"แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์
มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด
ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด
ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน
มนุษย์นี้ที่รักอยู่สองสถาน
บิดามารดารักมักเป็นผล
ที่พึ่งหนึ่งพึ่งได้แต่กายตน
เกิดเป็นคนคิดเห็นจึงเจรจา
แม้ใครรักรักมั่งชังชังตอบ
ให้รอบคอบคิดอ่านนะหลานหนา
รู้สิ่งใดไม่สู้รู้วิชา
รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี"

กลอนบางช่วงบางตอน จากวรรณคดีเรื่อง “พระอภัยมณี” ผลงานของ “สุนทรภู่”กวีเอก 4 แผ่นดิน ที่ได้รับกย่องจากยูเนสโกให้เป็น บุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก เนื่องใน “วันสุนทรภู่” ที่ตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน ของทุกเพื่อรำลึกถึงผลงานอันทรงคุณค่าของท่าน

กระนั้น ในบทกลอนดังกล่าวนั้น ผู้เขียนเห็นว่าเป็นคติเตือนใจ ที่เป็น “อกาลิโก” ที่ใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย เพราะสอนให้ อย่าประมาท เชื่อใจหรือไว้วางใจใครง่ายๆ เพราะจิตใจของคนนั้น ยากจะหยั่งรู้ได้ หน้าตาอาจดูซื่อๆ แต่อาจมีนิสัยคดโกง

เช่น ตอนชีเปลือยผลัก“สุดสาคร”ตกหน้าผา แล้วแย่งเอาม้านิลมังกรกับไม้เท้ากายสิทธิ์ไป ในวรรณคดี ซึ่งพระเจ้าตาตามมาช่วยไว้ได้ทันและเป็นที่มาของคำกลอนข้างต้นที่พระเจ้าตาสอนสุดสาคร ในวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณี

หากแต่ในสงครามสามก๊กการเมืองไทย ในปัจจุบัน คำกลอนดังกล่าวก็สามารถนำมาใช้ได้กับสถานการณ์ต่างๆ ที่การเมืองไทยนั้นอย่าประมาท อาจถูกแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ไปได้ทุกเมื่อ ขณะที่หน้าฉากนั้นยังเหมือนร่วมหัวจมท้ายกัน แต่พร้อมที่จะแทงข้างหลัง

ในทางกลับกัน ฉากหน้าที่วิวาทะกันดุเดือด ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเจรจา หรือพูดคุยกันประสานประโยชน์ไม่ได้ ประชาชนอย่างๆเราจึงอย่าได้วางใจ