแท้จริงแล้วควรจะเป็นเรื่องท้ายๆเสียด้วยซ้ำ
ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า เราไม่ได้ฝึกภาษาตามกลไกและกระบวนการตามธรรมชาติของสมอง แทนที่จะเป็น “ฟัง พูด อ่าน เขียน” เรากลับเรียนด้วยการ “อ่าน เขียน พูด ฟัง” มาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอดีต
เมื่อหันมาดูเด็กรุ่นใหม่ๆ โดยเฉพาะเด็กที่มีโอกาสได้เรียนในโรงเรียนนานาชาติ ท่านจะเห็นความแตกต่างที่ชัดเจนครับ เด็กไทยหลายคนกลายเป็นคนสองภาษาโดยธรรมชาติ หรือแม้แต่ผู้ใหญ่หลายๆท่านที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่เมื่อได้ไปใช้ชีวิตในต่างแดนสักระยะ ก็สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดี นั่นก็เพราะเมื่อเรียนในโรงเรียนนานาชาติหรือเมื่อไปใช้ชีวิตในต่างแดน เขาเหล่านั้นได้พัฒนาทักษะภาษาอย่างเป็นธรรมชาติ คือเริ่มต้นจากการ “ฟังแล้วพูด” หรือเริ่มจาก “หู” นั่นเอง
เอาล่ะครับ ทีนี้โจทย์ใหญ่ก็อยู่ที่ว่า จะทำอย่างไรให้คนไทยทั้งชาติพัฒนาทักษะภาษาให้ดีขึ้นได้ เพราะก็คงไม่ใช่ทั้งหมดแน่ๆที่จะมีโอกาสได้เรียนในโรงเรียนนานาชาติ
อย่างที่เรียนไปครับ ว่าการเรียนภาษานั้นเริ่มต้นที่หู การพัฒนาก็คงหนีไม่พ้นต้องพัฒนาให้สอดคล้องกับกลไกทางธรรมชาติ โดยเริ่มต้นจากการพูดคุย ฝึกให้เด็กไทยมีโอกาสได้ฟังภาษาอังกฤษตั้งแต่เล็กๆให้ได้มากที่สุด ผ่านเครื่องมือต่างๆที่มีทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ซึ่งอาจต้องมีกลไกของรัฐบางประการที่จะช่วยให้คนไทยทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม จะเป็นเว็ปไซต์หรือของเล่นก็สุดแท้แต่ แต่ต้องยึดหลักการว่า ให้เด็กฝึกฟังและพูดก่อนเป็นอันดับแรก นอกจากนี้ในส่วนของหลักสูตรการเรียนการสอนก็เช่นกัน ก็ควรต้องพัฒนาให้ผู้เรียนได้ฝึกฟังและพูดอย่างต่อเนื่อง หลังจากนั้น การจะสอดแทรกเรื่องไวยกรณ์ก็จะเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นตามไปด้วย
จริงอยู่ที่ภาษาไทยของเราเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยที่สวยงามและแข็งแรง อย่างไรก็ดี การที่คนไทยสามารถพูดภาษาอังกฤษหรือภาษาอื่นได้ดีขึ้นก็จะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับคนไทยและประเทศไทยในภาพรวม นี่จึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญในการพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศที่ควรให้ความสำคัญ
ผู้เขียนก็หวังว่า วันหนึ่งเราอาจจะได้ใช้กลไกธรรมชาติดังที่เล่ามา เป็นไกด์ไลน์ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำไปออกแบบแนวทางและกลไกในการช่วยให้คนไทยมีทักษะทางภาษาเพิ่มเติมได้...ไม่มากก็น้อย
เอวัง